ความสมดุลแบบแนวตั้ง
Technology & Innovation

ความสมดุลแบบแนวตั้ง

  • 04 Feb 2020
  • 8242

ในปี 2050 สองในสามของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง เมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางจะมีประชากรหนาแน่นมากขึ้น อาคารสูงสำหรับอยู่อาศัยจึงเป็นทั้งคำตอบและความท้าทายสำหรับการบริหารเมืองยุคใหม่ ในการออกแบบตัวอาคารและการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของคนที่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงปากท้องของประชากรที่เพิ่มขึ้น

หนังสือ Vertical Farm Feeding the World in 21th Century เขียนโดย ดร.ดิกสัน เดส์ปอมมิเยร์ (Dr. Dickson Despommier) และมายอรา คาเทอร์ (Majora Carter) ไม่ได้วาดหวังแค่การเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในเมืองให้ได้ปริมาณเยอะเหมือนตึกสูงที่ใส่คนเข้าไปได้จำนวนมาก แต่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ พลังงาน และการถางป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นทั้งผลและต้นกำเนิดของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน 

ฟาร์มแนวตั้งจึงกลายเป็นเป้าหมายแห่งการช่วยโลกและธุรกิจที่สร้างกำไรสำหรับกลุ่มเทคสตาร์ตอัพ ไปจนถึงห้องแล็บและนักออกแบบทั่วโลก ในการทำให้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดอย่างเช่นภายในอาคาร ตู้คอนเทนเนอร์ หรือลานจอดรถ กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกที่ทำให้พืชสามารถเติบโตได้ตลอดทั้งปี โดยที่ยังคงคุณค่าของสารอาหาร ด้วยนวัตกรรมทั้งแสง เสียง อุณหภูมิ และปุ๋ยชีวภาพ แม้จะไม่มีดินหรือแสงอาทิตย์เพียงพอก็ตาม และเมื่อเร็ว ๆ นี้ งานวิจัยสำหรับการปลูกพืชในพื้นที่จำกัดยังโน้มเอียงไปในแนวทางของตัดแต่งยีนส์ โดยนักวิจัยจาก Cold Spring Harbor Laboratory and HHMI Investigator แซค ลิปป์แมน (Zach Lippman) ได้คิดค้นการปลูกมะเขือเทศที่ให้ผลดกคล้ายกับองุ่น ด้วยการตัดแต่งยีนส์ให้เกิดการแตกช่อเหมือนต้นองุ่นที่ปลูกในไร่ และมีขนาดเล็กลงเพื่อลดเวลาเติบโตเหลือเพียง 40 วันก็พร้อมที่จะเก็บกินได้ จึงทำให้รอบการผลิตเพิ่มมากขึ้น 

จากห้องทดลองขยายไปสู่ระบบนิเวศอื่น ๆ เช่น แนวคิดของ STUDIO NAB ในฝรั่งเศสที่นำเสนอแนวคิด “ซูเปอร์ฟาร์ม” ในรูปแบบของตึกสูง 6 ชั้น ภายในอาคารไม่ได้มีแค่ผักและสมุนไพร แต่ยังรวมถึงผึ้ง แมลงที่กินได้ และเลี้ยงปลาไปด้วย โดยอาคารนี้ตั้งอยู่ในน้ำเพื่อลดการใช้พื้นที่บนดินและสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนห้องควบคุมการปลูกพืชภายใน และที่สำคัญอาคารนี้ต้องอยู่ไม่ไกลจากเมือง เพื่อให้การขนส่งอาหารไปยังร้านค้า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด

แม้ว่าอาคารที่มีนิเวศครบวงจรเช่นนี้จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ แต่ฟาร์มแนวตั้งที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็เริ่มทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดใช้ยาฆ่าแมลงและน้ำ เมื่อรวมกับพื้นที่การเกษตรในเมือง (Urban Farm) ที่เป็นการเพาะปลูกแบบใช้น้ำและอากาศปกติ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 800 ล้านคนทั่วโลกที่ปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพร และเลี้ยงสัตว์ในเมือง ซึ่งผลิตอาหารได้ถึงร้อยละ 15-20 ของการผลิตอาหารทั้งโลก  

อันที่จริงการใช้ชีวิตแนวตั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่จำกัดอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ แต่การจะทำให้พื้นที่ที่มีจำกัดนั้นตอบปัญหาตั้งแต่ความต้องการพื้นฐานในการเป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่แค่ซุกหัวนอน ความอิ่มท้องระดับครัวเรือน และเพื่อนร่วมโลกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยที่ไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายสำหรับนักสร้างสรรค์ยุคใหม่ที่ต้องค้นหาแนวทางในการทำให้ทั้งคนและระบบนิเวศสามารถอยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุด  

ที่มาภาพ : studionab.fr

มนฑิณี ยงวิกุล
บรรณาธิการอำนวยการ