Mute, Hide, Snooze and Shut up!
Technology & Innovation

Mute, Hide, Snooze and Shut up!

  • 19 Nov 2019
  • 30729

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าวัตถุประสงค์แรกของการประดิษฐ์รีโมตทีวี ไม่ได้มีเพื่อการเปลี่ยนช่องหรือเปิดปิดทีวีให้สะดวกขึ้น แต่เป็นเพราะชายคนหนึ่งรำคาญเสียงโฆษณามากเสียจนเขาอยาก “ปิดเสียง” ในช่วงที่โฆษณากำลังเล่น ดังนั้นรีโมตทีวีจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อกำจัดเสียงที่ไม่ต้องการฟัง

ชายผู้รำคาญเสียงโฆษณาในทีวีมากกว่าสิ่งใดคนนี้คือ ยูจีน เอฟ แมคโดนัลด์ (Eugene F McDonald) เขาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องเสียง Zenith และใช้บทบาทบอสมอบหมายงานท้าทายให้กับทีมวิศวกรในบริษัท ให้คิดค้นเครื่องมือที่จะช่วยขจัดเสียงโฆษณาได้อย่างทันใจ และโรเบิร์ต แอดเลอร์ (Robert Adler) ก็คือวิศวกรคนแรกที่สามารถคิดค้นรีโมตทีวีที่มีปุ่ม Mute (เงียบ) ได้สำเร็จในปี 1956

แต่ยูจีนคงคาดไม่ถึงแน่ว่าบทบาทการกด mute กำลังถูกขยายความสำคัญให้เป็นมากกว่าการปิดเสียงกวนใจในทีวี เพราะในยุคนี้ที่ชีวิตถูกรบกวนไปด้วยสื่อและเสียงที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการโฆษณา ตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะพกรีโมตส่วนตัวไว้กด Mute ในสถานการณ์ที่เราไม่อยากรับฟังหรือรับรู้ได้อย่างสะดวกสบายที่สุด

เพราะนอกจากการพก ‘หูฟัง’ เครื่องมือสากลที่คอยป้องกันเสียงรบกวนภายนอกได้อย่างสะดวก ตอนนี้ก็เริ่มมีเซอร์วิสต่าง ๆ ที่เอาใจคนขี้รำคาญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Uber Black ในสหรัฐอเมริกาได้ออกฟีเจอร์ใหม่ “Quiet Preferred” เพื่อบริการความเงียบให้กับผู้โดยสารที่ไม่ชอบสนทนาหรือฟังคนขับรถพูดตลอดทาง หรือหากพูดเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อย นอกจากการบล็อกเสียงรบกวนแล้ว การไม่ต้องรับรู้เรื่องใด ๆ จากใคร ยังเป็นฟีเจอร์จำเป็นในโซเชียลมีเดียอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ปุ่ม Hide (ซ่อน) โพสต์ หรือ Snooze (พักชั่วคราว) เพื่อนในเฟซบุ๊ก หรือจะเป็นปุ่ม Mute ในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม เหล่านี้คือฟีเจอร์ที่ช่วยตัดสิ่งรบกวนสายตาและจิตใจให้กับคนยุคดิจิทัลได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส “ฉันก็มีความสุขกับเพื่อนในโลกโซเชียลที่พวกเขามีชีวิตที่ดีนั่นแหละ แต่อินสตาแกรมทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าทำไมชีวิตดี ๆ นั่นถึงไม่ใช่ของฉัน” ผู้ใช้งานฟีเจอร์ Mute ในอินสตาแกรมคนหนึ่งเผยความรู้สึกต่อสำนักข่าว The Guardian 

ในแง่หนึ่ง การมีชีวิตในโซเชียลมีเดียค่อย ๆ หล่อหลอมให้เราลงมือทำในสิ่งที่คนอื่นอยากเห็นและอยากได้ยิน แต่ขณะเดียวกันผู้คนยุคนี้ก็ดูเหมือนจะรำคาญกันและกันมากขึ้น เมื่อผลสำรวจชีวิตของคนยุคใหม่โดย ดร.เดเนียล เลวิทิน (Dr. Daniel Levitin) นักประสาทวิทยาและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย McGill University เผยว่า ‘เพลงหรือเสียงที่ไม่ต้องการฟัง’ มักอยู่ใน 5 อันดับแรกของสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่มากที่สุด 

สอดคล้องกับแอพพลิเคชันมิวสิกสตรีมมิงยอดนิยมอย่าง Spotify ที่เผยว่าดนตรีที่คลอด้วยเสียงคลื่นและฝนเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดในปี 2019 นั่นหมายความว่า ผู้คนไม่ได้แค่อยากฟังเพลงเพราะ ๆ เท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการบล็อกเสียงที่ไม่อยากได้ยินอีกด้วย  และแม้ดร.เดเนียลจะเห็นด้วยว่าหูฟังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ควบคุมสภาพแวดล้อมของการได้ยินได้ดีที่สุด แต่เขาก็เสริมด้วยว่าการฟังเพลงไม่สามารถเพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพการทำงานให้เราได้เหมือนอย่างที่คนหนุ่มสาววัยทำงานหลายคนเข้าใจ แต่มันเพียงเพิ่มความเบิกบานใจให้เราได้มากขึ้นเท่านั้น

ที่มาภาพ : Kaweepat Phuycharoen

ที่มา : บทความ “Hit the mute button: why everyone is trying to silence the outside world” จาก theguardian.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