ไป ๆ มา ๆ ในอาเซียน เทรนด์การย้ายงานในภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียงวันนี้
Technology & Innovation

ไป ๆ มา ๆ ในอาเซียน เทรนด์การย้ายงานในภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียงวันนี้

  • 01 Oct 2019
  • 32219

ตลาดแรงงานวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีหลากหลาย ทั้งลักษณะงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทักษะแรงงาน เทคโนโลยีในการผลิต วัฒนธรรมในที่ทำงาน ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ที่แรงงานจะได้ทำงานที่ ‘ดีกว่าเดิม’ และยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของตนเองเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้คนเปลี่ยนงาน 

แรงงานในภูมิภาคอาเซียนก็เช่นกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) รายงานในปี 2019 ว่า ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามประเทศราว 20.2 ล้านคนที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 

ในจำนวนนั้น เกือบ 6.9 ล้านคนทำงานอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) รายงานว่า ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ตั้งแต่ค.ศ.1990 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ น่าสังเกตว่า จำนวนแรงงานหญิงที่ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา และเป็นจำนวนเกือบครึ่งของแรงงานทั้งหมด (48.7%) 

หนังสือพิมพ์ The Business Times ของสิงคโปร์ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ สิงคโปร์เป็นประเทศเป้าหมายอันดับหนึ่งสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน (ผลสำรวจจากแรงงานราว 3,500 คนใน 11 ประเทศในเอเชีย) นำหน้าประเทศเป้าหมายยอดนิยมอย่างประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยแรงงานจากอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ต่างต้องการไปทำงานที่สิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่แรงงานสิงคโปร์เองก็ไม่ค่อยอยากย้ายไปทำงานที่อื่น 

สำหรับสิงคโปร์ แรงงานต่างชาติมีสัดส่วนเกือบ 30% ของจำนวนประชากร แรงงานต่างชาติที่มีฝีมือ (ภาคการเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ) ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมของสิงคโปร์พัฒนาไปถึงระดับที่เป็นฮับของภูมิภาค ในขณะที่แรงงานที่ใช้ทักษะต่ำลงมา (เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง) ก็ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนอุตสาหกรรมที่แรงงานอยาก ‘ย้ายไปทำ’ คือ อุตสาหกรรมการผลิตในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อุตสาหกรรมสุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) ในสิงคโปร์ งานบริการเฉพาะทางในมาเลเซีย และอุตสาหกรรมที่ ‘น่าทำ’ ในประเทศไทย คืออุตสาหกรรมค้าปลีก ทั้งนี้ หากวัดทั้งภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมที่ได้ความนิยมจากแรงงานซึ่งอยากเปลี่ยนมาทำมากเป็นอันดับหนึ่งก็คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคม

หนังสือพิมพ์ Nikkei Asian Review รายงานเมื่อปี 2018 ว่า อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากในอาเซียน ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื่อยมา ไทยและมาเลเซียเป็นสองประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าว ยกตัวอย่างบริษัท Top Gloves ของมาเลเซียที่เป็นบริษัทผลิตถุงมือยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอุตสาหกรรมประมงที่สมุทรสาครของไทย ต่างประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะภาครัฐกวดขันเรื่องใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 

แรงงานเหล่านี้มาจากพม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย หรือจากประเทศนอกอาเซียนอย่างบังคลาเทศและเนปาล ค่าแรงที่แรงงานเหล่านี้ได้รับและส่งกลับไปให้ครอบครัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศบ้านเกิด แต่เมื่อมาเลเซียและไทยเข้มงวดเรื่องใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานจำนวนมากตัดสินใจกลับบ้าน เจ้าของธุรกิจจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดใจแรงงานที่ถูกกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม แม้งานที่เราทำอยู่วันนี้จะยังไม่ถูกแย่งไปโดยแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่ในภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาฝีมือตนเอง สักวันหนึ่ง อุตสาหกรรมที่เราอยู่ งานที่เราทำ ก็อาจเป็นที่หมายปองของคนทำอาชีพเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาจได้งานของเราไปทำก็เป็นได้

ที่มาภาพ : Ryoji Iwata/Unsplash

ที่มา :
บทความ “Migrant crackdowns hit ASEAN's labor flow” โดย Takashi Nakano และ Yukako Ono จาก asia.nikkei.com
บทความ “Migration in Asia: Where is everybody going?” โดย Bart Edes จาก weforum.org
บทความ “Singapore top choice for Asean talent: survey” โดย AseanBusiness staff จาก businesstimes.com.sg
บทความข่าว “งาน 12th ASEAN Forum on Migrant Labour” จาก ilo.org/asia

เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