Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย
Technology & Innovation

Nomophobia โรคไม่มีโทรศัพท์แล้วกระสับกระส่าย

  • 11 Jun 2019
  • 21604

ตื่นเช้ามาหยิบโทรศัพท์ก่อน ก่อนนอนเช็กเฟซบุ๊กอีก 2 ชั่วโมง ระหว่างกินอาหารก็เช็กอีเมล เข้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมไปด้วย เห็นเหตุการณ์อะไรระหว่างวันก็คิดแต่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พอได้ยินเสียงหรือเห็นการแจ้งเตือนที่หน้าจอก็กระวนกระวาย อยากรู้ว่า “เรื่องอะไร” พอแบตเตอรีโทรศัพท์ต่ำ หมดเกลี้ยง หรือไปที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จะรู้สึกแปลกๆ และกังวล

บริษัททำวิจัย dscout ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าคนทั่วไปหยิบจับโทรศัพท์โดยเฉลี่ย 2,617 ครั้งต่อวัน ขณะที่ Apple เปิดเผยว่า ผู้ใช้ไอโฟนอันล็อก (unlock) หน้าจอเพื่อใช้โทรศัพท์ราว 80 ครั้งตลอดวัน เกือบ 1 ใน 10 ของชาวอเมริกันยอมรับว่าใช้โทรศัพท์ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ตัวเลขยิ่งมากขึ้นไปอีกในกลุ่มอายุ 18-34 ปี (1 ใน 5 คนยอมรับว่าเช็กโทรศัพท์ขณะมีเพศสัมพันธ์) ผู้ใช้โทรศัพท์เกินกว่าครึ่ง ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลยตลอด 24 ชั่วโมง และคนกว่า 80% วางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่เอื้อมหยิบถึงเวลานอน

©Unsplash/Logan Nolin

ไม่ว่าสถิติเหล่านี้จะจริงแค่ไหน แต่เชื่อว่า หลายๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ มีอาการ “เสพติดโทรศัพท์” หรือ Nomophobia (มาจากคำว่า No Mobile Phone Phobia) และรู้สึกอยู่เหมือนกันว่า ถ้าไม่ติดขนาดนี้ก็คงดี แต่แก้ไม่ได้ เลิกไม่ได้ 

เอาล่ะ ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะรู้ว่า “สิ่งนี้ไม่ดี แต่ก็ยังทำ” แต่ลองอ่านแล้วนึกถึงตัวเอง เพื่อเตือนใจกันอีกสักครั้งว่า เจ้าอาการ Nomophobia หรือกลัวจะไม่มีโทรศัพท์ใช้นี้ส่งผลเสียอย่างไร 
 

  • เสียเวลามหาศาล – การทำหลายอย่างในเวลาเดียว (Multitask) นั้น ไม่มีประสิทธิภาพเท่าการมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรอก
     
  • ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเสียไป - แทนที่จะคุยกับคนรักหรือพ่อแม่ที่อยู่ตรงหน้า เรากลับนั่งจิ้มโทรศัพท์ 
     
  • ใช้มือถือขณะขับรถอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น - ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นตามข่าวบ่อยๆ แต่เรามักคิดว่า “ตอบไลน์ตอนรถติดนิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก”
     
  • เรากังวลมากขึ้น - เรากลัวว่าถ้าไม่ “เกาะติด” สถานการณ์ในโลกออนไลน์ จะพลาดอะไรไป 
     
  • การนอนหลับไม่ดี – ก่อนนอนเราต้องเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีโพสต์อะไรสนุกๆ ที่เราพลาดไป ไม่มีข่าวบันเทิงที่ยังไม่ผ่านตา ถ้ามีไลน์หรืออีเมลงานเด้งขึ้นมาตอนห้าทุ่ม เราก็จะนอนคิดไปอีกสักพัก ที่แย่ที่สุดคือ แสงจากหน้าจอทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะเตรียมตัวพักผ่อน เราจึงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่เกือบตลอดเวลา

เราอาจคิดว่า “โอเค ฉันติดโทรศัพท์ แล้วไงล่ะ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ จะเลิกเมื่อไรก็เลิกได้” แต่เอาเข้าจริง เราเลิกไม่ได้หรอก จำได้ไหมว่า เราพูดกับตัวเองแบบนี้มาเป็นปีๆ แล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง 

©Unsplash/Alexandre Boucher

บทความนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ติดโทรศัพท์แต่ต้องการเลิกหรือบรรเทา ด้วยวิธีง่ายๆ ที่หากบังคับใจให้ทำได้แล้วชีวิตจะดีขึ้น ดังนี้
 

  1. ปิดโทรศัพท์ก่อนนอนอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง - ปิดไปเลย ไม่ใช่แค่เปิดเป็นระบบสั่นหรือไม่มีเสียง แล้ววางไว้ห้องอื่น สำหรับคนที่ปิดไม่ได้เพราะมีเหตุจำเป็น เช่น เผื่อลูกหรือพ่อแม่โทรมา ก็ให้ใช้โหมด Do Not Disturb ให้เป็นประโยชน์ คือให้มีการแจ้งเตือนหรือเสียงเรียกเข้าจากเบอร์เฉพาะเพียงไม่กี่เบอร์เท่านั้น และวางโทรศัพท์ไว้อีกฟากของห้อง
     
