พลิกโอกาส สร้างความเป็นไปได้กับกีต้าร์พันธุ์อึดตัวแรกของโลก
Technology & Innovation

พลิกโอกาส สร้างความเป็นไปได้กับกีต้าร์พันธุ์อึดตัวแรกของโลก

  • 01 Nov 2019
  • 26712

การทำลายข้าวของอาจเป็นการกระทำที่ดูไม่ดีเท่าไรนัก ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีราคาแพงและเป็นเครื่องมือทำมาหากินของนักดนตรีด้วยแล้ว คงน่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับศิลปินแนวร็อกระดับโลกหลายคนกลับทำลายกีต้าร์ตัวเองบนเวทีคอนเสิร์ตต่อหน้าผู้ชมหลายพันคน จนกลายมาเป็นฉากสำคัญที่บรรดาแฟนเพลงถึงขั้นรอคอยการแสดงทำลายกีต้าร์ของศิลปินกันเลยทีเดียว 

ถึงแม้ว่าการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินร็อกที่มีการขว้างหรือทุบทำลายกีต้าร์จะมีมานานกว่าสิบปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงได้รับการตอบรับจากบรรดาแฟนเพลงมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แถมยังกลายเป็นอีกไฮไลต์ของการแสดงที่แฟน ๆ เรียกร้องอีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ Sandvik บริษัทผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมโลหะและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้เห็นโอกาสในการทดสอบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยซึ่งทางบริษัทได้คิดค้นขึ้นมา ด้วยการสร้าง ‘กีต้าร์ที่แข็งแรงทนต่อการทำลายได้ทุกรูปแบบ’ โดยทีมวิศวกรรมได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกีต้าร์ใหม่ ด้วยการรื้อโครงสร้างเดิมทั้งหมด เพื่อค้นหาจุดอ่อนที่มีความเปราะบางแตกหักง่ายมากที่สุด ซึ่งก็คือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างคอกีต้าร์และตัวกีต้าร์ ก่อนจะแก้ไขด้วยการออกแบบให้จุดที่เปราะบางนี้ถูกเชื่อมติดกันเป็นชิ้นเดียวผ่านการขึ้นรูปวัสดุที่ทำจากแผ่นเหล็กที่เรียกว่า ‘Hyper-Duplex Steel’ ตั้งแต่ส่วนที่ยื่นออกจากตัวกีต้าร์สำหรับวางช่องโน้ตหรือ Fretboard ยาวลงมาถึงคอกีต้าร์ที่มีการเพิ่มส่วนต่อขยายไปถึงตรงกลางตัวกีต้าร์ ด้วยเครื่องมือที่ควบคุมด้วยโปรแกรมขั้นสูงเพื่อให้มีความแม่นยำในการตัดเจาะส่วนต่าง ๆ ด้วยระบบดิจิทัล 

มากไปกว่านั้น ส่วนของตัวกีต้าร์ก็ยังถูกการออกแบบอย่างซับซ้อนด้วยการขึ้นรูปจากเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง เครื่องมือดังกล่าวผลิตจากการขึ้นรูปจากการทำผงไทเทเนียมที่ถูกหลอมละลายแล้วมาขึ้นรูปทีละชั้นทับกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รูปทรงตามแบบที่ต้องการ แต่ละชั้นมีความบางกว่าเส้นผม ทำให้ต้องใช้เวลาในการขึ้นรูปตัวกีต้าร์นานถึง 56 ชั่วโมง แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเพราะจะช่วยให้วัสดุมีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุดสูง ทนต่อแรงกระแทกได้ดี อีกทั้งในขั้นตอนการผลิตกีต้าร์นี้ยังไม่มีชิ้นส่วนที่เหลือใช้หรือต้องทิ้งไปเป็นขยะ เนื่องจากผงโลหะที่หลงเหลือจากการขึ้นรูปแล้ว สามารถนำกับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้งนั่นเอง

การออกแบบกีต้าร์นี้จะสำเร็จได้ก็ต้องมีผู้ทดสอบความทนทานและประสิทธิภาพของมัน โดย Sandvik ได้เชิญอิงวี มาล์มสตีน (Yngwie Malmsteen) ศิลปินและมือกีต้าร์ระดับโลกชาวสวีเดนผู้มีอิทธิพลต่อนักเล่นกีต้าร์ทั่วโลก ให้มาทดสอบกีต้าร์ตัวนี้บนเวทีคอนเสิร์ตในคลับแห่งหนึ่ง หลังจากที่มาล์มสตีนได้ทำการแสดงโชว์ไปหลายเพลงจนกระทั่งถึงเวลาที่แฟนเพลงรอคอย เขาได้เหวี่ยงกีต้าร์ลงบนเครื่องเสียง บนพื้นเวที และที่อื่น ๆ อีกหลายครั้ง แต่กีต้าร์ก็ยังคงความสมบูรณ์ไม่มีส่วนใดแตกหัก ขณะที่อุปกรณ์และสิ่งของที่ถูกทุบด้วยกีต้าร์ตัวนี้กลับเสียหายแทน 

จากการทดสอบประสิทธิภาพกีต้าร์ตัวนี้ จึงถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกที่ทลายข้อจำกัดของชาวร็อกจาก Sandvik กีต้าร์ตัวนี้ถูกนำไปประมูล โดยผู้ชนะการประมูลไปก็คือพาร์ ยอร์เกน พาร์สัน (Pär-Jörgen Pärson) ผู้บริหารของ Northzone กองทุนร่วมลงทุนซึ่งร่วมลงทุนในบริษัทหลากหลายประเภทรวมถึงผู้ให้บริการสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Spotify นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การมองเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมชิ้นนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ในการสร้างนวัตกรรมจากวัสดุและเทคโนโลยีที่เคยเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้อีกด้วย

ที่มาภาพ : Sandvik

ที่มา : บทความ “How Sandvik made the world’s first 3D printed, smash-proof guitar” จาก home.sandvik/en

เรื่อง : ณัฐณิชาต์ ศิริวัลลภ