ดร. การดี เลียวไพโรจน์ : กลยุทธ์เปลี่ยนโหมดไฟลต์บังคับให้เป็นโหมดเลือกได้ (TH/EN)
Technology & Innovation

ดร. การดี เลียวไพโรจน์ : กลยุทธ์เปลี่ยนโหมดไฟลต์บังคับให้เป็นโหมดเลือกได้ (TH/EN)

  • 01 Jun 2020
  • 17192

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่เราทุกคนต้องถูกบีบให้ดำเนินชีวิตในความ “ปกติใหม่” ดร. การดี เลียวไพโรจน์ Chief Advisor for Future Foresight and Innovation, Future Tales Lab, MQDC เป็นอีกหนึ่งบุคคลในฐานะนักคาดการณ์อนาคตและนวัตกรรมที่ชี้ภาพความปกติใหม่นี้ได้อย่างครอบคลุมทั้งด้านวิกฤตและโอกาส เมื่อโลกทั้งโลกต้องปรับตัว คำถามอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดไป หรืออะไรที่จะเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเพียงชั่วครั้งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า แต่สิ่งที่เราควรพูดถึงยิ่งกว่าในเวลานี้ก็คือ เราจะทำอะไรได้บ้างจากสถานการณ์ที่โลกทั้งใบต้องเผชิญร่วมกัน

ชีวิตปกติใหม่ที่เรา “เลือกได้”
“ตอนนี้เรา Work From Home by Force อีกหน่อยจะเป็น Work From Home by Choice เราจะเห็นการพัฒนาขององค์กรที่ ‘เลือกได้’ ว่าจะมาทำงานวันไหน คือทำงานครบตามปกติ แต่เลือกสถานที่ทำงานได้ และจะเริ่มเห็นเร็วขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรที่ก้าวหน้ามาก ๆ ก็จะเห็นการกระจายของทรัพยากร ทีนี้จากคนกรุงเทพฯ ที่เคยเลือกที่อยู่ที่ความสะดวกมากที่สุด เพราะเราทนไม่ไหวกับรถติดสามชั่วโมงต่อวัน และเราเลือกที่จะ compromise กับพื้นที่ หรือ compromise กับความเป็นส่วนตัว แต่ตอนนี้ความเป็นส่วนตัวเท่ากับความปลอดภัย ฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องมีความสะดวกสบายมาเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ยิ่งถ้าเราไม่ต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ เราก็ไม่อยากให้เมืองพัฒนาเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเดียว แต่เราต้องการ Satellite City คือเมืองที่มีการกระจายตัวและสามารถจัดการใช้ทรัพยากรของเมืองโดยเฉพาะในช่วงที่พีคมาก ๆ หรือน้อยมาก ๆ ให้สมดุล เราควรใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในความปกติใหม่แล้วคิดร่วมกัน คือเมืองที่ยังไม่เคยเป็นเมืองมาก่อนจะเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น (Urbanization) ส่วนเมืองที่เคยเป็นเมืองรองก็จะมีความสำคัญมากขึ้นและยั่งยืนขึ้น 

ส่วนนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยนับจากนี้ ทุกอย่างที่เป็นระบบไร้สัมผัสจะมีความสำคัญ ตรงนี้การออกแบบจะมาช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นและยังคงมีความเป็นส่วนตัว เพราะคนยังต้องอยู่ร่วมกัน แต่เราต้องการอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ดังนั้นเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะกลายเป็นฮีโร่ แต่ก่อนจะมีแบบนี้คือ คนคิดนวัตกรรมหรือคิดเทคโนโลยีแล้ว แต่คนไม่ใช้ เพราะไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนโดนบีบให้ต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิต ไม่ต้องมี first mover, second mover เพราะทุกคนมูฟไปด้วยกันหมดเลย เราโดนบังคับไปอยู่ในช่องเดียวกันทั้งหมดพร้อม ๆ กัน คือถ้ามองในแง่ธุรกิจก็ถือว่ามีโอกาสมาก ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีแบบสวมใส่อย่างสมาร์ตวอช ที่ตอนนี้อาจจะเอาไว้ดูแค่จำนวนก้าวหรือแคลอรี แต่อนาคตอาจจะต้องมีแอพพลิเคชันที่ส่งข้อมูลไปยังผู้สวมใส่คนนั้นว่ารอบข้างคุณมีความปลอดภัยหรือเปล่าเป็นต้น”

