นวัตกรรมเซรามิกที่ออกแบบได้
Technology & Innovation

นวัตกรรมเซรามิกที่ออกแบบได้

  • 10 Jul 2019
  • 47932

จากเซรามิกดั้งเดิมที่คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงเครื่องปั้นดินเผานั้น แท้จริงแล้วเซรามิกเป็นวัสดุที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้งานให้หลากหลาย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้จัดการบรรยายเพื่อร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเซรามิกรอบตัวเรา โดยนำเสนอผ่านการใช้วัสดุ High Performance Ceramic ในงานออกแบบต่างๆ 

ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมบรรยายจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น ดร. กุลเชฏฐ์ เมืองนาโพธิ์ที่ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเซรามิกมาผสมผสานในงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบโดยใช้โปรแกรม และคุณปัตมาภรณ์ ธิมากุล นักวิจัยที่พัฒนาเซรามิกสมัยใหม่ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดอุณหภูมิ และนำสิ่งของเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว จนได้เซรามิกจีโอพอลิเมอร์ ทั้งสองท่านเป็น 2 นักวิจัยรุ่นใหม่จากหน่วยวิจัยเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) นอกจากนี้ยังมีคุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ นักออกแบบเซรามิกและผู้บริหารธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา “เถ้าฮงไถ่” คุณศีลดา เลิศรัตน์ นักออกแบบผู้มีประสบการณ์ทางด้านการออกแบบและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์และอ่างล้างหน้าจากวัสดุเซรามิก บริษัท COTTO (Siam Sanitary Ware Company) ในเครือ SCG 
 


ทำความรู้จักกับเซรามิกประเภทต่างๆ 

การเสวนาในครั้งนี้นำพาเราไปรู้จักกับเซรามิกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ดร.กุลเชฏฐ์ นักวิจัยจากหน่วยวิจัยเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เมื่อ 12 ปีก่อนเวลาพูดถึงคำว่าเซรามิก จะเข้าใจว่าเป็นการปั้นหม้อหรือเครื่องปั้นดินเผา แต่แท้จริงแล้ววัสดุเซรามิกยังมีความพิเศษมากกว่านั้นด้วยคุณสมบัติพิเศษมากขึ้น 

โดยทั่วไปเซรามิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Traditional ceramic ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีส่วนประกอบดินขาว ทรายซิลิก้า และ Advance ceramic หรือเซรามิกขั้นสูงที่กระบวนการผลิตทำให้มีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าเครื่องปั้นดินเผาทั่วไป 

คุณสมบัติสำคัญของวัสดุเซรามิกคือ มีจุดหลอมเหลวสูง (High melting point) มีความแข็ง (High hardness) สามารถรองรับน้ำหนักได้ และไม่เป็นตัวนำความร้อน (Low thermal conductivity) และมีข้อด้อยดังนี้ มีความเฉื่อยทางเคมี (Chemical inertness) และมีความเปราะสูงมาก (Brittle) จึงส่งผลให้แตกง่าย

คุณปัตมาภรณ์ นักวิจัยอีกท่านจากหน่วยวิจัยเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวเพิ่มเติมว่า เซรามิกนั้นคือ Keramos วัสดุที่ไม่ใช่โลหะและเป็นอนินทรีย์ที่ต้องใช้การเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 800 - 1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป 

“เซรามิกในวันนี้ไม่เหมือนเซรามิกเก่าที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นความหลากหลาย ความเป็นไปได้ใหม่ที่เกิดเป็นรูปธรรม” คุณวศินบุรี นักออกแบบเซรามิกและผู้บริหารธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา “เถ้าฮงไถ่” กล่าว  

นอกเหนือจากเซรามิกดั้งเดิมแล้ว ในปัจจุบันยังมีเซรามิกขั้นสูง (Advanced ceramic) ที่มาพร้อมกับคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ขยายศักยภาพการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้น เช่น มี สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) สามารถเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า (Thermoelectric) มีสารเคลือบ (Cool pigment) จึงเปลี่ยนความร้อนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ สามารถเคลือบกันน้ำ (Hydrophobic coating) กันฝุ่นและสารเชื้อราได้อย่างง่ายดายด้วยการพ่นสเปรย์บนพื้นผิววัสดุอื่นๆ ได้ และยังเคลือบสารดูดความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar absorber) ได้อีกด้วย

คุณปัตมาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์เซรามิกขั้นสูงเหล่านี้สามารถนำมาเป็นวัสดุของผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เครื่องตัดของแข็ง ภาชนะบรรจุการเผาอัญมณีเพชรหรือพลอยที่ทนความร้อนได้สูง เสื้อเกราะที่ทำจากแก้วเซรามิกที่ทนความร้อนได้สูง เตาไฟฟ้าที่ทนความร้อน เซรามิกในท่อของรถยนต์ที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ไปจนถึงเซรามิกที่ผลิตไฟฟ้าได้ 

ตัวอย่างที่น่าสนใจจากการใช้งานเซรามิกขั้นสูงในรูปแบบใหม่ในชีวิตประจำวันคือ มีดเซรามิก Zirconia ที่มีความคมมากกว่ามีดโลหะ 10 เท่า ไม่เปลี่ยนสีของอาหาร มีน้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม และไม่ต้องลับใบมีดตลอดการใช้งาน

แผนภูมิเปรียบเทียบความแข็งของมีดเซรามิกกับวัสดุต่างๆ
Photo : https://www.sliceproducts.com
 
เซรามิกกับการออกแบบ

คุณวศินบุรีกล่าวว่า สำหรับเขาคำว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการขยายกรอบแนวคิดออกไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคย (Comfort zone) เพิ่มเติมความเป็นไปได้ให้กว้างมากขึ้นในอนาคต โดยอาจจะผสมกับองค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการแต่ละคนต้องตอบให้ได้ว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไรและกลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) เกิดขึ้นเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่แม่นยำและเหมือนเดิมทุกครั้ง ตรงนี้ทำให้เขาตั้งคำถามว่าความไม่สมบูรณ์อาจกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่าในอนาคต

“เซรามิกสำหรับผมไม่ใช่แค่ธาตุดินน้ำลมไฟ แต่เป็นเรื่องขององค์ประกอบที่ 5 ซึ่งผมเรียกว่า ความบังเอิญหรือชะตากรรม การสร้างผลงานบางประเภท เราต้องการความแน่นอนของผลลัพธ์ แต่หลายครั้งที่เราทำงานแล้วมีความแน่นอนมาห่อหุ้ม ทำให้เราอยากสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เหนือการควบคุม” 

การทำงานของคุณวศินบุรีดำเนินไปด้วยความพยายามอันมุ่งมั่นในการคงลักษณะชิ้นงานแบบเดิมให้ยาวนานที่สุด โดยการนำการออกแบบเข้ามาผสมผสาน เน้นเรื่องการทดลอง นำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์เข้ากับงานออกแบบเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการของระบบอุตสาหกรรม นำการไม่ได้ถูกควบคุมโดยมนุษย์มาต่อยอดเป็นเอกลักษณ์ในผลงาน และความไม่สมบูรณ์ของนวัตกรรม

 
การสร้างแบรนด์ด้วยเซรามิกและเทคโนโลยี

คุณศีลดา นักออกแบบจากบริษัท COTTO (Siam Sanitary Ware Company) ในเครือ SCG  กล่าวว่า “ระดับของความยากหรือง่ายในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานออกแบบ ขึ้นอยู่กับกระบวนการ วัสดุ การตอบโจทย์เรื่องความสวยงาม หรือการใช้งาน การตีความโจทย์เหล่านี้จะเป็นแนวทางที่ทำให้ทั้งผู้ผลิตและนักออกแบบสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้”

สำหรับ COTTO การออกแบบและวัสดุเซรามิกสามารถสร้างคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ได้ โดยสามารถส่งเสริมกันและกัน พัฒนาให้ออกมาเป็นเหมือนรูปแบบผลงานศิลปะ สร้างเสริมคุณค่าให้ทั้งลูกค้าและนักออกแบบ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ใช้ให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ของความงามและยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต

“Brand = Design + Quality การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก (Customer-based) เพื่อให้แบรนด์ของเราสามารถคงอยู่ในตลาด มีคุณค่าตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ” คุณศีลดากล่าว 

การเเลกเปลี่ยนความคิดจากทุกฝ่าย ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยี กระบวนการผลิต และวัสดุ + นักออกแบบ + ผู้ประกอบการ + ผู้ใช้งาน + นักวิจัย + ผู้ผลิต ทุกๆ ฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่แข็งแรง นำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาเสริมสร้างความเข้าใจ และร่วมกันสร้างผลงานวัสดุสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพดีที่สุด 

ในช่วงท้าย ดร.กุลเชฏฐ์แสดงความคิดเห็นว่า เซรามิกเป็นวัสดุที่ทุกฝ่ายจะต้องประเมินความเป็นไปได้ของวัสดุ ประเมินความต้องการของตลาดและผู้ใช้งาน สังคมปัจจุบันกำลังมองหาวัสดุที่ตอบโจทย์ประเด็นที่สำคัญของสังคม เช่น สังคมผู้สูงอายุ หรือความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับคุณปัตมาภรณ์ ที่กล่าวถึงวัสดุที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ (Silver economy) ว่าต้องมีคุณสมบัติหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้งานที่ง่ายขึ้น

ท้ายสุดคุณศีลดาทิ้งท้ายว่า “อนาคตของนวัตกรรมจะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องความงาม แต่จะยกระดับการใช้ชีวิตของผู้ใช้มากขึ้น”

หลังจบการเสวนาระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการและนักออกแบบเซรามิกแล้ว ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานกับผู้ฟังกว่า 80 ท่าน เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม 

 
งานเสวนา “นวัตกรรมเซรามิกที่ออกแบบได้” 
วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2562 / 13.30 - 16.00 น.
ห้อง Material & Design Innovation Center ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