รักษาความกลัวด้วยโลกเหมือนจริง
Technology & Innovation

รักษาความกลัวด้วยโลกเหมือนจริง

  • 01 Jun 2019
  • 20647

การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือ Exposure Therapy เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลและหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยี VR ในการรักษาอาการผิดปกติทางจิต เช่น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ความหวาดกลัวที่เกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์ในอดีตAcrophobia การกลัวความสูง และ Claustrophobia การกลัวที่แคบ โดยสอดรับกับการรักษาแบบ Exposure Therapy ในการจำลองสภาพแวดล้อมด้วยคอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้เข้ารับการบำบัด มีตัวอย่างสตาร์ทอัพและโครงการวิจัยมากมายที่น่าสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเทคโนโลยี VR เพื่อการรักษาทางการแพทย์

Limbix
สตาร์ทอัพจากประเทศอเมริกาก่อตั้งโดยทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังจากโปรเจ็กต์ VR ของบริษัท Google และ Facebook ที่กลับมาพัฒนาเทคโนโลยี VR ของตนเอง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวล ความเจ็บปวดทางใจ ภาวะซึมเศร้า และการเสพติดบางสิ่งมากเกินไป ผ่านภาพจำลอง 360 องศาของภาพถ่ายในสถานที่จริง Limbix ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถาบันชั้นนำที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางจิต เพื่อร่วมวิจัยข้อมูลและพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Oxford VR
บริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งจากการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด นำทีมพัฒนาโดยศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เริ่มต้นจากการรักษาโรคกลัวความสูง ด้วยการสร้างแบบจำลองจากซอฟต์แวร์ Unity3D ที่ใช้สำหรับพัฒนาเกม ซึ่งจะพาคนไข้ไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับความสูงและบีบบังคับให้พวกเขาพิสูจน์ความกล้าของตัวเอง นอกจากนี้ Oxford VR ยังเริ่มทำการวิจัยเพื่อการบำบัดโรคกลัวการเข้าสังคมและโรควิกลจริต ซึ่งจะขยายไปสู่ด้านต่างๆ ในอนาคต

Bravemind 
โครงการการวิจัยจาก University of Southern California ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อบำบัดโรค PTSD สำหรับเหล่าทหารผ่านศึกที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสงคราม โดยซอฟต์แวร์จะจำลองภาพเหตุการณ์สามมิติของสงครามที่พวกเขาเคยผ่านมา อีกทั้งยังจำลองการสั่นสะเทือนและกลิ่นในการพาคนไข้เข้าใกล้ความทรงจำที่โหดร้าย เพื่อกลับไปเผชิญหน้ากับความกลัว โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและบันทึกอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ Bravemind เป็นโครงการที่เปิดรับให้เข้าใช้งานได้ฟรีในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วอเมริกา 

แม้ VR จะยังไม่ใช่คำตอบแรกของการบำบัดสุขภาพจิตในปัจจุบัน แต่ตัวอย่างสตาร์ทอัพและงานวิจัยที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นช่องทางต่อยอดและลงทุนสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์เรียนรู้และฝึกฝน เพื่อให้เทคโนโลยี VR เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรักษาสุขภาพจิตในอนาคต

ที่มาภาพ : Unsplash/Lux Interaction

ที่มา :
บทความ “Bravemind” จาก medvr.ict.usc.edu
บทความ “How Virtual Reality Can Help the Global Mental Health Crisis” โดย Sol Rogers จาก forbes.com
บทความ “How Virtual Reality Exposure Therapy (VRET) Treats PTSD” โดย Matthew Tull, PhD จาก verywellmind.com
limbix.com
oxfordvr.org

เรื่อง : นพกร คนไว