พัทน์ ภัทรนุธาพร : Go Beyond The Boundaries After Covid-19
Technology & Innovation

พัทน์ ภัทรนุธาพร : Go Beyond The Boundaries After Covid-19

  • 01 Jun 2020
  • 18403

พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร เป็นนักนวัตกรรมและนักศึกษาปริญญาโท-เอกที่ MIT Media Lab สถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เขายังเป็นสมาชิกกลุ่ม Fluid Interfaces ที่สนใจการออกแบบปฏิสัมพันธ์ (Interface) ที่เชื่อมโยงคนกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยเชื่อว่าจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ตั้งแต่ความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ ไปจนถึงการทำงานร่วมกับ AI นอกจากนี้พีพียังมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง FREAK Lab คลัสเตอร์วิจัยนวัตกรรมแห่งอนาคตในประเทศไทย... เมื่อโควิด-19 คือความท้าทายในทุกด้าน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยหรือเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร นี่คือทัศนะของนักนวัตกรรมวัย 24 ปีที่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ซึ่งต้องอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกยาวนาน

เทคโนโลยีและศาสตร์ใหม่กับโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19
เนื่องจากพีพีถือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีอย่างมาก ทั้งจากความสนใจและทักษะที่เขาพยายามเพิ่มพูนมาในด้านนี้อยู่เสมอ ประเด็นแรกที่คุยกันจึงเป็นเรื่องของโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่กำลังทำอยู่เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 “ ผมได้ทำ 2 โปรเจ็กต์ร่วมกับ MIT Media Lab และหน่วยงานในไทย โปรเจ็กต์แรกคือ Wearable Sanitizer อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถยิงแอลกอฮอล์จากมือได้โดยใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ในการประมวลผลว่า ควรจะพ่นแอลกอฮอล์ออกมาตอนไหน ถึงจะปลอดภัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสไปเดอร์แมน แล้วพัฒนาเป็นเวอร์ชั่น DIY ซึ่งจะเปิดเป็นโอเพนซอร์สให้คนสร้างโมเดลนี้ได้

อีกโปรเจ็กต์หนึ่งคือ Covid Bot ที่เกิดขึ้นโดยทีม FREAK Lab ร่วมกับ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) สวทช. และทีมแพทย์ เราพัฒนาแชตบ็อตที่ใช้ AI ช่วยประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อ (Pre-screening) โดยอ้างอิงข้อมูลตามระเบียบของรัฐบาลไทย และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของอเมริกา ออกแบบให้มันมีความเป็นส่วนตัว น่ารัก ทำให้คนอยากใช้ เพราะการอ่านข้อมูลในเว็บหรือดูทีวีอย่างเดียวมันไม่เหมือนกับได้คุยกับหมอหรือคนที่ให้คำวินิจฉัยทางการแพทย์ได้ ซึ่งแช็ตบอตนี้ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก มีผู้ใช้งานแล้วใน 56 ประเทศทั่วโลก และปัจจุบันเรายังได้ต่อยอดแชตบ็อตเพื่อช่วยจัดหางานอย่าง Saku Chatbot และ Upski เพื่อช่วยเสริมทักษะให้คนเตรียมพร้อมเข้าสู่งานในอนาคตได้หลังสถานการณ์โควิด-19”

โควิด-19 ตัวแปรวิธีคิดและการทำงานของนักพัฒนานวัตกรรม
“การกักตัวอยู่ที่บ้าน Work from Home หรือ Self-isolation ไม่ใช่สิ่งใหม่ เราสามารถเรียนรู้จากวงการที่มีความเชี่ยวชาญใกล้เคียงกับการรับมือกับโควิด เช่น หน่วยงานอวกาศที่ส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารหรือดวงจันทร์ ก็มีความท้าทายใกล้เคียงกัน เช่น ต้องอยู่คนเดียว ไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ ต้องใส่ชุดที่ตัดขาดร่างกายออกจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน ถ้าเราดึงองค์ความรู้จากสาขาต่าง ๆ มารวมกันได้ ก็จะน่าสนใจมาก ผมคิดว่า โควิดมันขยับงานวิจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกที่เราเคยคิดว่าเป็นนวัตกรรมสำหรับอนาคต แต่ตอนนี้ถูกนำมามากขึ้น ซึ่งโจทย์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด หรือมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่สำคัญโควิดไม่ใช่แค่เรื่องโรคระบาด แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพจิต โลจิสติกส์ ต่อไปเราจะเจอปัญหาที่ประกอบไปด้วยหลายมิติ ดังนั้นเราต้องการนักเทคโนโลยีที่เข้าใจประเด็นมนุษยศาสตร์ เราต้องการนักสังคมวิทยาที่รู้ว่ามีนวัตกรรมอะไรบ้าง เราต้องการผู้จัดทำนโยบายที่เข้าถึงนักวิจัย เพื่อที่จะทดลองกระบวนการใหม่ ๆ

คาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
“หลังโควิดจบจะเกิดการดิสรัปต์ในวงการต่าง ๆ เช่น การศึกษา วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้คนต้องกลับมาตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมที่อยู่ ว่าจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพได้อย่างไรบ้าง” พีพีแสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว “ ประเด็นที่สอง เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตั้งแต่ Pre-screening หุ่นยนต์ การตรวจคนไข้ทางออนไลน์ (Telemedicine) หรือการใช้ AI บนแชตบ็อต จะเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงสาธารณสุขไปตลอดกาล และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการแพทย์ หรือแม้กระทั่ง Test Kit ซึ่งไทยต้องผลิตเอง จากที่เคยสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความเข้มแข็งของคนทำงานด้าน Biosensor หรือการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก ส่วนประเด็นที่สาม ตอนนี้การศึกษาแบบเดิมถูกปิดไปแล้ว มันเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เราต้องปรับวิธีการศึกษาใหม่ เด็กไทยสามารถที่จะเป็น Global Learner และเชื่อมโยงกับครูหรือองค์ความรู้จากทั่วโลกได้ แล้วเด็กยังจำเป็นต้องไปโรงเรียนอีกหรือเปล่า เราจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของการเรียนทางออนไลน์และโรงเรียนที่เป็นเชิงกายภาพได้อย่างไร” ทั้งหมดคือประเด็นที่เขาคาดการณ์ถึงภาพอนาคตไว้อย่างครอบคลุม

เทคโนโลยีติดตามตัวกับความปลอดภัยของการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว 
สิ่งนี้คือประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายต่างเริ่มแสดงความเป็นกังวล เพราะแม้เราจะรู้ดีว่าการติดตามตัวผู้ติดเชื้อเป็นสิ่งสำคัญที่จะจำกัดวงของโรคระบาด แต่การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลนั้นก็มีความสำคัญและเปราะบางไม่แพ้กัน “ในช่วงโรคระบาดเราเห็นความสำคัญของการติดตามข้อมูลของผู้ป่วย Contact Tracing มีบทบาทมากขึ้น คำถามก็คือ เราจะสร้างหรือใช้เทคโนโลยีที่ค้นหาและเก็บข้อมูล โดยไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนได้อย่างไร เช่น หมอ นักระบาดวิทยา หรือรัฐบาล สามารถใช้มอนิเตอร์การแพร่ระบาดในภาพใหญ่ได้ จริง ๆ มันมีเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เช่น ทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นบนอุปกรณ์ เอาชื่อและข้อมูลส่วนตัวออก แล้วส่งแต่ข้อมูลของโรคระบาดไปที่ศูนย์กลาง ที่ MIT มีโปรเจ็กต์ที่ชื่อ Split Learning คือทำให้อุปกรณ์เก็บข้อมูลของผู้ใช้มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Machine Learning) บางส่วนเกิดขึ้นบนเครื่อง เเล้วจึงส่งข้อมูลในเลเยอร์ที่เหลือของโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อประมวลผลต่อ ทำให้ข้อมูลดิบของผู้ใช้ไม่ได้ออกจากอุปกรณ์ส่วนตัว มีเพียงข้อมูลที่ประมวลผลเเล้วเท่านั้นที่ถูกส่งออกไป

ถ้าเป็นไปได้ เราควรได้ทั้งความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยีให้ไปถึงจุดนั้นได้ เป็นโจทย์ที่คนทั้งโลกจะต้องช่วยกันคิด รัฐบาลเองก็ต้องเปิดเผยกระบวนการทำงานอย่างโปร่งใส ไม่ติดอยู่กับกระบวนทัศน์เก่า ๆ ว่าเราต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากกว่าความเป็นส่วนตัว แต่จะทำอย่างไรให้เรามีทั้งสองอย่างนี้ได้

