ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ขับเคลื่อนโลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (TH/EN)
Technology & Innovation

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ขับเคลื่อนโลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (TH/EN)

  • 01 Jun 2020
  • 14769

วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก คือวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ผู้คนยุคนี้ต้องประสบพบเจอ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและมีประโยชน์อย่างมากต่อการดำรงชีวิต ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้บอกเล่าถึงโอกาสมากมายของการเดินหน้าสู่ความเป็นดิจิทัล และความเป็นไปได้ของประเทศไทยบนเส้นทางแห่งอนาคตสายนี้

เรื่องของดิจิทัล การศึกษา และทรัพยากรมนุษย์
“ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทางสาธารณสุขไทยที่ทำให้เราอยู่ในสถานภาพที่ดีมากในระดับหนึ่ง ทำให้เราสามารถที่จะเริ่มคิดต่อได้ว่า ชีวิตต่อไปควรจะออกแบบอย่างไร เพราะผลของวิกฤตครั้งนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพความเป็นความตายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความเป็นความตายทางด้านเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรีบเรียนรู้จากทั้งความสามารถที่เรามีและความอ่อนแอของเรา เพื่อที่จะกำหนดเส้นทางอนาคตไปพร้อม ๆ กัน 

ผมเองก็คิดอยู่หลายครั้งว่า ‘ดิจิทัล’ มีประโยชน์ แต่ถ้าคิดให้ละเอียดแล้ว ดิจิทัลจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนของเรามีสมรรถนะ หากจะบอกว่าพระเอกต่อจากนี้เป็นต้นไปคือการประชุมผ่านวิดีโอคอลล์  การใช้แอพพลิเคชัน หรือ การใช้ 5G ถึงแม้จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่มันจะเต็มไปด้วยความล้มเหลว ถ้าหากเราไม่ได้คำนึงถึงทรัพยากรที่สำคัญอย่าง ‘ทรัพยากรมนุษย์’ 

เรื่องการพัฒนาคน เราจะไปพูดถึงมหาวิทยาลัยอย่างเดียว หรือพูดถึงโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องดูกันทั้งสายป่าน หากเริ่มดูกันในระยะสั้นคือวันนี้ ‘นักเรียนจะกลับเข้าห้องเรียนกันอย่างไร’ เพราะตอนนี้เด็กยังไปโรงเรียนไม่ได้ แต่การเปิดโรงเรียน ช้าหรือเร็วก็ต้องเปิด ซึ่งหากลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มทยอยเปิดเรียนกันอย่างช้า ๆ แต่เขามีความได้เปรียบกว่าเรา เพราะห้องเรียนเขาอาจจะมีนักเรียนแค่ 10–15 คน แต่ห้องเรียนของไทยมีถึง 50 คน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ระบบบริหารจัดการการศึกษาของเราในอนาคตจะเอาอย่างไร 

นำมาสู่คำถามในระยะยาวว่า ‘เราจะเอายังไงกับเด็กของเราในวันนี้และในอนาคต’ เราจะปั้นพวกเขาอย่างไร ซึ่งในแง่ของดิจิทัลนั้น ความน่าเป็นห่วงของเด็กยังน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก เพราะเด็กกับดิจิทัลคือของเล่น สิ่งสำคัญที่เราจะต้องคิดในฐานะผู้ใหญ่ คือเราจะสร้างโอกาสทางดิจิทัลให้เด็กอย่างไร เพราะเขาซึมซับได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามีโอกาสหรือไม่มีมากกว่า ดังนั้นเราต้องเน้นที่ครู ซึ่งการจะเน้นให้ครูมีทักษะสูง ๆ แม้จะเป็นความท้าทาย แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่เราสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักน้อยไปหน่อย หากเราใช้โควิดให้เป็นประโยชน์ วันนี้เรามาตั้งหลักกันให้ดี เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่เราต้องดูกันตลอดแนว ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงในระดับแรงงาน”

เราจะอยู่รอดอย่างไรเมื่อถูกโควิด-19 บังคับให้ปรับตัว 
“การมีดิจิทัลนั้นต้องยอมรับว่ามีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในแง่ของแรงงานจะมีอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งที่แรงงานจะถูกทดแทนจากการมีเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นในการยกระดับแรงงานเราต้องดูใน 3 เรื่องด้วยกัน 

เรื่องแรกคือการ Upskill หรือการยกระดับแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมให้ยังทำงานในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต่อไปได้ ด้วยการติดตั้งความรู้ดิจิทัลให้พวกเขาในระดับที่เหมาะสม 

เรื่องที่สองคือการ Reskill เป็นการยกระดับแรงงานทั้งแผง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเก่งเลอเลิศ แต่อย่างน้อยให้มีพื้นฐานที่จะอยู่ในระบบต่อไปได้ คือแม้จะโดนเลย์ออฟจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็ยังสามารถที่จะย้ายไปอุตสาหกรรมอื่นได้ด้วยความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จากโรงงานก็ไปอยู่ภาคบริการได้ เป็นต้น 

ส่วนสุดท้ายคือเรื่อง New Skill หรือทักษะใหม่ ๆ ที่เราต้องช่วยกันคิดว่าภายใต้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มันก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ อะไรขึ้นบ้าง เช่น จากการสังเกตเรื่องการขายสินค้าและบริการในยุคดิจิทัล ระดับความเร็วในการใช้อี-คอมเมิร์ซของชาวบ้านนั้นเร็วมาก นอกจากนี้เขายังยังรู้เรื่องการชำระเงินแบบอี-เพย์เมนต์ เขารู้เรื่องอี-มาร์เก็ตอีกว่าเดี๋ยวนี้ตลาดอยู่บนหน้าจอ แล้วเขาก็รู้เรื่องอี-โลจิสติกส์ เพราะเดี๋ยวนี้ส่งของกันได้สะดวกสบาย ฉะนั้นสิ่งที่เคยคิดว่ามันยาก ตอนนี้มันอาจจะไม่ได้ยากอีกต่อไป”

ประเทศไทยกับเรื่อง E-government 
“จริง ๆ คำว่ารัฐบาลดิจิทัลหรือ e-government มีมา 10–20 ปีแล้ว แต่มันเคลื่อนที่ช้ามาก ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปเยอะ ความเข้าใจของข้าราชการก็ดีขึ้นพอสมควร แต่ระบบการให้บริการยังมีความลักลั่น บางหน่วยงานยังใช้กระดาษ ในขณะที่บางหน่วยงานมีแต่อิเล็กทรอนิกส์ ฉะนั้นการจะทำให้ทั้ง 20 กระทรวงเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันได้นั้น สิ่งที่เป็นแกนสำคัญมี 3 ประการ ได้แก่ 1.) Big Data การทำให้ทุกหน่วยงานเข้าใจและรีบจัดทำสิ่งที่เรียกว่าฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งแม้ตรงนี้จะไม่ใช่ตัวที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จโดยตรง แต่มันจะชักจูงให้ทุกหน่วยงานมีวัตถุดิบที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้าได้ 2.) Data Center ศูนย์กลางของข้อมูลที่ไม่ใช่แค่เก็บข้อมูลอย่างเดียว แต่ช่วยบริหารจัดการและช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย 3.) One Stop Service ระบบหรือการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดอยู่ในเครือข่ายเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงกันได้”

ข้อมูล ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว
“สิ่งแรกคือเราต้องมีสมดุล ระหว่างการใช้ Big Data (หรือ Data อะไรก็แล้วแต่) กับข้อมูลส่วนตัว เพราะมันเป็นเหรียญสองด้าน การที่เรามีขีดความสามารถทางด้านนี้สูงขึ้น สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะสามารถทำความเข้าใจกับความต้องการของประชาชนและสังคม หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องเดาสุ่มว่าคนอยากได้อะไร เพราะเดี๋ยวนี้ Big Data มันเกิดขึ้นเรียลไทม์ ไม่ต้องรอเอาข้อมูลจากเดือนที่แล้วมาสกัดดูว่าคนคิดอย่างไร เราสามารถบอกได้ว่าเมื่อชั่วโมงที่แล้วคนคิดอะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจในการสร้างตลาด และภาครัฐในการตอบสนองกับความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจหรือความเชื่อมั่นในตัวระบบ (Trust) ซึ่งถึงแม้ว่าระดับของความไว้เนื้อเชื่อใจนี้จะสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก เนื่องจากเรามีระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านข้อมูลที่ดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ยังมีหลงเหลืออยู่ และนี่เป็นเหตุผลใหญ่ที่เราจะต้องมีกฎหมาย 2 ฉบับขึ้นมาคู่กัน คือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล (PDPA) ที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมูลของเราถูกเอาไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ และกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะคุ้มครองเราจากแฮกเกอร์

อนาคตของดิจิทัลจะเดินต่อไปทางไหน
“สังคมไทยกำลังเคลื่อนที่ และความได้เปรียบของสังคมยุคนี้ก็คือมันเคลื่อนที่เร็วกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลัดวงจรให้เราได้ จากที่เมื่อก่อนเราต้องอาศัยคอมพิวเตอร์เพื่อจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์ก็เอาไว้ใช้คุยกัน เดี๋ยวนี้ก็พัฒนามาเป็นสมาร์ตโฟนที่ฉลาดขึ้น และไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกกันอีกต่อไป ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ณ ตอนนี้ระดับชาวบ้านเองก็มีคอมพิวเตอร์อยู่ในมือ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่เราจะนำไปต่อยอดได้

ในอนาคตทั้งในช่วงฟื้นฟูและช่วงเดินหน้าต่อของประเทศ เราต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม เพราะหลังจากนี้เราจะก้าวเข้าสู่โลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น และวงรอบของวิกฤติก็อาจจะมาอีกเรื่อย ๆ ถ้าอย่างนั้นแล้วจากบทเรียนโควิดครั้งนี้ เราจะทำอย่างไรกับเทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นตอนต่อ ๆ ไป ทั้งในแง่ของการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ได้รับการติดต่อได้ และสามารถทำธุรกรรมได้ เพราะถึงแม้ในภาวะปกติเราจะสามารถเจอกันได้แบบตัวต่อตัว แต่เมื่อเกิดวิกฤต เราจะไม่อับจน เพราะเรามีเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วย อาจจะช่วยได้ 100% หรือช่วยได้ 50% แต่ก็ยังดีกว่าที่จะโดนไวรัสมัดมือจนทำอะไรไม่ได้เลย

สิ่งสำคัญคือเราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้างความสัมพันธ์ในช่วงที่มันเป็นรอยต่อ หรือในช่วงที่มีช่องว่างของความห่างกันได้อย่างไรบ้าง ยังมีอีกหลายอย่างที่สังคมไทยสามารถเรียนรู้และนำไปออกแบบสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดใหม่ ๆ ที่ต้องเน้นคำว่าใหม่ ๆ เพราะว่าถ้าเรามัวแต่ไปคิดอยู่ในกรอบเดิม มันอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว มาถึงวันนี้ผมหวังว่าทุกภาคส่วนจะใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการคิดสิ่งใหม่ ๆ ผลักดันและขับเคลื่อนสิ่งใหม่ ๆ ให้สังคมไทยก้าวต่อไปได้อย่างดีและยั่งยืน”

 
 

วันที่สัมภาษณ์ : 15 พฤษภาคม 2563

บทสัมภาษณ์ : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ | เรียบเรียง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ | ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก