อัญชลี อัจจิมาธร  สำรวจโอกาสในจักรวาล ‘ขยะ’ จากสายพานอุตสาหกรรมเบียร์รายใหญ่ของไทย
Technology & Innovation

อัญชลี อัจจิมาธร สำรวจโอกาสในจักรวาล ‘ขยะ’ จากสายพานอุตสาหกรรมเบียร์รายใหญ่ของไทย

  • 01 Dec 2019
  • 34168

ข่าววิกฤตขยะในท้องทะเลไทย และปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ไม่หนีหายไปไหนง่าย ๆ ทำให้กระแสตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาบูมในไทยอีกครั้ง แม้แต่ห้างสรรพสินค้ายังร่วมขบวนทัพงดแจกถุงพลาสติก แต่ลำพังการขยับตัวของผู้บริโภคและไม่กี่ฝ่าย จะช่วยแก้สมการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทันหรือไม่ 

อัญชลี อัจจิมาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาหารเสริม จำกัด คือหัวหอกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดการสิ่งที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตเบียร์และสุรา ภายใต้กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เธอทำงานร่วมกับทีมงานคนรุ่นใหม่ไม่กี่หยิบมือ ด้วยเชื่อว่าถ้าธุรกิจเปลี่ยนวิธีคิด ก็สร้างมูลค่าจากขยะได้

จุดเริ่มต้นของบริษัท อาหารเสริม จำกัด คืออะไร
เดิมทีเราเริ่มต้นจากเป็นบริษัท กระทิงแดงขนส่งจำกัด เมื่อก่อนการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเบียร์ เราต้องส่งไปให้ผู้รับกำจัดของเสียเพียงอย่างเดียวต่อมาท่านประธานฯ (คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี) เห็นว่าของเสียจากกระบวนการผลิตดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก และให้นโยบายว่าต้องจัดการผลพลอยได้ให้ครบขบวนการ เช่น นำกากข้าวมอลต์ไปอบแห้ง เพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ 

เรามีโรงงานหลัก 3 แห่ง คือ โรงงานของบริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) จ.กำแพงเพชร โรงงานของบริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด อ.บางบาล จ.อยุธยา และโรงงานของบริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด อ.วังน้อย จ.อยุธยา ของเสียจากกระบวนการผลิตส่วนใหญ่เป็นกากข้าวมอลต์และยีสต์ ซึ่งมีปริมาณหลายตันต่อปี คำถามคือ เราจะสร้างมูลค่าจากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และได้รับผลพลอยได้กลับคืนมา ซึ่งตอนนั้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยังไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้

ทำไมบริษัทใหญ่อย่างไทยเบฟ จึงสนใจเรื่องการจัดการทรัพยากรจากกระบวนการผลิตให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ท่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับด้านเศรษฐกิจ และสังคม จะเห็นได้ว่าไทยเบฟได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่ม DJSI (ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indexes) ประเภท กลุ่มดัชนีโลก (World Index) และประเภทดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) ในอันดับที่ 1 กลุ่ม Beverages industry 2 ปีซ้อน ส่วนบริษัทอาหารเสริมจำกัดอยู่ในสายธุรกิจต่อเนื่องของไทยเบฟที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นหลักการและจิตสำนึกเกี่ยวกับสังคม และสิ่งแวดล้อม

แนวคิดหลักของการบริหารจัดการกับผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเบียร์และสุราคืออะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง
เรามีวิธีบริหารจัดการของเสียจากธุรกิจในเครือบริษัท 4 รูปแบบ คือ 1. จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ เช่น กากข้าวมอลต์แห้ง กากข้าวมอลต์เปียก ยีสต์แห้ง 2. วิจัยและพัฒนาของเสียจากโรงงานในเครือให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 3. พัฒนาบุคลากร สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการของเสีย และ 4. จัดทำ Waste Data Management โดยรวบรวมข้อมูลของเสียจากโรงงานในเครือเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

เมื่อก่อนบริษัทแปรรูปกากข้าวมอลต์ให้เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ให้กับผู้ผลิต แต่ถ้าเรายังทำแบบเดิมอยู่ ขายวัตถุดิบให้กับธุรกิจอื่นอย่างเดียว เราก็ต้องพึ่งพาธุรกิจนั้นไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดวันหนึ่งเขาสามารถนำเข้าวัตถุดิบ หรือปลูกพืชอื่น ๆ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์เองได้ เขาก็จะไม่ซื้อสินค้าจากเราแล้ว นั่นเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ทีนี้เราเลยย้อนกลับมาดูว่ายังมีอะไรอีกบ้างใน Waste Universe ของไทยเบฟ เราเลยเริ่มจากการพัฒนาตัวปรับปรุงดิน (Soil Conditioner) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตในโรงงาน และจำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ยทดแทน

อะไรที่ทำให้คิดว่ากระบวนการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการกับของเสีย
เพราะบริษัทมีนโยบายด้านการขยายธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าเราไม่รู้ข้อมูลเราจะบริหารจัดการได้ครบขบวนจริงหรือ นี่จึงเป็นคำถาม

การบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตจะต้องครอบคลุมทุกบริบท และคำนึงถึงความยั่งยืนในอนาคต ประกอบกับเรามองว่า บริษัทจะต้องเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มองแค่ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่เราดูว่าธุรกิจในเครือไทยเบฟมีอะไรอีก เพื่อที่จะบริหารจัดการได้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในเครือ รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และลดการฝังกลบของเสียให้ได้มากที่สุด 

สมัยก่อนเราบริหารจัดการด้วยการจำหน่ายผลพลอยได้ที่ขายได้เท่านั้น แต่ฐานข้อมูลทำให้เราเข้าใจภาพรวมมากขึ้นว่ายังมีของเสียอื่น ๆ อีกมากมายที่มองไม่เห็นในกระบวนการผลิตหรือแม้แต่นอกกระบวนการผลิต เช่น ขยะจากที่อยู่อาศัย และสำนักงาน

เท่ากับข้อมูลขยะเหล่านี้คือหัวใจหลักในการทำงาน
การจัดทำฐานข้อมูลขยะจะมีประโยชน์กับองค์กรมาก ๆ อันดับแรก ถ้าทุกคนรู้ว่าขยะที่อยู่ในมือสามารถสร้างมูลค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้ มันก็จะเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เกิดมาร์เก็ตเพลซภายในขึ้น เกิดความร่วมมือกันภายในองค์กร เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างกัน 

สอง เรานำขยะที่มีอยู่ไปพัฒนาด้วยนวัตกรรม เราทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อที่จะรู้ว่าของเสียที่มีอยู่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาให้เกิดมูลค่าสูงสุดได้อย่างไรบ้าง เช่น เรานำขี้เถ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดิน และขี้เถ้าผงปั้นเม็ด เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตปุ๋ย แต่ขี้เถ้ายังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นวัสดุมวลเบาที่ใช้ในการก่อสร้าง แทนการใช้วัสดุหินจากธรรมชาติที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และไม่เหมาะกับการก่อสร้างตึกสูง พอเราใช้วัสดุมวลเบาที่แข็งแรงเทียบเท่ากับหิน โครงสร้างอาคารก็ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ช่วยให้การก่อสร้างเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการผลิต และเตรียมจัดจำหน่ายให้กับคู่ค้าของเราภายในปีหน้า

แต่การพัฒนานวัตกรรมน่าจะต้องใช้ต้นทุนสูง
แพงแต่ก็คุ้มค่าและยั่งยืนกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบเชิงราคามันค่อนข้างแพงกว่าหินในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ในอนาคต แน่นอนว่าภูเขาหินจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นราคาของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็จะต้องสูงขึ้นแน่นอน ขณะที่นวัตกรรมจากของเหลือเหล่านี้ เราสามารถทำได้โดยไม่จำกัด เพราะทรัพยากรหลักที่ใช้ในการผลิตเป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ (Renewable resources) เราไม่ต้องไปทำลายธรรมชาติและช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เราเน้นลดการทำลายสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถแปลงมูลค่าได้ (Intangible) แต่มีค่ามากกว่ามูลค่าที่เป็นเงิน นั่นคือความยั่งยืน

ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นแค่ของเสีย คุณก็จะมองว่ามันเป็นแค่ของเสีย แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง ลองใช้นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ในแบบของคุณมาปรับเพิ่ม คุณก็จะได้สิ่งที่มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้น และลดการทิ้งขยะในหลุมฝังกลบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และถ้าหากเราช่วยกันสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วยต่อยอดแนวคิดนี้ เขาอาจจะคิดได้มากกว่าพวกเราด้วยซ้ำ เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องคิดอยู่ในกรอบธุรกิจเหมือนกับเรา

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากขยะหรือของเสีย ควรวางแผนควบคุมอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซ้ำอีก
ทุก ๆ กระบวนการคิด เราจะมองรอบ 360 องศา ว่าถ้าเราเป็นผู้ผลิตแล้ว ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตลอดทั้งกระบวนการ และบริษัทเองก็มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ดังนั้นขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพราะเราต้องชี้แจงรายละเอียดให้ได้ทุกมุม

ทำไมจึงคิดว่าการบริหารจัดการขยะต่อยอดเป็นธุรกิจได้ ขณะที่ธุรกิจใหญ่อื่นๆ มองว่าเป็นแค่กิจกรรม CSR เท่านั้น
คิดว่ามันเป็นเรื่องมุมคิดที่แตกต่าง ถ้าเรามองเหมือนเดิม ของเสียเหล่านั้นก็จะมีมูลค่าเท่าเดิม ต้องบอกว่าบริษัทเรามาจากธุรกิจการค้า ทีมงานมาจากสายนักวิจัย ส่วนเรามีมุมมองด้านการตลาด เราให้น้อง ๆ ฝึกคิดและออกไปเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเรื่องเทคนิค หรือแม้แต่เรื่องดีไซน์ ความสวยงาม การตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ๆ ซึ่งเราเปิดกว้างมาก ๆ เช่น ไปดูว่าที่เยอรมันเขามีแนวคิดแบบไหน ไปดูว่าเมืองในญี่ปุ่นเขาทำให้ขยะเป็นเรื่องศิวิไลซ์ได้อย่างไร แล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งต้องขอบคุณผู้บริหารที่ให้โอกาสพวกเราได้เรียนรู้ตรงนี้ ถ้าเรามองแค่ว่าการกำจัดขยะเป็นแค่กิจกรรมแบบ CSR มันก็จะอยู่แค่การทำเพื่อแจก แต่ที่นี่ เราพยายามสร้างมูลค่าใหม่จากสิ่งที่คนมองไม่เห็น ใช้นวัตกรรมเข้าไปผสมผสาน แต่ที่สุดแล้ว มันคือมายด์เซ็ต การเปิดใจมองว่าเราสามารถคิดต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ มีผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เรากำลังทดลองทำกันอยู่ คือ การนำกากข้าวมอลต์ผสมกับกากใบชา และขี้เถ้าผง มาจับคู่กับงานออกแบบ จนกลายเป็นอ่างล้างมือกับท้อปเคาน์เตอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงและกันน้ำได้ เพื่อให้คนเห็นว่าของเสียเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง แล้วมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราจริง ๆ ได้ยังไง

ธุรกิจที่บริหารบนความยั่งยืนจริง ๆ จะได้รับประโยชน์แบบไหนที่ธุรกิจอื่นไม่ได้
ถ้าเราคิดเรื่องความยั่งยืนและการจัดการขยะตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ อันดับแรกคุณต้องลงมือทำก่อน สอง เมื่อธุรกิจของคุณเติบโตไปพร้อมกับความคิดนี้ คุณก็ได้เป็นเม็ดเงินกลับมา ซึ่งไม่ใช่แค่มาจากการลดต้นทุนค่าฝังกลบ แต่มาจากการบริหารจัดการผลพลอยได้หลังการผลิตและการบริโภค มีกระบวนการที่ครบวงจร หรืออย่างน้อยคุณลดต้นทุนได้เยอะกว่าคู่แข่งที่ไม่ได้ทำ นอกจากนี้เรายังได้มูลค่าในเชิงภาพลักษณ์ของแบรนด์รวมถึงความไว้วางใจ (Trust) จากคู่ค้าและผู้บริโภคอีกด้วย

มองปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้อย่างไร
ยิ่งเราเปิดพรมออกมาดู ยิ่งรุนแรง สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความเชื่อมโยงจากทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เริ่มต้นหรือให้การสนับสนุน จะมีกี่คนที่ทำได้ คือ เขาทำนะ แต่ทำไม่ได้ เพราะว่าการแปรมูลค่าขยะทุกขยะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งแพงกว่าของอย่างอื่นในระดับองค์กรแล้วเจ้านายและทุกคนในองค์กรก็ต้องเปิดใจด้วย เพราะงานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป

ส่วนในระดับประเทศนั้นทั้งกฎหมาย กระบวนการคิด แนวทาง การสร้างเสริมซึ่งกันและกันมันต้องชัดเจนกว่านี้ รวมไปถึงการปลูกฝังคนตั้งแต่ยังเด็ก 

ก้าวต่อไปของบริษัท อาหารเสริม จำกัด คืออะไร
ในเชิงธุรกิจ เราให้ความสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ แต่จะครบขบวนได้ เราต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์ หลัก คือ อาหารสัตว์ และอาหารพืช แต่ในอนาคตเราอาจจะขยายเพิ่มมากขึ้นก็ได้ คุณไม่รู้หรอกว่าขยะและผลพลอยได้จากธุรกิจในเครือมันจะต่อยอดไปในแนวทางไหนได้บ้าง ถ้าเรามองแค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ขายไม่ได้ มันก็จะเหมือนกับเอาของไปวางอยู่บนหิ้ง ไม่ลงห้างสักทีหนึ่ง เราก็จะคอยสอนน้อง ๆ ว่าต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเรื่องการพัฒนาบุคลากร ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ 
 

CREATIVE INGREDIENTS

เคล็ดลับการสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะให้แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่นคืออะไร
ผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งต้องมีหลายฟังก์ชั่น เช่น ครีมทามือที่สกัดจากกากใบชาเขียวก็ต้องบำรุงผิวและเล็บมือด้วย ส่วนวัสดุมวลเบาก็มีคุณสมบัติทั้งกันเสียง และเป็นฉนวนกันร้อนได้ในตัว

มายด์เซ็ตสำคัญที่คนทำงานต้องมี
น้องๆ ในทีม จะระดมไอเดียกันและคิดได้มากกว่าที่เราคิดทุกครั้งแต่ละคนจะดูแลมากกว่า 1 โปรเจ็กต์ ปริมาณคนไม่ใช่สิ่งสำคัญ หัวใจของคนต่างหากที่สำคัญ ถ้าเขาเปิดใจให้กับงานนี้ เขาก็จะทำได้มากกว่าที่ตัวเองคิด และทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ


เรื่อง : ปิยพร อรุณเกรียงไกร I ภาพ : ภีร์รา ดิษฐากรณ์