Pantone ภาษาของสีที่ใช้คุยกันได้ทั่วโลก
Technology & Innovation

Pantone ภาษาของสีที่ใช้คุยกันได้ทั่วโลก

  • 02 Aug 2019
  • 41044

...ใครจะเชื่อว่าจากความต้องการบริหารคลังสินค้าเกี่ยวกับสี จะสามารถสร้าง ‘ภาษาสี’ ให้เราเข้าใจตรงกันได้ 

ภาษาสีที่ว่านี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุค 1950 ในธุรกิจเกี่ยวกับการพิมพ์ของบริษัทโฆษณา M&J Levine ในนิวยอร์ก โดยในปี 1956 ผู้ก่อตั้งบริษัทสองพี่น้อง เมอร์วิน เลวีน (Mervin Levine) และเจสส์ เลวีน (Jesse Levine) ได้ว่าจ้างให้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Hofstra University อย่างลอว์เรนซ์ เฮอร์เบิร์ต (Lawrence Herbert) ใช้ความรู้ทางด้านเคมีเพื่อจัดการระบบการจัดเก็บและลดความซ้ำซ้อนของคลังสินค้าสำหรับผงสีและหมึกสี ซึ่งระบบที่เฮอร์เบิร์ตสร้างขึ้นในวันนี้ ปัจจุบันก็คือ The Pantone Color Institute™ ที่กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนในแวดวงการพิมพ์รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตสี ผสมสี สีผ้า สีพลาสติก และยังเป็นผู้สร้างมาตรฐานการเทียบสี Pantone Matching System (PMS) ที่ช่วยให้นักออกแบบสามารถจับคู่สีและเจาะจงการใช้สีได้อย่างถูกต้องเข้าใจตรงกันในกระบวนการออกแบบ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต โดยไม่ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสีแต่ละชนิด ซึ่งในทุกวันนี้มีการนำระบบดังกล่าวไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในการสร้างตราสินค้า ไปจนถึงงานของรัฐบาล หรือแม้แต่กองทัพ ที่ใช้ระบบนี้ระบุสีของธงตลอดจนตราสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ธงชาติของประเทศแคนาดาและเกาหลีใต้ เป็นต้น 

©pantone.com

เมื่อระบบ Pantone เดินทางมาจนกระทั่งในปี 2000 บริษัทจึงได้ริเริ่มให้มีการประกาศ ‘สีแห่งปี’ (Color of the Year) มาจนปัจจุบัน โดยล่าสุด Pantone ประกาศให้ PANTONE 16-1546 Living Coral เป็นสีแห่งปี 2019 ระยะเวลากว่า 19 ปีที่ The Pantone Color Institute™ ทำการคัดเลือกและประกาศสีที่มีอิทธิพลประจำปีนั้นๆ นับเป็นช่วงเวลาที่ภาษาแห่งสีก้าวเข้าไปมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกอย่างบริษัท BASF Corporation - Effects Pigment Group ได้ผลิตสีมาสเตอร์แบทช์ (masterbatch) หรือสีที่มีลักษณะเป็นเม็ดใช้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของผงสีในขณะผสมกับเม็ดพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสี ‘Living Coral’ สีแห่งปี 2019 ขึ้น โดยใช้สารให้สีที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่ซับซ้อน และทนทานต่อแรงตึงในการใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้มีความคงทนเป็นพิเศษ และมีการเสียรูปน้อยด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เหมาะกับโพลิเมอร์ที่มีข้อจำกัดสูงและต้องการการกระจายตัวที่สม่ำเสมอ โดยคอลเล็กชันนี้มี 2 รุ่น ได้แก่ Tropical Sunset และ Everything Nice ซึ่งรุ่น ‘Tropical Sunset’ จะมีสีสันที่สดใส เหมาะกับการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน ประกอบด้วย HDPE ที่เป็นเรซินหลักผสมกับไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) 0.8% และมีสีที่ใกล้เคียงกับสี Living Coral ต้นฉบับ โดยใช้สารให้ที่คุณภาพสูงสุดสำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร ขณะที่รุ่น ‘Everything Nice’ ทำจาก PET โปร่งใสและไม่ผสมไทเทเนียมไดออกไซด์ เป็นสีย้อมทนต่อความร้อนที่ใช้กับเรซินอย่าง PET เหมาะสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ เช่น จุกและฝาปิด เครื่องเล่นกลางแจ้ง และแท่นวางสินค้า

ปัจจุบัน Pantone จึงไม่ได้เป็นเพียงมาตรฐานของสีที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก แต่ยังเปรียบเสมือน ‘ภาษา’ ที่มีคนพูดมากที่สุดเพื่อสื่อสารกันได้อย่างสัมฤทธิ์ผลเมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสี ที่สำคัญการมีภาษาสีเช่นนี้ ยังสร้างความแม่นยำที่จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานสีทั่วโลก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะพูดภาษาอะไรอยู่ก็ตาม

ที่มาภาพเปิด : pantone.com

ที่มา : บทความ “Pantone Color of the Year 2019 – Living Coral” จาก pantone.com และ pss-guide.com

เรื่อง : ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข