Community Resilience ชุมชนยืดหยุ่น: แนวคิดการออกแบบร่วมกับชุมชนเพื่อรับมือวิกฤต
Technology & Innovation

Community Resilience ชุมชนยืดหยุ่น: แนวคิดการออกแบบร่วมกับชุมชนเพื่อรับมือวิกฤต

  • 17 Mar 2020
  • 32390

“ผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” ทฤษฎีด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ชาร์ลส์ ดาร์วินค้นพบนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤต 

เช่นเดียวกับในแวดวงนักออกแบบ คำว่า 'ยืดหยุ่น' (Resilience) เริ่มกลายเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่นักออกแบบยึดเป็นหลักคิดในการทำงานเพื่อชุมชน อาจเพราะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักว่า ความสามารถของชุมชนในการรับมือวิกฤตการณ์คือหัวใจที่จะทำให้คน ชุมชน เมือง และประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

คาร์โล บรานซาเกลีย (Carlo Branzaglia) ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการออกแบบและกลยุทธ์การสร้างนวัตกรรม ให้คำจำกัดความกับหลากหลายโครงการที่ผ่านมาของเขา ซึ่งทำร่วมกับภาครัฐและชุมชนอย่างง่ายๆ ว่า 'การออกแบบเพื่อชุมชน' (Design for Community) 

โครงการเหล่านี้เป็นการนำวิธีคิดเชิงออกแบบมาใช้ในการทำงานกับชุมชน เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมในอิตาลี เช่น การฟื้นฟูเมืองโมเดน่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในปี 2012, โครงการ ‘Bargellino Smart City’ เพื่อการออกแบบพื้นที่เชิงอุตสาหกรรมในโบโลญญ่า, โครงการพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์ ‘3C: Calderara Comunita Creativa’ และโครงการออกแบบระบบสาธารณสุขในเขตกอร์ลาของมิลาน ฯลฯ 

ในโอกาสที่คาร์โลได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Designing Resiliency: Design Coping with Communities” ที่งาน Bangkok Design Week 2020 ในฐานะตัวแทนจากสถาบันด้านการออกแบบแห่งยุโรป (Istituto Europeo di Design: IED) Creative Thailand จึงถือโอกาสนี้ สัมภาษณ์เพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดการออกแบบกับความยืดหยุ่นในชุมชน รวมถึงวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบและคนในชุมชนเพื่อรับมือกับวิกฤต...เราเชื่อว่าคำอธิบายและคำแนะนำจากประสบการณ์ของเขาจะเป็นประโยชน์สำหรับนักออกแบบ รวมถึงคนทำงานเพื่อชุมชนไม่มากก็น้อย

คำว่า Resilience สำหรับนักออกแบบหมายถึงอะไร เกี่ยวเนื่องกับการทำงานเพื่อชุมชนในช่วงวิกฤตอย่างไร
“เดิมทีในทางวัสดุศาสตร์ คำว่า Resilience หมายถึงความสามารถของวัสดุแต่ละชนิดในการดูดซับพลังงานที่มากระทบโดยที่วัสดุไม่เสียรูปทรง ต่อมานักจิตวิทยาก็ได้นำคำนี้มาใช้เพื่ออธิบายถึงศักยภาพทางจิตใจของมนุษย์ ในการปรับตัวและฟื้นคืนกลับมามีความสุขได้อีกครั้งหลังเผชิญกับเหตุการณ์ร้าย ๆ หรือสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต ทีนี้ถ้ามองในระดับชุมชน ทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวหรือวิกฤตเศรษฐกิจ ชุมชนได้รับผลกระทบ ก็เลยเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือ แก้ปัญหา และประคับประคองกันในยามวิกฤต”

หมายความว่าแนวคิดนี้ต้องการให้คนในชุมชนพึ่งตัวเองให้ได้เมื่อเกิดวิกฤต อย่างนั้นหรือเปล่า
“จริงอยู่ว่าเวลาเกิดวิกฤต เราคาดหวังให้ชุมชนจัดการกับปัญหาได้เองในบางส่วนอยู่แล้ว เพราะบางครั้งวิกฤตที่เจออาจจะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย และจริงๆ แล้วชุมชนเองก็มีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาได้ด้วยวิธีที่ฉลาดและได้ผล (tactical and practical) นะครับ แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า มันเป็นเรื่องยากมาก หากชุมชนต้องวางแผนกลยุทธ์ในการรับมือกับปัญหาในระยะยาวด้วยตนเอง ดังนั้น หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อบริหารจัดการวิกฤตในระยะยาว ไม่อย่างนั้นคุณก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง”

ดูเหมือนว่าขอบเขตของ Resilient Design จำกัดอยู่ที่การออกแบบสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่หรือเปล่า
“พอพูดว่าการออกแบบ บางคนอาจจะคิดถึงแต่สถาปัตยกรรม ชุมชนที่ผมเคยไปจัดเวิร์กช็อปให้ครั้งหนึ่งก็คิดแบบนั้น แต่หลังจากเข้าร่วมในกระบวนการเวิร์กช็อปแล้ว พวกเขาก็ตระหนักว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของสถาปัตยกรรม แต่มันยังรวมถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย”

“หลายคนมักจะสับสนเวลาเราพูดถึงโครงการซ่อมแซม (Restoration) กับโครงการฟื้นฟู (Regeneration) เมือง ซ่อมแซมอาจจะหมายถึงแค่สถาปัตยกรรมและพื้นที่ในชุมชน แต่ถ้าฟื้นฟู นั่นหมายความว่าคุณต้องการทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ผู้คนกลับมาเริ่มต้นใช้ชีวิตได้ใหม่อีกครั้ง ดังนั้น หัวใจหลักของการทำโครงการออกแบบเพื่อชุมชน (Design for Community) ก็คือการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่”

“เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งโครงการฟื้นฟูชุมชนพยายามจะซ่อมแซมพื้นที่ โดยไม่ได้ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลย ทั้ง ๆ ที่จุดประสงค์สำคัญของการทำโครงการแบบนี้ คือการทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมที่พวกเขาเคยทำเหมือนเดิม ดังนั้นสิ่งที่ต้องไม่ลืมอย่างยิ่งคือการพูดคุยและดึงคนเข้ามามีส่วนในกระบวนการทำงาน กระตุ้นให้พวกเขาดูแลพื้นที่ที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่”

ถ้า ‘คน’ คือกุญแจสำคัญในการออกแบบวิธีแก้ปัญหา คุณพอจะมีคำแนะนำอะไรบ้างในการสร้างความเข้าใจเรื่อง Design Thinking กับคนในชุมชน และดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ
หนึ่งเลยคือคุณต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ (Build engagement) คุณต้องสร้างพื้นที่และบรรยากาศให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่อย่าลืมว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคน (People Engagement) กับปฏิสัมพันธ์ทางร่างกาย (Physical Engagement) ไม่เหมือนกันนะครับ คนยุคนี้มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ค่อนข้างมาก แต่ถ้าคุณต้องการให้คนในชุมชนลงมือ คุณต้องจัดกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้พวกเขาได้มาเจอหน้า และมีปฏิสัมพันธ์กันจริง ๆ ผมบอกเลยว่า การได้พบกันในโลกจริง 1 ครั้ง ได้ผลมากกว่า การพบกันในโลกเสมือน 1,000 ครั้ง”

สองคือมองหาตัวแทนไร้สังกัด (Find Non-institutional influencers) แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่สามารถเข้าไปทำความรู้จักคนในชุมชนจำนวนมาก และการดึงคนมาเข้าร่วมกิจกรรมก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ผมแนะนำว่าให้มองหาคนหรือกลุ่มคนที่เป็นหน่วยงานอิสระในชุมชน และได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ วิธีนี้จะทำให้คุณทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะการพูดคุยกับคนหนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่มนั้น จะเหมือนกับได้คุยกับคนจำนวนมาก เพราะพวกเขาคือตัวแทนของชุมชน และเป็นคนที่คนส่วนใหญ่จะเชื่อ”

และสามคือการสร้างความเข้าใจผ่านการเล่น (Let them play) คุณควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เล่นสนุกกับกระบวนการ อาจเป็นการจัดกิจกรรมถ่ายภาพ วาดการ์ตูน เขียนนิยาย หรืออาจจะมีแบบฝึกหัดง่าย ๆ ให้พวกเขาได้ร่วมกันทำอย่างการเต้นก็ได้ ผมคิดว่าดนตรีมีประโยชน์มาก ๆ 

ผมเคยเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่เรียนจบในปีเดียว  เราต้องการให้นักศึกษาทำงานร่วมกันทันทีโดยที่ไม่เสียเวลามากเกินไปในการอารัมภบท แต่ถ้าเราให้พวกเขานั่งอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วมีคอมพิวเตอร์ให้คนละตัว เขาจะไม่คุยกัน หนึ่งในแบบฝึกหัดที่เราใช้คือแบ่งพวกเขาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกต้องสอนอีกกลุ่มเต้นซัลซ่า ส่วนอีกกลุ่มต้องสอนเต้นวอลส์ แล้วพวกเขาจะเริ่มทำงานโดยใช้ Design Process โดยธรรมชาติเลย เพราะพวกเขาจะเริ่มค้นหาว่าการเต้นแต่ละแบบคืออะไร ตั้งเป้าหมายในการทำงาน แบ่งงานเป็นส่วน ๆ ว่าให้ใครทำอะไรบ้าง ทำการทดลอง เตรียมตัวสอน ระหว่างนั้นเราก็จะบอกให้พวกเขาหยุด แล้วเข้าไปถามว่าทำอะไรไปบ้าง ขั้นตอนเป็นยังไง พวกเขาก็จะค้นพบว่ากำลังทำ Design Process โดยที่ไม่รู้ตัว 

และสุดท้ายพอต้องพรีเซนต์งาน เราก็บอกพวกเขาว่า คุณต้องพรีเซนต์โดยหลับตาตลอดเวลา หรือห้ามพูดอะไรออกมาเลยแม้แต่คำเดียว เพราะถ้าเทียบกับการทำงานจริง ๆ เหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ในช่วงวิกฤต ซึ่งการทำงานออกแบบก็มักเป็นแบบนั้นแหละ คือจะมีสถานการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนกลยุทธ์ที่เราวางไว้ เช่น แผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน หรือมีการปิดกั้นพรมแดนระหว่างเมือง ฯลฯ ดังนั้น การเล่นกับสถานการณ์จำลองแบบนี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น"

แล้วถ้าบางคนไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการล่ะ
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ คนบางกลุ่มอาจจะยังไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงแรก แต่หลังจากได้เห็นผลลัพธ์ของแล้ว พวกเขาถึงจะเริ่มสนใจ นอกจากนี้วิธีที่เราสื่อสารออกไปก็สำคัญ ยกตัวอย่างโครงการ C3 เราอยากให้กลุ่มวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการด้วย แต่ตอนนั้นพวกเขากำลังเล่นสเก็ตอยู่ในสนาม เราก็ต้องปรับวิธีสื่อสาร เช่นอาจจะอธิบายว่าเราอยากจะลองดูว่าจะทำอะไรในพื้นที่สนามตรงนี้ได้บ้าง เพื่อให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยง ถ้าพูดแบบนี้อาจจะมีบางคนเริ่มสนใจ” 

เรื่อง : ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