MASK for ER: หน้ากากทางเลือกป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา
Technology & Innovation

MASK for ER: หน้ากากทางเลือกป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา

  • 01 Apr 2020
  • 25840

“หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ไหม” คงเป็นคำถามในใจของใครหลายคน

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่สามารถกระจายตัวและแพร่ผ่านละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บุคลากรและประชาชนทั่วไปต้องการอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการป้องกันโรคติดต่อชนิดนี้อย่าง “หน้ากากอนามัย” เพิ่มมากขึ้น จนทำให้โรงงานมีกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน โดยเฉพาะการนำไปใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใช้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 

เวิร์กช็อป “MASK for ER” โดย FabCafe Bangkok เมื่อวันที่ 14–15 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงถูกจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับฟังปัญหาจากหน่วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (ER) และร่วมกันนำเสนอแนวความคิดในการพัฒนาหน้ากากอนามัยในสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ โดยมี คุณหมอต้องตา (อ. พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล) จากหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมแบ่งปันถึงประสบการณ์จริงจากห้องฉุกเฉิน เกี่ยวกับการรับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และความจำเป็นของอุปกรณ์พื้นฐานในการรักษา

ไม่ควรใช้หน้ากากซ้ำ
จากคำถาม “หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ไหม” คุณหมอต้องตาได้ให้คำตอบว่า “สำหรับในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ปกติทุกอย่างควรจะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดเช่นนี้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการดูแลเคสตั้งแต่ผู้ป่วยเบาไปจนถึงผู้ป่วยหนักทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน ไปจนถึงอุปกรณ์ในการใส่เครื่องช่วยหายใจอย่าง HEPA Filter จะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในถังแยกขยะติดเชื้อ เนื่องจากความสะอาดของการใช้เครื่องมือทางการแพทย์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และแม้ว่าการใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นจะช่วยป้องกันการติดต่อผ่านเชื้อโรค แต่ผลกระทบที่ตามมาก็คือทำให้ “อุปกรณ์ไม่เพียงต่อความต้องการในการใช้งาน” และ “ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น” 

หน้ากากที่สวมใส่ได้นานขึ้น
คุณหมอต้องตากล่าวเสริมอีกว่า “บุคลากรทางการแพทย์ใส่แมสทำงานทั้งวันไม่ได้ มันร้อนและอึดอัดมาก” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทดลองพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ กับหน้ากากอนามัย โดยมีเป้าหมายคือ 1.) จะต้องเป็นหน้ากากที่นำไปฆ่าเชื้อแล้วใช้ซ้ำได้ และ 2.) ต้องเป็นหน้ากากที่ผู้สวมใส่สามารถใส่หายใจได้สะดวกทั้งวัน เมื่อได้โจทย์ดังนี้ หลังจากรวบรวมและพัฒนารูปแบบของโครงสร้างหน้ากากให้กระชับเหมาะกับรูปหน้าแล้ว ส่วนต่อมาคือการค้นหา “วัสดุ” ที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นตัวกรองอากาศ ที่นอกเหนือจะต้องกรองขนาดอนุภาคเพื่อป้องกันการซึมผ่านของเชื้อไวรัสได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องทดสอบก็คือความสามารถในการยอมให้อากาศไหลผ่าน (ตัวชี้วัดแรงต้านทานการหายใจ) เนื่องจากผู้ใส่ต้องหายใจเข้าและออกตลอดเวลา หากวัสดุที่นำมาใช้มีการต้านทานมากเกินไป จะทำให้ต้องใช้แรงในการหายใจมากขึ้น ความร้อนจากลมหายใจจะไม่สามารถระบายออกไปภายนอกได้ เป็นผลให้ผู้สวมใส่รู้สึกเหนื่อยง่ายและสวมใส่ได้ไม่นาน 

เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเข้ามามีส่วนร่วมกับวงการแพทย์
ภายในงานยังมีการระดมความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคตหากมีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้น โดยคุณหมอต้องตาบอกว่า “นอกจากหน้ากากอนามัย ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจ รวมไปถึงชุดตรวจคัดกรองไวรัส ระบบสแกนตรวจวัดอุณหภูมิ และเตียงชั่วคราวสำหรับรองรับคนไข้” จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับกลุ่ม Maker ที่จะเป็นกองกำลังสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือให้กับหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ที่เหล่า Maker สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบของวาล์วช่วยหายใจ (Emergency Valves for Respirators) หน้ากากและแว่นตาสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติได้

ทุกอย่างต้องผ่าน อย.
อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นต้นแบบได้แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผลงานต้นแบบนั้นจะได้รับการยอมรับให้นำไปใช้กับผู้ป่วยจริง เพราะผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่จะใช้กับมนุษย์ต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบต่าง ๆ โดยเฉพาะจากสำนักงานคณะกรรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม Maker ยังไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ทันที ร่วมกับการที่ยังไม่มีผลการทดสอบและงานวิจัยที่รองรับโรคโควิด-19 มากนัก ทำให้แนวทางการดูแลรักษา รวมไปถึงกระบวนการพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงยังไม่สมบูรณ์
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากที่มีความพิเศษมากแค่ไหน หากใช้งานไม่ถูกต้อง ก็คงเป็นได้เพียงแค่ “เครื่องราง” ที่จะทำให้ผู้ใส่รู้สึกปลอดภัยเท่านั้น ที่สำคัญการใส่หน้ากากเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นทางออกของปัญหา แต่การเรียนรู้ที่จะดูแลสุขอนามัยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อกลับเป็นสิ่งสำคัญกว่าที่พึงปฏิบัติควบคู่กันไปในเวลานี้

ที่มา : สรุปเวิร์กช็อป “MASK for ER” วันที่ 14 - 15 มีนาคม 2563 โดย FabCafe Bangkok และบทความ “3D printers fabricate emergency valves for ventilators to keep coronavirus patients breathing” โดย Jennifer Hahn จาก DEZEEN

เรื่อง :  มนต์นภา ลัภนพรวงศ์