Oslo เมืองรักโลกในแบบชาวนอร์เวย์
Technology & Innovation

Oslo เมืองรักโลกในแบบชาวนอร์เวย์

  • 01 Dec 2019
  • 45258

หลายเมืองทั่วโลกพยายามที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “เมืองสีเขียว” เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์สภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงทุกปี เช่นเดียวกับ  “ออสโล” เมืองหลวงของนอร์เวย์ที่ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งซึ่งร่วมพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเมืองสีเขียวเช่นกัน อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียวของภูมิภาคยุโรปในปี 2019 (European Green Capital 2019) อีกด้วย

European Green Capital เป็นรางวัลที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ผู้รับผิดชอบกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้แก่เมืองที่เป็นต้นแบบของการปรับใช้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของสังคมเมือง โดยมีแนวคิดสำคัญว่า “Green Cities - Fit for Life” หรือเมืองสีเขียวที่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่

ภารกิจของออสโลเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียว จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและวางแผนการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยมีนโยบายอย่าง Climate Budget ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวของแผนการควบคุมพลังงานและสภาพอากาศ (Climate and Energy Strategy) ที่สอดคล้องกับ “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2020 โดยใช้แนวทางการทำงานแบบ “นับคาร์บอนในแบบที่เรานับเงิน” เพื่อปรับใช้กับหน่วยงานรัฐบาลทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยมลพิษ โดยมีมาตรวัดในด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบจากขยะ อาคารบ้านเรือน การคมนาคม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2022 และร้อยละ 95 ภายในปี 2030 จนกลายเป็นเมืองไร้มลพิษอย่างสมบูรณ์ในปี 2050

©Eirik Skarstein/Unsplash

เมืองสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเหมาะสำหรับทุกคน
การคมนาคมเป็นตัวการสำคัญของปัญหามลพิษของออสโล ในปี 2017 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยานพาหนะขนาดใหญ่และเล็กมีมากกว่า 583,682 ตัน หรือคิดเป็น 54% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของเมือง ออสโลจึงต้องเร่งยกเครื่องรูปแบบการคมนาคมของเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศนอร์เวย์ก็มีข้อได้เปรียบของการเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก หรือ 1 ใน 10 ของผู้ที่มียานพาหนะส่วนตัวใช้รถยนต์ไฟฟ้า  และเหตุผลนี้เองที่กลายมาเป็นกุญแจหลักของการผลักดันให้ออสโลเริ่มทดสอบการคมนาคมแบบปลอดมลพิษ อีกทั้งยังช่วยปรับเปลี่ยนให้การเดินทางเป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่เดินเท้าอีกด้วย
 

©

GreenCharge 
เมื่อมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากในเมือง ก็ทำให้ต้องมีสถานีชาร์จไฟที่เพียงพอต่อการใช้งาน โปรเจ็กต์ GreenCharge คือโครงการทดลองที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายเมืองในยุโรป โดยมีจุดประสงค์ในการกระจายจุดชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปยังสถานที่อยู่อาศัยเพื่อให้กลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ เช่น อพาร์ตเมนต์และลานจอดรถสาธารณะ นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในแต่ละจุดได้อย่างเหมาะสม โดยใชช้วิธีคำนวนการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์แต่ละคันเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้รถทุกคน ทั้งนี้ แหล่งพลังงานไฟฟ้าจะมาจากการจ่ายไฟฟ้าสาธารณะ พลังจากแสงอาทิตย์ และแบตเตอรีสำรอง


ย่านไร้รถยนต์ คืนท้องถนนให้ประชาชน
หากลองถามเหล่าชาวเมืองออสโลว่า สิ่งใดที่พวกเขาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในบริเวณศูนย์กลางของเมืองมากที่สุดคำตอบที่ได้เป็นเสียงเดียวกันก็คือ อยากได้พื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีบริเวณให้นั่งพักผ่อนมากขึ้น มีกิจกรรมและความสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนให้มากขึ้น มีพื้นที่สำหรับจักรยาน และให้มีเพียงรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าเท่านั้นที่สามารถวิ่งในย่านกลางเมืองได้

