เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม...ไม่เก่ง ไม่เกี่ยว ขอแค่มีฝันและทำจริง  แอนิเมเตอร์ไทยที่คว้าออสการ์และลูกโลกทองคำ
Technology & Innovation

เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม...ไม่เก่ง ไม่เกี่ยว ขอแค่มีฝันและทำจริง แอนิเมเตอร์ไทยที่คว้าออสการ์และลูกโลกทองคำ

  • 17 Jun 2019
  • 82597

คำว่า “มาไกล” อาจจะยังน้อยเกินไปสำหรับ เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม แอนิเมเตอร์หนุ่มชาวไทย ผู้คว้ารางวัลออสการ์และ รางวัลลูกโลกทองคํามาจากภาพยนตร์แอนิเมชันฟอร์มยักษ์ Spider-Man Into the Spider-Verse ที่เขาได้เข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในทีมสร้างแอนิเมชั่นชื่อดังแห่งปีเรื่องนี้

จะมีซักกี่คนบนโลกที่จะได้เป็นเจ้าของรางวัลที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้ แต่อาจจะมีจำนวนคนน้อยยิ่งกว่า ที่จะก้าวเดินมาได้ไกลเช่นเดียวกับเขา จากเด็กหลังห้องที่เรียนไม่เก่ง แต่หลงใหลการวาดรูป คนที่ไม่เอาไหนเรื่องภาษา จนคุยกับฝรั่งที่ไหนไม่เข้าใจ เซ้งทำอย่างไรจนก้าวไปสู่การเป็นแอนิเมเตอร์ฝีมือดีที่ชาวต่างชาติไม่ยอมให้อุปสรรคด้านภาษามาทำให้เขาพลาดไปจากโอกาสในการเข้าร่วมทีม และเขาทำอย่างไรในการเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองแบบไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดของตัวเอง จนเป็นเจ้าของความสำเร็จในวันนี้ 

©imdb.com
Spiderman: Into the Spider-Verse (2018)

ก้าวแรกของเซ้งกับการเป็นแอนิเมเตอร์
เริ่มจากว่าสมัยเรียน เซ้งเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ได้เกรดต่ำกว่า 2.5 ตลอด ทำให้เราสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐแบบคนอื่นไม่ได้ เลยตัดสินใจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ตอนนั้นสมัครเรียนสาขาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดียที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก้าวแรกที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคือตอนเรียนปี 3 ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักศึกษาฟินแลนด์ที่มหาวิทยาลัย แล้วภาษาอังกฤษเราก็ไม่เก่ง สื่อสารได้แค่คำทักทายง่ายๆ แต่จากจุดนั้น มันทำให้เราได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศฟินแลนด์จริงๆ 5 เดือน และอาจารย์ที่นั่นเขาชอบทักษะด้านแอนิเมชันของเรามาก เลยทำให้ทัศนคติมุมมองของเซ้งเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากที่เป็นคนขี้อายขี้กลัวมาก ทำอะไรก็ชอบเกาะกลุ่มกับเพื่อน แต่เพื่อนที่ไปด้วยกันครั้งนั้น 3 คนเป็นผู้หญิงหมดเลย เราก็เลยต้อง Survive คนเดียว มันทำให้เรากลายเป็นคนที่ทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้นและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น 

แล้วพัฒนาความมั่นใจในทักษะด้านแอนิเมเตอร์ของเราต่อจากนั้นยังไงบ้าง
ตอนเรียนเราได้เรียนหมดทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าเราสนใจสายงานแอนิเมเตอร์มากที่สุด หลังจากเรียนจึงตั้งใจต่อทำงานด้านนี้ และก็ได้รับโอกาสเข้าไปฝึกงานที่บริษัทแอนิเมชันที่ดังที่สุดในช่วง 4-6 ปีที่แล้ว นั่นคือ The Monk Studio แต่ปรากฎว่าพอได้ไปฝึก ทางบริษัทเขาก็รับเราเข้าทำงานเลย ซึ่งพอได้เข้าไปก็ได้เจอแต่แอนิเมเตอร์เก่งๆ ทำให้เราได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ เหล่านั้น ผ่านโปรเจ็กต์ที่ได้ทำ ซึ่งมีทั้ง Animated TV Series เช่น Paddle Pop, Talking Tom และ Animated Feature Film เรื่อง Strange Magic (2015)

จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากผันตัวเองก้าวสู่การทำงานระดับสากล
ตอนที่ทำภาพยนตร์เรื่อง Strange Magic ทำให้เรามีโอกาสทำงานได้ร่วมงานกับ Lucasfilm ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Walt Disney Studios ทำให้ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ที่สิงคโปร์ พอเวลาเปิดงานดูแล้วช็อตในเรื่องมันต่อกัน เราเห็นได้ชัดเลยว่า พอเล่นมาถึงช่วงที่เราเป็นคนทำแอนิเมชัน งานของเรามันดร็อปลงอย่างชัดเจนแตกต่างจากงานของคนอื่น นั่นเป็นสิ่งที่จุดไฟทำให้เราอยากจะตั้งใจทำงานมาก ๆ เพราะเราต้องเก่งกว่านี้ ถ้าเราอยากจะก้าวออกไปทำงานข้างนอก เราก็เลยมานั่งจัดสรรเวลาของตัวเองใหม่ เอาเวลาว่างมานั่งฝึกแอนิเมตเพิ่มเติมเองอยู่ประมาณ 2 ปี 

มีการเตรียมพร้อมสู่การทำงานในระดับสากลอย่างไร
ช่วงทำงานที่ The Monk Studio ผมมีความสุขมาก แต่เราก็ยังไม่เคยลืมความฝันที่อยากจะออกไปทำงานต่างประเทศ จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัท และไปลงเรียนแอนิเมชันที่เป็นคอร์สออนไลน์เพิ่ม ถึงภาษาของเราจะยังไม่เก่ง แต่ตอนนั้นไม่มีความกลัวเลย เพราะคิดแต่ว่าโรงเรียนออนไลน์พวกนี้คือจุดที่จะทำให้เรามีความรู้ ว่าการทำงานในระดับสากลนั้นเขาทำกันอย่างไร เพราะครูสอนก็คือคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทดังๆ อย่าง Disney หรือ Pixar และเป็นความรู้ที่มหาวิทยาลัยหรือบริษัทในไทยยังไม่มีสอน และเราแก้ปัญหาอ่อนภาษาอังกฤษของตัวเองด้วยการอัดคลิปแล้วเอาไปให้เพื่อนช่วยแปลให้ฟัง ซึ่งจริงๆ อยากแนะนำให้คนที่ตั้งใจอยากเรียนคอร์สออนไลน์พวกนี้ว่า ควรไปฝึกภาษาอังกฤษให้เก่งๆ ก่อนสมัครเรียน จะได้รับความรู้ได้อย่างเต็มที่

ก้าวแรกสู่โลกกว้าง หลังจากเรียนจบทุกคอร์สแล้ว เราเริ่มเดินตามฝันต่ออย่างไร
ช่วงที่ลาออกมาจาก The Monk Studio ก็ยังวนเวียนกลับเข้าไปเยี่ยมเพื่อนที่ออฟฟิศอยู่ ได้เข้าไปพูดคุย ไปกินข้าวกับเพื่อนพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติเพื่อฝึกภาษาอังกฤษให้คุ้นหู หลังจากนั้นพอเรียนคอร์สออนไลน์ที่ Animsquad จบ เซ้งก็ทำเริ่มทำโชว์รีลส่งไปให้หลายบริษัทมาก แต่บริษัทแรกที่ตอบรับกลับมาคือบริษัท Original Force Animation ของประเทศจีน จึงได้มีโอกาสไปทำงานที่นั่นเป็นที่แรก  

การปรับตัวในการทำงานต่างถิ่น
ตอนแรกๆ ที่ไปก็มีหลายอย่างที่รับไม่ได้เหมือนกัน อย่างเรื่องที่ยังติดอยู่ในหัวจนถึงทุกวันนี้ คือตอนก้าวเข้าไปในบริษัทครั้งแรก จะได้ยินเสียงขากถุยบ่อยมาก เวลาทำงานเพื่อนข้างๆ โต๊ะเราขากถุยใส่ถังขยะข้างๆ เราเลย ตอนแรกก็ไม่ชอบ ก็พยายามย้ายที่นั่งไปเรื่อยๆ แต่ก็หนีไม่พ้น เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของเขา เรียกว่าเจอมันบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนที่เราไปเที่ยวที่ฮ่องกงแล้วมันไม่มีเสียงแบบนี้ มันก็ทำให้เรารู้สึกแปลกๆ เหมือนอะไรขาดหายไป พอได้กลับมาทำงานที่จีนก็เริ่มรู้สึกว่านี่คือสิ่งเราคุ้นเคยกับมันแล้ว เริ่มรับได้ ถ้าตัดเรื่องยิบย่อยพวกนี้ไป ประเทศจีนเป็นที่ที่ดีมากๆ มีกล้องทุกๆหัวมุมถนน ปลอดภัยกว่าที่ไทยมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติก็สวยงาม 

