เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าจากแอนดรอยด์
Technology & Innovation

เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าจากแอนดรอยด์

  • 01 Sep 2019
  • 27643

“ความเชื่อของพุทธศาสนานั้น ไม่ได้สอนให้เราศรัทธาในพระเจ้า แต่เป็นการเจริญรอยตามคำสอนของพระพุทธองค์ จึงไม่สำคัญว่า เราจะเรียนรู้หนทางนั้นจากสิ่งใด จะเป็นเครื่องจักร เศษเหล็ก หรือต้นไม้ก็ได้” เทนโช โกโตะ พระสงฆ์แห่งวัดโคไดจิ วัดเก่าแก่อายุ 400 ปี แห่งเมืองเกียวโตได้เทศน์ไว้เช่นนั้น 

แม้ประโยคข้างต้นจะดูสวยงามสะท้อนถึงแก่นแท้แห่งพระธรรม แต่กลับสร้างความกังขาให้กับผู้คนจำนวนมากที่ได้ยลโฉม ‘มินดาร์ (Mindar)’ หุ่นยนต์นักบวชตัวแรกของโลก ซึ่งสามารถถ่ายทอดบทเรียนทางพระพุทธศาสนา และสอนมนุษย์ให้เข้าใจถึงสัจธรรมของชีวิตท่ามกลางการมอมเมาของความรัก โลภ โกรธ และ หลง 

โปรเจ็กต์มินดาร์ เกิดขึ้นจากความหวังว่าจะยกระดับการถ่ายทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสู่คนรุ่นใหม่ วัดโคไดจิจึงจับมือกับมหาวิทยาลัยโอซากา ที่นำโดย ศาสตราจารย์ฮิโระชิ อิชิงุโระ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาหุ่นยนต์ชื่อมินดาร์ ที่มีมูลค่ากว่า 106 ล้านเยน (ราว 30 กว่าล้านบาท) 

มินดาร์มีขนาดตัวเท่าคนปกติ เคลื่อนไหวได้เพียงลำตัว แขน และหัวเท่านั้น อีกทั้งยังมีซิลิโคนเลียนแบบผิวหนังมนุษย์ปกปิดไว้เพียงแค่ส่วนมือ ใบหน้า และหัวไหล่ ทิ้งให้เห็นโครงสร้างของร่างกายที่ประกอบขึ้นจากอลูมิเนียม ซึ่งหากใครเห็นในครั้งแรก อาจรู้สึกกลัวในรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาด ไม่เหมือนมนุษย์ ต่างจากแอนดรอยด์ของบริษัทต่าง ๆ ในอดีต เช่น โซเฟีย (ของบริษัท Hanson Robotics จากฮ่องกง) หรือ เจมินอยด์ (ที่สร้างโดย อ. ฮิโระชิ อิชิงุโระ เช่นกัน) แต่ทว่ามีร่างกายครบ 32 เช่นเดียวกับมนุษย์  

©AFP-JIJI

อย่างไรก็ตาม หากลองพิจารณาตามความหมายที่ท่านเทนโช โกโตะ กล่าวว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าเราจะเรียนรู้จากสิ่งใดก็ตาม ฉะนั้นหุ่นยนต์มินดาร์ ก็สามารถเป็น ‘สื่อกลาง’ ที่ใช้เผยแพร่คำสอนได้ไม่ต่างจากสิ่งอื่น ๆ  

การสร้างใบหน้าของมินดาร์ ที่จงใจให้ไม่สามารถระบุเพศได้ ก็เป็นอีกความต้องการหนึ่งของวัดโคไดจิ ในการสร้างมินดาร์ไว้แทนรูปเคารพของ ‘พระอวโลกิเตศวร’ หรือ ‘กวนอิม’ ที่แม้เราจะเข้าใจว่าเป็นพระองค์ทรงเป็นสตรีเพศ แต่หากศึกษาที่มาตามประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าจริง ๆ แล้ว พระอวโลกิเตศวรเคยเป็นชายมาก่อน แต่ด้วยการตีความของศิลปินเมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาเดินทางออกจากชมพูทวีปไปยังดินแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศจีน บ้างจึงถูกออกแบบตามหญิงสาวในราชสำนัก ให้สะท้อนคุณลักษณะอ่อนโยนและกรุณา ดังนั้นใบหน้าของมินดาร์ จึงเป็นเสมือนการให้อิสระแก่ศาสนานิกชนในการตีความตามความเชื่อของตนเองโดยปราศจากการชี้นำ

นอกจากรูปลักษณ์ที่เป็นราวกับปริศนาธรรมแล้ว มินดาร์ยังสามารถเทศนาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นภาษาญี่ปุ่น พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษและจีนสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งยังอธิบายความหมายของคำสอนบางส่วนได้อีกด้วย โดยหลังจากเปิดทดลองใช้งาน ทีมเก็บข้อมูลจากมหาวิทยาลัยโอซากาก็ได้ผลตอบรับที่หลากหลาย เช่น รู้สึกอบอุ่นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกกับเครื่องจักรชนิดใดมาก่อน หรือแม้แต่การเทศนาของมินดาร์ทำให้รู้สึกอึดอัด ด้วยท่าทีที่แลดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไร
แม้จะมีทั้งผลตอบรับทั้งดีและไม่ดีจากพุทธศาสนิกชน แต่ท่านเทนโช โกโตะ ก็ยังคงเชื่อมั่นในหุ่นยนต์นักเทศน์นี้ ด้วยความหวังว่า สักวันคำสอนที่มาจากมินดาร์จะเป็นประโยชน์ต่อจิตใจและสติปัญญา เพื่อมอบหนทางแก้ปัญหาในชีวิตให้กับผู้คนได้

ที่มาภาพ : kyodonews

ที่มา :
บทความ “Kyoto temple puts faith in robot priest, drawing praise from Japanese but scorn from Westerners” โดย Alastair Himmer จาก japantimes.co.jp
บทความ “เจ้าแม่กวนอิม แต่เดิมก็เป็นผู้ชาย และทำไมถึงกลายมาเป็นผู้หญิง?” โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561

เรื่อง : นพกร คนไว