คนรุ่นใหม่กับการรับมือปัญหาที่หนักหนาขึ้นทุกวัน
“ผมนึกถึงการ์ตูนใน The Economist ที่บอกว่ามวยหมัดแรกคือโควิด สมมติว่าเรารบชนะปุ๊บ เดี๋ยวจะมีหมัดสองเป็น Climate Change หรือสภาวะอากาศแปรปรวยลงมาชกกับเราต่อ หรือว่าโควิดอาจกลับมาใหม่ในรูปแบบที่รุนแรงกว่าเดิม ผมว่าโลกต่อจากนี้มันเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ” สิ่งที่พีพีพูดถึงยิ่งทวีความหนักแน่นหากเรามองว่าเขาคือหนึ่งในตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับอีกหลายปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามา และในปัญหาเหล่านั้นก็อาจเป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากคนรุ่นก่อน “สังคมที่เต็มไปด้วยปัญหามันเรียกร้องให้ทุกคนต้องลุกขึ้นมา ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้งาน (user) แต่เป็นคนสร้างวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ (creator) เราต้องการคนจากหลายสาขาและทำงานด้วยกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมหรือการแก้ปัญหาใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็น New Normal สำหรับมนุษยชาติว่าเราจะใช้ชีวิตในโลกที่เราสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้อย่างไร”

“คนรุ่นผมต้องอยู่ในโลกนี้ไปอีกหลายปี เราจะต้องหาทางลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องรอผู้ใหญ่ ที่ MIT Media Lab มีหลักปรัชญาว่า ‘No apologies’ หมายความว่าให้ทำไปเลย ไม่ต้องมาขอโทษกัน ลุยไปข้างหน้า แล้วความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเอง”

เทคโนโลยีที่น่าจับตาในอนาคต
“เอาสิ่งที่น่าจะหายไปก่อนนะครับ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นกายภาพ (physical) และทำกันมานาน (conventional) จะค่อย ๆ หายไป เช่น ระบบการศึกษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม จะถูกแทนที่ด้วยการเรียนออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ส่วนเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ผมคิดว่ามีอยู่ 3 เทคโนโลยีหลัก คือ 
หนึ่ง Wearable Technology เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ ตอนนี้เรามีอุปกรณ์ที่สามารถมอนิเตอร์เราตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลของร่างกายและสิ่งรอบตัวเราได้

สอง เราจะมีเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับร่างกายคน ผ่านการอ่านคลื่นสมองของคน และสามารถตีความออกมาได้ เมื่อตัวกลางหายไป เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้มนุษย์ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้เต็มที่ โดยไม่มีพรมแดนมาปิดกั้น เราจะอยู่ร่วมกัน (Symbiosis) กับ AI มากขึ้นในบริบทต่าง ๆ โดยใช้ AI เป็นสมองที่สองเพื่อช่วยประมวลผลข้อมูลที่มีมหาศาลในโลกออนไลน์ สมองดิจิทัลเเละสมองชีวภาพของเราจะทำให้เกิดสติปัญญาที่ถูกส่งเสริมโดยเทคโนโลยีหรือเรียกว่า Seamless Cognitive Enhancement ในชีวิตประจำวัน

สาม เทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลไปเป็นวัตถุทางกายภาพ และเปลี่ยนวัตถุทางกายภาพให้เป็นดิจิทัล เช่น 3D Printing ที่สามารถพิมพ์อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันออกมาจากไอเดีย ซึ่งจะทำให้คนใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น
สุดท้ายผมคิดเหมือนที่อีลอน มัสก์ บอกว่า มนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เดินทางข้ามดวงดาว (Interplanetary Species) พอเกิดวิกฤตขึ้นมา คนต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เรากลายเป็น Augmented Human หรือ Enhanced Human คือเป็นมนุษย์ที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งผ่านเทคโนโลยี”

 
 

วันที่สัมภาษณ์ : 14 พฤษภาคม 2563

บทสัมภาษณ์และเรียบเรียง : ปิยพร อรุณเกรียงไกร