ถึงเวลาอาทิตย์ฉายแสงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ SOLAR VENGERS Showcase โดย CEA x ERC
Technology & Innovation

ถึงเวลาอาทิตย์ฉายแสงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ SOLAR VENGERS Showcase โดย CEA x ERC

  • 30 Jan 2020
  • 22596

มาสัมผัสประสบการณ์นวัตกรรมต้นแบบจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 12 ผลงานจากโครงการ Solar Vengers หรือ “โครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยการรวมพลังความสามารถจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา (Co-creation)  ทั้งนักออกแบบ วิศวกร นักวิจัย นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนผู้สนใจ ที่เป็นเหมือนเหล่า Vengers ที่มาร่วมระดมสมองเพื่อพัฒนานวัตกรรมต้นแบบจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ร่วมกับที่ปรึกษาทั้ง 3 ทีม ได้แก่

CreativeVenger 
โดย พงศธร ละเอียดอ่อน ผู้อำนวยการบริหาร FiF DESIGN studio 

สร้างแนวคิดใหม่จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองและเชื่อมโยงพลังงานสะอาดกับเมืองอย่างเป็นระบบ 

กลุ่มที่ 1 SolarAirBlox ‘ระบบกรองอากาศ ฝุ่น และควันที่อยู่ในรูปแบบชิ้นส่วนโมดูลาร์ (Modular)’ สามารถประกอบเป็นโครงสร้างสำหรับพื้นที่สาธารณะ สามารถรื้อถอนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนเมืองสำหรับการใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้งด้วยสภาพอากาศที่สะอาด กระตุ้นการตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาด และการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจสร้างสรรค์ขนาดเล็ก

กลุ่มที่ 2 SolarPOH ระบบพัฒนาบริการบนท่าเรือที่อำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้สัญจรทางน้ำ ส่งเสริมความปลอดภัยที่มากขึ้น ผ่านการออกแบบนวัตกรรมบริการ 4 ส่วนหลัก

  • Cooling System ระบบระบายความร้อนในพื้นที่พักคอยท่าเรือ
  • Information System ป้ายชื่อท่าเรือ ระบุตำแหน่งปัจจุบันของเรือ พร้อมแสดงข้อมูลด้านความปลอดภัย 
  • Ticketing System ระบบนับจำนวนผู้โดยสารอัตโนมัติ และประกาศรอบการเดินเรือ
  • Safety System อุปกรณ์ชูชีพในรูปแบบกำไลข้อมือที่มีระบบแจ้งเตือนแบบระบุตำแหน่งเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมติดตั้งยางกันกระแทก และระบบส่องสว่างบริเวณขอบท่าเรือ ป้องกันการพลัดตก

กลุ่มที่ 3 Inno Solar Avenue โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่สามารถเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ภายใต้แนวคิด ‘Living disruption with 3C:  Community, Culture, Capability’ ด้วยการออกแบบพื้นที่ในชุมชน 5 ส่วนที่สามารถปรับการใช้งานแต่ละส่วนตามบริบทของแต่ละพื้นที่

  • Innovative Solar แหล่งผลิตพลังงานหลักในพื้นที่และเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
  • Mobile Meeting  พื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงาน ประชุม และอ่านหนังสือ
  • Green Creation  พื้นที่ให้เช่าเพื่อปลูกพืชสร้างรายได้
  • Family Pavilion พื้นที่ทำกิจกรรมสันทนาการในครอบครัว และพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านค้าและโฆษณา
  • Dream Theatre พื้นที่แสดงความสามารถของคนรุ่นใหม่ และให้เช่าสำหรับจัดงานเพื่อความบันเทิง

กลุ่มที่ 4 พฤกษาแห่งพลัง ต้นไม้ที่รวบรวมพลังทั้ง ‘น้ำและไฟ’ ที่บริเวณยอดช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อม และอำนวยความสะดวกให้คนเมืองสามารถออกมาใช้ชีวิต ออกกำลังกายในพื้นที่กลางแจ้งได้ 

ระบบกักเก็บและกรองน้ำจากน้ำฝน เพื่อนำมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้โดยรอบ ให้ความเย็นแก่ผู้ใช้งานพื้นที่ด้วยระบบไอน้ำ และการกรองน้ำสำหรับดื่ม และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้ในระบบส่องสว่างยามค่ำคืน พร้อมเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่อเติมในพื้นที่ด้านล่าง

DesignVenger 
โดย พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์  นักวิจัยรับเชิญ/ที่ปรึกษาอาวุโส Center of Innovation for Society, KMUTT

ยกระดับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างไร้ขีดจำกัด จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ร่วมกันออกแบบนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับครัวเรือน สังคม ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม

กลุ่มที่ 1 Trident (Energize the Ocean Resource) ‘ระบบเติมพลัง คืนชีวิตให้กับโลกใต้ท้องทะเล’ ประกอบด้วยทุ่นลอยน้ำอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำงานร่วมกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย

  • Ocean Condition Monitoring ส่วนเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลแบบเรียลไทม์ เช่น คุณภาพและลักษณะคลื่นน้ำ สภาพอากาศ พฤติกรรมสัตว์น้ำ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์การใช้ทรัพยากร แนวโน้มภัยพิบัติทางทะเล การเตรียมตัวของนักประดาน้ำ และสร้างการรับรู้สถานการณ์ใต้ท้องทะเล 
  • Ocean Restoration ส่วนที่ใช้เทคโนโลยีคลื่นเสียงและแสงสำหรับดึงดูดแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลา ดึงดูดให้ปลาหลากชนิดมาอาศัยในบริเวณเดียวกัน สร้างให้เกิดความหลากหลายของสัตว์น้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
  • Ocean Cleaning ระบบดูดซับไมโครพลาสติกที่เจือปนอยู่ในน้ำทะเล

กลุ่มที่ 2 Transolarity ‘จุดจอดจักรยานยนต์ไฟฟ้า’ ทำหน้าที่เชื่อมต่อท่าเรือ ท่ารถจักรยานยนต์ เป็นจุดรวมพลสำหรับวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้าง (e-Bike) พร้อมบริการติดตั้งจุดชาร์จพลังงาน มีพื้นที่สำหรับรถเข็นขายอาหาร เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งในรูปแบบขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงรถบริการรับ-ส่งอาหาร สินค้าออนไลน์

กลุ่มที่ 3 Rapid Energy Solar Kit ‘ชุดโมดูลาร์สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์’ เน้นการออกแบบโครงสร้างที่สามารถเคลื่อนที่และขนย้ายได้ง่าย สามารถขนส่งผ่านระบบขนส่งทั่วไป ติดตั้งในพื้นที่และใช้งานได้ทันที เป็นนวัตกรรมที่ส่งให้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่ 4 SolarScan App ‘ระบบค้นหาอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ออนไลน์’ รวบรวมช่องทางการซื้ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ใช้งานสามารถระบุความต้องการ โดยระบบจะช่วยคัดกรองตัวเลือก แนะนำสิทธิพิเศษ ช่องทางการซื้อ พร้อมคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุน เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรวบรวมกลุ่มผู้สนใจพลังงานสะอาด สร้างเป็นเครือข่ายสังคมทางออนไลน์  (SolarScan clean-energy community) เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ร่วมกัน

MakerVenger 
โดย กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FabCafe Bangkok

นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน สร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้งานพลังงานสะอาดที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ควบคุมได้ด้วยตนเอง และสร้างคุณค่าใหม่ที่ตอบโจทย์ความเป็นได้เชิงธุรกิจแห่งอนาคต

กลุ่มที่ 1 Foresee ‘หมวกนิรภัยอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์’ ช่วยให้การขับขี่จักรยานยนต์บนท้องถนนปลอดภัยมากขึ้นจากการใช้งาน 3 ส่วนหลัก

  • Bluetooth Navigator ระบบเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ช่วยบอกทิศทางด้วยเสียง
  • Blind Spot Sensor สัญญาณตรวจจับวัตถุและยานพาหนะที่เข้าใกล้ พร้อมระบบแจ้งเตือนด้วยเสียง
  • LED Signal Light ไฟสัญญาบอกทิศทางการเลี้ยวบนหมวกนิรภัย สื่อสารกับผู้ขับขี่รายอื่นบนท้องถนน

กลุ่มที่ 2  Sol(y)ar  ‘แผ่นพื้นโมดูลาร์เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ (Modular Pave)’ ออกแบบให้รูปแบบการปูแผ่นพื้นขึ้นอยู่กับการได้รับแสงอาทิตย์ตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีความเข้มของแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาต่างกัน โดยตำแหน่งพื้นที่ที่แสงอาทิตย์เข้มข้นสูงจะเป็นตำแหน่งของการปูพื้นโซลาร์เซลล์ ส่วนตำแหน่งพื้นที่แสงอาทิตย์เข้มข้นต่ำจะเป็นตำแหน่งการปลูกพืชพรรณ ถือเป็นการนำพลังงานสะอาดมาผสมผสานกับหลักการออกแบบภูมิทัศน์ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์พลังงานทางเลือกในระดับที่อยู่อาศัย ลดการลงทุนสาธารณูปโภคส่วนกลาง และส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

กลุ่มที่ 3 Sound Plant ‘ระบบปลูกพืชในร่มด้วยแสงและเสียง’ สร้างผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก และนำผลผลิตมาใช้ได้ในทันที ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ๊นท์ (carbon footprint) จากกระบวนการขนส่ง โดยมีแสงและเสียงเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนในพื้นที่โดยรอบ รื่นรมย์ไปกับธรรมชาติและเสียงเพลงที่ประพันธ์จากแสงแดด และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สดใหม่เพื่อธุรกิจร้านอาหาร หรือสปาเพื่อสุขภาพ

กลุ่มที่ 4 Cactus ‘เครื่องดริปน้ำผลไม้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์’ ต่อยอดคุณค่าอาหารแห้งและผลไม้ไทยซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของประเทศ ในอดีตใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากแห้งเท่านั้น นำมาสร้างประสบการณ์ใหม่โดยเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเลือกส่วนผสมของเครื่องดื่ม (customised mix) ผ่านทางแอปพลิเคชัน จากนั้นน้ำร้อนในระบบจะไหลผ่านผลไม้ตามชนิดที่เลือก ผสมกันเป็นชาผลไม้หลากหลายรสชาติตามสูตรของแต่ละคน 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังสร้างสรรค์ ด้วยการร่วมโหวตผลงานที่มีศักยภาพเพื่อตัดสินว่า 2 ทีมไหนจะได้ไปต่อจาก 12 ผลงานแสงแรงกล้าที่จะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณ Creative Space และ Rooftop Garden ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