©wikipedia-org
Duck Duck Goose (2018)

จุดเปลี่ยนครั้งที่สอง การก้าวสู่ Sony Pictures Imageworks
ที่จีน เซ้งได้ทำงาน 2 เรื่องเป็น Animated Feature Film เรื่อง Duck Duck Goose (2018) เป็นโปรเจ็กต์ที่ได้ทำงานร่วมกับ เดนิส คูชง (Denis Couchon) ซึ่งเป็น Animation Director ให้กับบริษัท DreamWorks Animation หลังจบโปรเจ็กต์นี้ เขาก็ชวนให้ไปเราสมัครที่ Sony Pictures Imageworks แต่ตอนนั้นเรายังคิดว่าเราไม่พร้อม เพราะภาษาอังกฤษเราก็ยังไม่เก่ง เวลาเจอคนพูดไวๆ เราจะฟังไม่ทัน แต่เดนิสบอกว่านั่นไม่ใช่ปัญหาของเราเลย แต่เป็นปัญหาของผู้ฟัง เขาทำงานกับเรามา 2 ปีมันไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเขาเลย เพราะเขาเห็นผลงานของเราแล้วถึงพูดแบบนั้นได้ จึงทำให้เราตัดสินใจยื่นใบสมัครไปที่ Sony Pictures Imageworks และก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่จนถึงทุกวันนี้

ชีวิตจริงในการทำงานกับบริษัทต่างชาติระดับโลกเป็นอย่างไร
โปรเจ็กต์แรกที่เราได้ทำคือภาพยนต์เรื่อง Hotel Transylvania 3 (2018), Spiderman: Into the Spider-Verse (2018) และโปรเจ็กต์ล่าสุดคือ Angry Birds 3 Movie ที่ยังไม่ออกฉาย จุดเปลี่ยนของชีวิตการทำงานที่นี่ คือการทำงานที่หนักมากทุกคนจะต่อสู้กันมากๆ เพื่อให้ได้โปรเจ็กต์ที่ดี เราจึงต้องโหมงานหนักเพราะอยากทำให้มันออกมาดีที่สุด เพื่อให้รับช็อตดีๆมาทำและได้ต่อสัญญาสำหรับโปรเจ็กต์ถัดไป เวลาที่เราทุ่มเทลงไปทั้งหมดมันทำให้เราหมดพลัง นอนตี 2 ตื่น 6 โมง เพราะเราเชื่อว่าการทำงานหนักจะเป็นการย่นระยะทางไปสู่ความสำเร็จให้มาเร็วขึ้น แต่สุดท้าย เราโหมมากเกินไปจนทำให้ร่างกายมีปัญหา ตอนนั้นอยู่ดีๆ ก็ปวดหัวมากจนต้องไปหาหมอเพราะเป็นไมเกรน แล้วก็โดนหมอฉีดยา เลยทำให้คิดได้ในตอนนั้นว่า เราต้องรักษาชีวิตไว้ด้วย หลังจากวันนั้นจึงตัดสินใจวางแผนการใช้เวลาในแต่ละวันใหม่ เอาเงินที่มีทั้งหมดไปสมัครฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายและจ้าง Personal Trainer เราจัดเวลาในชีวิตใหม่ ไปออกกำลังกายในช่วงเช้า ตื่นตี 5 ออกกำลังกายตั้งแต่ 6 โมงจนถึง 7 โมง หลังจากนั้นก็เข้างาน แล้วเลิกงานอีกตอน 4-5 โมงเย็น กลับบ้านมาทำอะไรกินเอง เข้านอนตอน 4 ทุ่ม เมื่อเปลี่ยนไปใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็ทำให้สุขภาพของเราเริ่มกลับมาดีขึ้นตามปกติ ด้วยความโชคดีด้วยที่บริษัทในต่างประเทศไม่ได้กำหนดเวลาทำงานแบบที่ไทย คุณจะจัดสรรเวลาทำงานอย่างไรก็ได้ แต่คุณต้องทำงานให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด 

