ฮาวทูทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือปัญหา [เวอร์ชันอินเตอร์ฯ]
Technology & Innovation

ฮาวทูทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือปัญหา [เวอร์ชันอินเตอร์ฯ]

  • 04 Dec 2019
  • 34626

รู้หรือไม่ว่า ขยะในเมืองทั่วโลกแต่ละวันมีน้ำหนักและความใหญ่โตเทียบได้กับมหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramid of Giza)  1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ต่างกันตรงที่ว่ากองขยะพวกนี้ไม่มีใครอยากเข้าไปเยี่ยมชม และจำเป็นต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา ตั้งแต่การอุดตันของท่อระบายน้ำ น้ำท่วม น้ำเสีย ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่ปัญหาโลกร้อนในที่สุด

และเมื่อแนวโน้มที่สหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีประชากรโลกถึง 68% เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเมือง (ปัจจุบันมีจำนวน 55%) ปัญหาขยะที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ธุรกิจการจัดการขยะเฟื่องฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 530 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 จากที่เคยมีมูลค่า 331 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017) เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องหมดไปกับการจัดการขยะ ทำให้หลายเมืองทั่วโลกเริ่มออกมาตรการจัดการกับปัญหานี้อย่างรัดกุม ตลอดจนคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการกับปัญหาขยะในเมืองได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนมากขึ้น

มาดูกันว่าเมืองไหนบ้างที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ซึ่งกำลังช่วยแก้ปัญหาขยะในเมืองให้โลกในวันนี้

โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก
ฮาวทูสกี กำจัดขยะ และผลิตไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กัน

มองเผิน ๆ อาจเห็นเนินเขาใหญ่ที่มีคนมาเล่นสกีกันอย่างสนุกสนานในช่วงฤดูหนาว แต่ลานสกีกลางสวนป่าแห่งนี้กลับเป็นหลังคาของโรงเตาเผาขยะขนาดใหญ่ที่รู้จักกันดีในชื่อ Copenhill หรือที่ชาวเดนมาร์กเรียกว่า Amager Bakke ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ มีความสามารถในการเผาขยะมูลฝอยปริมาณสูงสุด 450,000 ตันต่อปี และแปลงเป็นพลังงานความร้อนให้ครัวเรือนได้ใช้ถึง 72,000 ครอบครัว รวมทั้งผลิตกระแสไฟฟ้าให้ครัวเรือนใช้ได้ถึง 30,000 ครัวเรือน แถมยังไม่ปล่อยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์รบกวนชาวเมือง ไม่ว่าจะภายในโรงงานหรือบนหลังคาที่มีคนมาทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ อย่างไรก็ตาม โรงเผาขยะนี้ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ แต่เมืองโคเปนเฮเกนก็ได้วางแผนติดตั้งระบบดักจับคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป เพื่อเป้าหมายในการเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ภายในปี 2025

©facebook.com/CopenHillUrbanMountain

เมื่อคิดให้ดีแล้วความเจ๋งของโรงเผาขยะแห่งนี้ไม่ใช่แค่เพียงการกำจัดขยะและแปลงเป็นพลังงานให้ชาวเมืองได้ใช้งานเท่านั้น เพราะการตั้งโรงเผาขยะขนาดยักษ์ในเมืองสุดชิคอาจเป็นความคิดที่ไม่เจ๋งนัก เมื่อไม่มีใครอยากจะเสี่ยงอาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่กำจัดขยะ แต่เพราะการออกแบบอันชาญฉลาดให้ Copenhil เป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปิดให้ประชาชนเดินทางมาพักผ่อนและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเพลิดเพลิน ทำให้ภาพลักษณ์ของโรงเผาขยะที่ใครๆ ก็ร้องยี้ออกมาแตกต่างโดยสิ้นเชิง โดยปัจจุบันโรงเผาขยะ Copenhill ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กหรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกรุงโคเปนเฮเกน

©SLA Architects

โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ “Copenhill” เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวเดนมาร์ก “บราจก์อินเกลส์” (Bjarke Ingels) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิประเทศของเมืองโคเปนเฮเกนในเขต Amager ซึ่งไม่มีภูเขา โดยบราจก์ได้กล่าวไว้ว่า “ถึงเราจะไม่มีภูเขา แต่เรามีกองขยะเป็นภูเขา” เขาจึงทำการออกแบบหลังคาของโรงงานให้เป็นทรงลาดเอียดเพื่อทำเป็นลานสกีในฤดูหนาว มีเส้นทางเดินป่าในฤดูร้อน พร้อมลู่วิ่ง สวนสาธารณะสไตล์นอร์ดิก และหน้าผาจำลอง ไว้สำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้งของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว

โซล, เกาหลีใต้
ฮาวทูทิ้งอย่างสมาร์ตและไม่เสียเปล่า

©ecubelabs.com

เมื่อเมกะซิตี้อย่างกรุงโซลเคยประสบปัญหาถังขยะล้นตามท้องถนน เทคโนโลยีถังขยะอัจฉริยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ “CleanCUBE” ที่สามารถบีดอัดขยะให้เล็กลงและจุขยะได้มากกว่าถังขยะทั่วไปถึง 5 เท่าจึงถูกนำมาใช้งาน พร้อมเทคโนโลยีแจ้งเตือนถังขยะเต็มแบบเรียลไทม์ ทำให้กรุงโซลสามารถลดค่าใช้จ่ายของการเก็บรวบรวมขยะในเมืองได้ถึง 83% และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิลขยะได้อีก 46% แนวคิดการบีดอัดขยะด้วยโซลาร์เซลล์นี้มาจากบริษัทท้องถิ่นของกรุงโซล “Ecube Labs” ที่ใช้การเลียนแบบพฤติกรรมการใช้มือหรือเท้ากดขยะเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะล้นออกจากถังนั่นเอง

©ecubelabs.com

นอกจากระบบการจัดการกับขยะทั่วไปที่แสนจะชาญฉลาดแล้ว การจัดการกับขยะอาหารก็เจ๋งไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เพราะกรุงโซลก็มีถังขยะอัจฉริยะสำหรับรีไซเคิลขยะอาหารโดยเฉพาะ ช่วยลดปัญหาขยะอาหารในเมืองลงไปถึง 47,000 ตัน ใน 6 ปี และช่วยรีไซเคิลขยะอาหารจาก 2% เป็น 95% โดยถังขยะที่ว่านี้ได้ถูกติดตั้งทั่วกรุงโซลจำนวน 6,000 เครื่อง มีวิธีการทิ้งก็คือ ก่อนจะทิ้งขยะเศษอาหาร ประชาชนจะต้องชั่งน้ำหนักขยะด้วยเครื่องชั่งเก็บข้อมูลที่มากับถังขยะซึ่งจะมีการเรียกเก็บเงินกับผู้ทิ้งต่อไปจากข้อมูลในบัตรประชาชน วิธีการนี้จะช่วยลดน้ำหนักขยะอาหารที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำถึง 80% และช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบในการจัดการกับขยะอาหารไปได้ถึง 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยขยะอาหารที่ประชาชนทิ้งจะถูกนำไปทำเป็นน้ำมันไบโอ ก๊าซชีวภาพ รวมทั้งปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในการเกษตรของครัวเรือนต่อไป

เนเธอร์แลนด์
ฮาวทูสร้างภูเขาไฟจำลองจัดการ e-waste

©venturebeat.com

แน่นอนว่าเนเธอร์แลนด์ไม่เคยทำให้ผิดหวังในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ล่าสุดไอเดียของกลุ่มนักศึกษาที่มีอายุเพียง 20 กว่า ก็ได้นำเสนอแนวคิดสุดล้ำในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ที่เลียนแบบกระบวนการเกิดภูเขาไฟเพื่อใช้ย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติให้กลับคืนเป็นธาตุตั้งต้นและนำกลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง ไอเดียดังกล่าวริเริ่มมาจากดิก ฟาน เมียร์ (Dirk van Meer) เด็กหนุ่มที่หลงใหลในภูเขาไฟมาตั้งแต่จำความได้ โดยเขาและทีมงานได้คิดค้นเครื่องปฏิกรณ์ภูเขาไฟจำลอง ที่สามารถย่นย่อเวลาการเกิดระเบิดของภูเขาไฟซึ่งอาจใช้เวลานับล้านปี ให้สามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ใน 3 อาทิตย์

©Bart van Overbeeke

โดยหลักการพื้นฐานของการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่องปฏิกรณ์ภูเขาไฟจำลองก็คือ การใช้ความร้อนด้วยกระแสไฟฟ้าที่ 1,600 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิจุดชนวนโลหะและเติมสารเคมีที่ช่วยเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดการเผาไหม้ที่ทำให้ทุกอย่างหลอมละลาย เกิดเป็นลาวาที่ประกอบด้วยธาตุองค์ประกอบพื้นฐานที่มนุษย์สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่แม้ไอเดียที่ว่าจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจะประสบผลสำเร็จในสเกลใหญ่อย่างการตั้งเป็นโรงงานรีไซเคิล แต่ไอเดียนี้ก็ได้ถูกลงทุนแล้วโดยบริษัทด้านโลหะชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ และบริษัทข้ามชาติจากนอร์เวย์ด้วยเงินทุนแรกที่ 17.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งเป็นโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังได้ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2020 

ที่มาภาพ : Kaweepat Phuycharoen

ที่มา:
บทความ “68% of the world population projected to live in urban areas by 2050, says UN” โดย un.org
บทความ “Could artificial volcanos solve the e-waste recycling problem?” โดย venturebeat.com
บทความ “How cities are using technology to solve their trash problems” โดย edition.cnn.com
บทความ “South Korea once recycled 2% of its food waste. Now it recycles 95%” โดย weforum.org
ecubelabs.co

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