โครงการ Car-Free Livability Programme จึงเกิดขึ้นเพื่อจัดระเบียบพื้นที่เขตใจกลางเมืองรัศมีราว 1.3 – 2 ตารางกิโลเมตรให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดรถยนต์ และเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนในการสร้างเครือข่ายเส้นทางสำหรับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานที่เชื่อมต่อกันอย่างสะดวกและปลอดภัย แม้จะเป็นโครงการที่ใช้เวลานาน แต่เทศบาลเมืองออสโลก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยมีการปรับปรุงถนนบางเส้นให้กลายเป็นถนนคนเดินและสถานที่จัดกิจกรรม อีกทั้งยังเชื่อมต่อระหว่างถนนบางเส้นให้กลายเป็นเส้นทางสำหรับคนเดินและจักรยาน

ไม่ว่าที่ใดในโลก การสร้างเมืองล้วนทำเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ เช่นเดียวกับออสโล เมื่อต้องการปรับเปลี่ยนเมืองใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนมากขึ้น ออสโลจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนบริเวณจอดรถริมถนนกว่า 760 แห่งเพื่อขยายเป็นพื้นที่สำหรับคนเดินและจักรยาน รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว เพิ่มเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนและก๊อกน้ำสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เทศบาลก็ยังคงเหลือพื้นที่ริมถนนบางแห่งไว้สำหรับรถขนส่งสินค้าและรถสำหรับผู้พิการ

©flickr.com/Albert Koch

ขนส่งสาธารณะกับพลังงานทดแทน
ออสโลเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก รถไฟใต้ดิน รถบัส รถราง และเรือโดยสารที่เปิดบริการเกือบ 24 ชม. เป็นทางเลือกหลักของชาวเมืองออสโล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนการเข้าใช้บริการขนส่งมวลชนของออสโลเพิ่มมากถึง 371 ล้านเที่ยว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ผู้คนเปลี่ยนไปเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มากอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศและเสียง อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านการจราจรอีกด้วย

บริษัทผู้ทำหน้าที่จัดการระบบขนส่งสาธารณะของออสโลอย่าง Ruter AS ได้เริ่มโปรเจ็กต์ Fossil Free 2020 โดยภายในปี 2028 การขนส่งสาธารณะทุกชนิดจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เพื่อยุติมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดเสียงรบกวน และเป็นมิตรต่อสุขภาพของประชาชน 

 

แท็กซี่ไฟฟ้าและจุดชาร์จไร้สาย 
แท็กซี่ไฟฟ้าอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับยุคนี้ แต่แท็กซี่ที่ชาร์จไฟแบบไร้สายจะกลายเป็นเรื่องใหม่อย่างแน่นอน ในปี 2023 โครงการแท็กซี่ปลอดมลพิษจะเดินหน้าพัฒนาแท็กซี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและลดปัญหาการจราจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อแท็กซี่สามารถชาร์จแบบไร้สายได้ 

โดยเทศบาลเมืองออสโลได้ร่วมมือกับบริษัท Fortum ของฟินแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อเริ่มโครงการระบบชาร์จไร้สายสำหรับแท็กซี่ในออสโล โดยการติดตั้งเครื่องชาร์จบริเวณท่าจอดรถแท็กซี่ตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อแท็กซี่เข้าจอดเพื่อรอผู้โดยสาร แผ่นชาร์จที่ติดตั้งอยู่กับพื้นถนนจะเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ตัวรับที่ติดตั้งอยู่กับรถ วิธีการนี้จะช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการขับรถหาจุดชาร์จและลงจากรถเพื่อเสียบปลั๊กรอแบตเตอรีเต็ม 