©SONY PICTURES ANIMATION
Hotel Transylvania 3 (2018)

ข้อแตกต่างระหว่างการทำงานที่ไทยและต่างประเทศ
การทำงานในไทยเหมือนเป็นการทำตามคำสั่ง ในขณะที่ต่างประเทศ เราได้ใช้ความคิดเยอะกว่ามากๆ เราต้องนำเสนอทางเลือกในการแสดงของตัวละครแต่ละตัวให้กับผู้กำกับ เซ้งใช้เวลากับการวางแผนแต่ละช็อตนานมาก ทำอย่างไรก็ได้ให้เราขายไอเดียช็อตของเราให้ผู้กำกับให้ผ่านก่อน มันจึงเป็นเรื่องปกติที่จะใช้เวลาหลายวันในการวางแผน ก่อนที่จะลงมือจับโปรแกรม ในขณะที่ไทยส่วนใหญ่หลังจากได้รับบรีิฟ เราจะเปิดคอม เปิดโปรแกรม แล้วแอนิเมตตัวละครทันทีเลย ระบบการทำงานของแต่ละประเทศมันต่างกัน การทำงานในระดับสากลเขาให้ความสำคัญกับไอเดียต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละช็อตมากกว่า ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่แอนิเมเตอร์ต้องทำการบ้านเพื่อมานำเสนอให้กับผู้กำกับ ทางเลือกที่ใช้ในการนำเสนอก็ทำได้หลายอย่าง เช่น วาดรูปสเก็ตช์ หรืออัดคลิปการแสดงของตัวเองมาเป็น reference ก็ได้ ส่วนใหญ่ถ้าเราขายไอเดียของเราจนผู้กำกับให้ผ่านแล้ว ซีนของเราจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเราแอนิเมตทำในโปรแกรมมาก่อนเลย มักจะโดนแก้เยอะ

สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมที่สุดในการทำงานระดับสากล
การแก้งานเป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือการพัฒนางานให้ดีขึ้น และอีกสิ่งที่คุณจะได้เจอแน่ๆ คือช็อตของคุณที่ตั้งใจทำมามันจะมีโอกาสถูกตัดออกจากเรื่องแน่นอน อันนี้ต้องทำใจ สำหรับเซ้งเคยเจอมาแล้ว มันก็เสียใจนะ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะหน้าที่ของผู้กำกับ คือการเลือกภาพที่เหมาะสมกับการเล่าเรื่อง มันต้องดูลำดับภาพ อารมณ์ หรือกราฟของเรื่องประกอบไปด้วย ทำอย่างไรให้ลำดับการเล่าเรื่องโดยรวมทั้งหมดมันออกมาดีที่สุด ถ้าช็อตของเราจะโดนตัดออก เราก็ต้องทำใจ เพราะเป้าหมายหลักที่ร่วมกันของทีมงานทุกคน คือการเล่าเรื่องให้ออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด เราจะมายึดติดแต่กับช็อตของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้

4 โรงเรียนออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในวงการซึ่งเซ้งแนะนำให้เหล่าแอนิเมเตอร์เข้าไปเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเอง 
  1. Animsquad (animsquad.com) ครูผู้สอนส่วนใหญ่มาจาก Disney และ Pixar ราคาคอร์ส 1,500 เหรียญสหรัฐฯ ใช้เวลาเรียน 12 สัปดาห์
     
  2. Animschool (animschool.com) เหมาะสำหรับแอนิเมเตอร์แนวการ์ตูนทั่วไป
     
  3. Animation Mentor (animationmentor.com) เป็นโรงเรียนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด ครูผู้สอนมาจากทั้ง Disney, Pixar, Sony และ DreamWorks  ราคาคอร์ส 2,500 เหรียญสหรัฐฯ ใช้เวลาเรียน 12 สัปดาห์
     
  4. iAniamted.net (ianimate.net) เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจแนวแอนิเมตแบบ Semi-Realistic หรือใกล้เคียงความจริง
 

เรื่อง : รติพร ยงทัศนะกุล I ภาพ : TCDC COMMONS IDEO Q จุฬา-สามย่าน