  2. ใช้นาฬิกาปลุกจริงๆ - หานาฬิกาปลุกเสียงดังฟังชัด และเลือกแบบที่ไม่มีปุ่ม snooze เป็นการแก้นิสัย “ขอนอนต่ออีก 5 นาที” ไปในตัว อย่าบอกว่ากลัวมันไม่ปลุก ถ้ากลัวขนาดนั้น ยอมซื้อนาฬิกาปลุก 2 เรือน แลกกับแก้นิสัยติดโทรศัพท์ของตัวเองได้ ยังดีกว่า
     
  3. ตื่นแล้วอย่าเพิ่งเดินไปหยิบโทรศัพท์ – เห็นไหมว่าถ้าวางโทรศัพท์ไว้อีกห้องจะช่วยได้ ตื่นแล้วให้ยืดเส้นยืดสายเบาๆ นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ นึกถึงสิ่งที่เราจะทำในวันนี้อย่างมีสติ นึกถึงเรื่องดีๆ อาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้า ทำสิ่งที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อนค่อยกดปุ่มเปิดโทรศัพท์ก็ยังไม่สาย และไม่ทำให้คุณ “พลาด” อะไรไปหรอก เชื่อสิ 
     
  4. กำหนดเวลาสำหรับ “เช็กโทรศัพท์” – ไม่จำเป็นต้องอ่านอีเมล ไลน์ หรือข้อความทางเฟซบุ๊กทันทีที่มีคนส่งมา วิธีที่ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าคือ กำหนดเวลา เช่น ก่อนทำงาน เช็กโซเชียลมีเดียและอีเมลได้ 5 นาที เอาโทรศัพท์ไปเก็บที่อื่น ลงมือทำงาน และทุกๆ ชั่วโมงก็เช็กได้อีก 5 นาที ใครอดทนได้ ก็ลองบอกตัวเองว่า เข้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมได้ครั้งเดียวต่อวัน ครั้งละไม่เกิน 10 นาที ดีกว่าหยิบโทรศัพท์มาไถชั่วโมงละหลายๆ ครั้ง แล้วสุดท้ายต้องเสียเวลารวมกันหลายชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
     
  5. ตั้ง “เขตปลอดโทรศัพท์” – สถานที่ที่ไม่ควรมีโทรศัพท์อยู่คือโต๊ะกินข้าว เตียงนอน หรือบริเวณไหนในบ้านก็ได้ที่คุณใช้เวลาคุณภาพร่วมกับคนรัก พ่อแม่ หรือลูกๆ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ด้วย
     
  6. กำหนดวัน No-Technology Day ตามที่คิดว่าทำได้ - อาจเป็นสัปดาห์ละวัน หรือเดือนละ 2 วัน ที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์และแท็บเล็ตเลยตลอดวัน เมื่อไม่มีโทรศัพท์ให้ไถ เราก็ต้องหาอะไรมาทำ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกับลูก ทำอาหาร เชื่อสิว่าสภาพจิตใจเราจะสงบขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
     
  7. อย่าลืม “ความเป็นมนุษย์” – แทนที่จะคุยกับเพื่อนและครอบครัวผ่านการส่งข้อความ แทนที่จะกดไลก์สเตตัสของแฟน แทนที่จะส่ง “สวัสดีวันจันทร์” ไปให้เพื่อน 60 คนในไลน์พร้อมกัน ลองนึกถึงคนที่คุณอยากใช้เวลาร่วมกับเขาจริงๆ แล้วเดินทางไปหา นัดดื่มกาแฟหรือกินอาหารกันสักมื้อ พูดคุยกัน หากอยู่ไกลมากก็ส่งบัตรอวยพรหรือไปรษณียบัตรไปให้ทางไปรษณีย์ บางทีความช้าก็ให้ความรู้สึกดีๆ ได้เหมือนกัน 

©Unsplash/Christian Wiediger

หากใครทำแล้วยังไม่ต่อเนื่องสักที อย่าเพิ่งท้อใจ เราเริ่มใหม่ได้เสมอ ขอแค่พยายามและตั้งใจจริงที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น จากการ “ลด ละ เลิก” ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ที่แย่งความสนใจและพลังงานสมองเราไปมากเหลือเกินในหนึ่งวัน

ที่มาภาพเปิด : Unsplash/Hannah Grace

ที่มา
บทความ Weekly roundup: 5 ways to fight “Nomophobia”—the fear of not having your phone โดย Jory MacKay จาก https://blog.rescuetime.com/nomophobia/ 
บทความ Nomophobia — 5 Steps to Ending Your Smartphone Addiction โดย Kissairis Munoz จาก https://draxe.com/nomophobia/ 
บทความ Nomophobia: The Modern-Day Pathology โดย Nicola Davies, PhD จาก https://www.psychiatryadvisor.com/home/topics/anxiety/nomophobia-the-modern-day-pathology/ 

เรื่อง : กรณิศ รัตนมหัทธนะ