ด้านการขนส่งทางน้ำ ท่าเรือออสโล (Oslo Port Authority) ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากถึง 50,000 เมตริกตันต่อปี จากเรือขนส่งสินค้า เรือเฟอร์รี่ที่รับส่งนักเดินทาง และเรือสำราญที่จอดรอนักท่องเที่ยวที่ทำกิจกรรมในเมือง การปรับท่าเรือให้สอดรับกับการมุ่งสู่เมืองสีเขียวในอนาคต จึงมีตั้งแต่การปรับปรุงเรือเฟอร์รี่รับส่งผู้โดยสารให้มาใช้พลังงานแบตเตอรี การเพิ่มจุดชาร์จระบบไฟส่องสว่างของเรือที่ติดตั้งประจำแต่ละท่า  และการสร้างระบบระบายความร้อนโดยที่ไม่ต้องติดเครื่องยนต์ระหว่างจอด นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเครนยกที่ทำงานด้วยน้ำมันดีเซลให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ในกรณีของเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ที่พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไม่เพียงพอต่อการเดินทาง พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นทางออกสำคัญที่จะใช้สำหรับการเดินทางไกลและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าวิธีการนี้ยังเป็นเรื่องใหม่และมีข้อกำจัดหลายส่วนในการพัฒนา แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยลดการปล่อยมลพิษได้อย่างมหาศาล

ปลูกต้นกล้าเยาวชนสีเขียว
ไม่เพียงแต่การยกระดับเมืองให้กลายเป็นเมืองหลวงสีเขียวเท่านั้น เทศบาลออสโลยังต้องการให้ประชาชนรุ่นต่อไปเข้าใจถึงปัญหาสภาพอากาศและมีจิตสำนึกหวงแหนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่บนโลก งบประมาณจากนโยบาย Climate Budget จึงได้ถูกเตรียมไว้สำหรับด้านการศึกษาอีกด้วย

โครงการ Climate House เป็นโครงการที่จะช่วยให้ความรู้กับเยาวชนรุ่นใหม่ของออสโลเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ เปิดโอกาสให้เด็กเล็ก วัยรุ่น หรือผู้ปกครองได้พูดคุยหรือโต้แย้งกันอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จากการร่วมวิเคราะห์และแก้ปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมฉายหนัง นิทรรศการ การแสดงศิลปะและการบรรยายอีกมากมาย โดย Climate House จะเปิดบริการในปี 2020 และตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติแห่งออสโล (Natural History Museum) 

ปฏิทินกิจกรรมเพื่อเมืองสีเขียวของออสโล
นอกจากความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลแล้ว ภาคประชาชนก็ตื่นตัวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากเช่นกัน ลองดูลิสต์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นจากหลายส่วน และมีให้เข้าร่วมกันทุกเดือนตลอดทั้งปี ดังนี้

Oslo Innovation Week
งานใหญ่ประจำปีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้านทรัพยากร สภาพอากาศ และการสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้กับเมือง ด้วยวิธีการแก้ปัญหาจากหลายสาขาอาชีพ เช่น ธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านอีเวนต์กว่า 50 งาน เช่น งานเสวนา เวิร์กช็อป ดนตรี และโชว์เคส

©facebook.com/oyafestivalen

Øyafestivalen
เทศกาลดนตรีแห่งเมืองออสโล จัดขึ้นที่สวน Tøyen Park ขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลดนตรีสีเขียวที่สุดในโลก เพราะมีการจัดการปัญหาขยะ อาหารเหลือทิ้ง การเดินทาง และการใช้พลังงาน ให้ความสำคัญตั้งแต่กระดาษชำระไปจนถึงพลังงานไฟฟ้า 

เทศกาล Øyafestivalen เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2009 ขายอาหารออร์แกนิกและกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของอาหารไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ มีระบบจัดการขยะและอาหารเหลือโดยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกทั้ง 98% ของผู้เข้าร่วมงาน เดินทางมาด้วยการเดิน จักรยาน และขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากจะมาเพื่อรับความบันเทิงจากดนตรีแล้ว ทุกคนยังได้รับแรงบันดาลใจและความรู้ในการใช้ชีวิตแบบสีเขียวกลับบ้านอีกด้วย

ที่มา :
บทความ “Norway will install the world’s first wireless electric car charging stations for Oslo taxis” โดย Nick Statt จาก theverge.com
บทความ “Oslo European Green Capital 2019” จาก sustaineurope.com
บทความ “Oslo wants to build the world’s first zero-emissions port” โดย By Tracey Lindeman จาก grist.org
บทความ “The Car-free Livability Programme 2019” จาก oslo.kommune.no
Oslo Innovation Week 2019 จาก oiw.no
The Climate House จาก nhm.uio.no
oyafestivalen.no

ที่มาภาพเปิด : Oliver Cole/Unsplash

เรื่อง : นพกร คนไว