ปัญหาการว่างงานและแนวทางปรับตัวสู่การเป็นแรงงานในอนาคต
“ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การว่างงานเกิดอัตราเร่งให้เร็วขึ้นมากไปอีก เอาแค่ไม่มีโควิด การจะเติมเต็มทักษะของแรงงานในยุคนี้ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เรากังวลคือเราไม่มีน้ำหนักของโครงสร้างการเสริมทักษะรองรับ ยิ่งมีวิกฤติ มันก็ยิ่งตกลงไปอีก ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็น 3 เวฟที่ได้รับผลกระทบ เวฟแรกคือกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดที่เครื่องยนต์ตรงนี้ดับไปแล้ว เวฟที่ 2 คือกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริการและการติดต่อกับโลกส่วนอื่น ๆ ที่กระทบจากการล็อกดาวน์ รวม ๆ กันแล้วน่าจะ 7 ล้านคนอย่างต่ำ ส่วนเวฟที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มเกิดขึ้นโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว คืออาจจะเป็น ‘กบต้ม’ อยู่ ก็คือเกิดจากการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันคือ ‘ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน’ ถ้าเป็นภาวะปกติเราอาจเลี่ยงได้ ไม่ทำก็ไม่ตาย แต่วันนี้เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นมาก สิ่งที่เราเป็นกังวลคือ SMEs จะลำบาก และเราจะต้องหวังพึ่งพาการจ้างงานจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่แทน แต่ถ้าเศรษฐกิจยังแย่ต่อเนื่อง คนซื้อไม่ซื้อ คนขายไม่สามารถขาย ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เขาก็จะเอาออกเลย ก็คือสิ่งที่บอกไปแล้วคือแรงงานราคาแพงไปก่อน กลุ่มที่แพงแต่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับอนาคต จะเป็นกลุ่มคนที่น่าเป็นกังวลมาก 

ทีนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อองค์กรวันนี้เขารู้แล้วว่าอ้าว! เราไม่ต้องมีแอดมินก็ได้นี่นา คือไม่ได้อยากพูดเพื่อให้ตกใจ แต่เราต้องพยายามเริ่มสิ่งใหม่แล้ว พอรัฐบาลแจกห้าพันเสร็จแล้วเนี่ย ขออีกอย่างหนึ่งคือเน้น Reskill ทั่วไทย และอย่าโฟกัสแค่ผู้ที่ตกงานเพราะคนที่ยังอยู่ในจ๊อบตอนนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่โดยไม่รู้ตัว คืออยากให้มีการแจกคูปองให้ไป Reskill เลย และที่อยากให้ทำมากกว่านั้นคือเวลาแจกคูปองแล้ว ขอร้องอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลอย่าทำเอง กรุณาไปติดต่อสตาร์ทอัพหรือ SMEs ที่เขาเก่งในเรื่องนี้ให้เขาทำ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เงินก็ผ่านมือเขา ในขณะเดียวกันก็จะมีการจ้างงานกลับคืนเข้ามาในระบบของเทคโนโลยีรุ่นใหม่

พี่เชื่อว่าองค์ประกอบของแรงงานในอนาคตเราต้องมีคนที่มีทักษะ 3 จำพวก แบบแรกคือกลุ่มที่ทำเรื่องว่าเราจะทำยังไงให้รอดจากวิกฤตนี้ไปให้ได้ เราต้องการคนคิดเร็ว ทำเร็ว เป็น Decision Maker และ Doer ไปด้วยกัน แล้วเราก็ต้องการทีมที่สอง คือคนที่มองหาโอกาสใหม่จากเหตุการณ์ปัจจุบันได้เสมอหรือ Opportunist คนที่คิดแล้วทำเลย Dream ได้แล้ว Do เลย เราต้องการคนที่สามอีกคือ Visionary คือคนที่พร้อมจะมองข้ามช็อตไปข้างหน้า เช่น 18 เดือนข้างหน้าหลังโควิด-19 จะเป็นแบบไหน จงพยายามอย่างยิ่งให้องค์กรของเรามีคนทั้งสามคนนี้ แล้วเราก็จะรอดทุกสถานการณ์

คาดการณ์วิถีการจับจ่ายในอนาคต
ถ้าหากเหตุการณ์ 9/11 คือวิกฤติของคนยุคมิลเลนเนียล โควิด-19 ก็เป็นเสมือนวิกฤตโดยตรงครั้งแรกของคนเจนวายที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดงาน “พี่ได้คุยกับนักวิเคราะห์ในทีมว่าสิ่งนี้ก็อาจจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เจนวายรู้สึกว่าการออมเป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ การที่ต้องเร่งปลดหนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะโควิด-19 อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เขาเกิดความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น ส่วนคนกลุ่มอื่น ๆ ในแง่ของการเงินส่วนบุคคล ถ้าตอนนี้คุณมีเวลาว่าง สิ่งหนึ่งที่ต้องสำรวจคือพอร์ตโฟลิโอด้านทรัพย์สินของตัวเอง เรามีเงินฝาก บ้าน หุ้น หรือกองทุนฯ อะไรเท่าไหร่ แล้วก็มีอีกอันหนึ่งที่เราอาจจะไม่รู้ว่ามันมีมูลค่า ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเราใช้เครดิตการ์ด 4-5 ใบ เรามีพอยต์ 200, 300, 1000 แต้ม แลกอะไรก็ไม่ได้ หรือเรามีพอยต์ของสายการบิน หรือพอยท์ตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่เวลาจะใช้ทีก็จะต้องอยู่แค่ในระบบของเขาเท่านั้น แต่วันนี้เรามีสตาร์ทอัพไทยซึ่งเขาเห็นมูลค่าเหล่านี้ แล้วพอไปสำรวจเราก็พบว่าในประเทศเราคนมีพอยต์รวมกันอยู่ถึงหกหมื่นล้านพอยต์ ตัดค่าเฉลี่ยว่าถ้าเทียบเป็นเงินบาทก็จะได้ประมาณหกพันล้านบาทที่หมุนเวียนอยู่ในระบบโดยที่ไม่ได้เกิดการใช้งาน ซึ่งตอนนี้เราสามารถเอาพอยต์พวกนี้มารวมกันเพื่อใช้ซื้อของในชีวิตประจำวัน เอามาใช้แทนเงินสดซื้อของที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งมันคือพอร์ตฯ เล็ก ๆ ที่น่าจับตา และเป็นสิ่งที่คนไทยเข้าใจง่ายที่สุดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) 

เริ่มจัดพอร์ตครัวเรือนกันใหม่
ในช่วงวิกฤต เราเห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจในครัวเรือนค่อนข้างชัดเจน ดร. การดี เห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นรากฐานของปัญหา “คนจนเมือง” ก็คือการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า “ทั้งการสร้างหนี้กับสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่า ใช้เงินเกินกำลัง หรือใช้เงินในอนาคตที่ไม่ก่อให้เกิดรีเทิร์นที่คุ้มค่า ทุกอย่างคือปัญหา แต่พอไปดูว่าทำไมหลายคนถึงต้องใช้ชีวิตแบบนี้ ก็จะกลับไปสู่ประเด็นที่ว่าเพราะเขาโดนกรอบสังคมมาว่าต้องใช้ชีวิตแบบนี้ และเชื่อไหมว่าคนที่มีปัญหาจริง ๆ ก็คือคนที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา คือคนที่ทำงานออฟฟิศทั้งหลายที่เงินเดือนไม่มากแต่ค่าดำรงชีพเขาสูงมาก และสูงที่สุดคือการเดินทางและค่าใช้จ่ายส่วนตัว ตอนนี้ทีมพี่กำลังดูในเรื่องของ ‘คนจนเมือง’ ซึ่งอันดับแรกของคนจนเมืองคือใคร บอกเลยว่าคือพนักงานออฟฟิศ ขอย้ำเลยว่าคนที่ทำงานในเมือง รายจ่ายที่สูงที่สุดและโตขึ้นทุกปีคือค่าเดินทางและค่าสื่อสาร แล้วยังเป็นหมวดค่าใช้จ่ายที่คนบอกว่าลดไม่ได้ด้วยเพราะเขาต้องไปทำงาน ดังนั้นเขาก็จะไปเลือกลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นแทน เช่น ค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยิ่งถ้าครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวที่มีลูก เขาก็อาจไปลดคุณภาพการศึกษาหรืออาหาร ซึ่งถ้าไปถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะบอกว่าการเข้าถึงอาหารที่ดีหรือการศึกษาที่ดี คือการเปิดประตูสู่โอกาสให้เงินตามมา ถ้าตรงนี้โดนตัดออกไป วงจรของความจนมันก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ 

แบรนดิงใหม่ของไทยแลนด์
จากไทยแลนด์ที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวและสวรรค์ของผู้เข้ารับบริการ สถานการณ์โควิด-19 กำลังพาประเทศไทยเดินไปทางไหนต่อ นั่นอาจเป็นคำถามที่คนทั่วไปอยากรู้ “ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยควรจะต่อยอดไปจากนี้น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข เพราะตอนนี้ประเทศไทยเป็นที่อภิเชษฐ์มากในสายตาของหลาย ๆ ประเทศว่าเรามีการจัดการในระบบสาธารณสุขที่ดี ฉะนั้นเราควรทำอะไรที่ต่อยอดออกจากตรงนี้ได้ และเอาความคิดสร้างสรรค์ไปบวก เช่นคำว่า Healthcare ต้องยกระดับไปเป็น High-Level Healthcare มากขึ้น เพราะต่อให้จีนเขาจะนำหน้าเราเรื่องการผลิต แต่ในเรื่องความเชื่อมั่น ไทยก็ยังทำได้ดี หรือแม้แต่การทำให้เป็นมาตรฐานมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้ต่างชาติให้การยอมรับ”

อย่างที่ดร. การดีบอกว่า เราจะอยู่เฉยจากนี้ไม่ได้แล้ว และสิ่งที่ต้องมีเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่ย่อมเข้ามากระตุ้นเราเสมอก็คือ “always have a backup plan ค่ะ เพราะสถานการณ์นี้มันทำให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอนเลย ฉะนั้นต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ใหม่ และพร้อมที่จะปรับตัว นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” 

 
 

วันที่สัมภาษณ์ : 29 เมษายน 2563

บทสัมภาษณ์และเรียบเรียง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ | ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก