VIRTUAL MUSEUM EXPERIENCES การเสพศิลป์จากพิพิธภัณฑ์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม EP.2
Technology & Innovation

VIRTUAL MUSEUM EXPERIENCES การเสพศิลป์จากพิพิธภัณฑ์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม EP.2

  • 27 May 2020
  • 14612

หลังจากล้วงลึกถึงปมปัญหาทางด้านการเงินของวงการศิลปะในระหว่างวิกฤตโควิด-19 ของพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีระดับโลกจากปากผู้บริหารไปแล้ว ตอนนี้พวกเขาจะมาแบ่งปันไอเดียผ่านโปรเจ็กต์ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กับการไปเดินชมด้วยตนเอง พร้อมกับเสนอแนวทางใหม่ ๆ และทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานสาขาพิพิธภัณฑ์ในอนาคต

ยอดเสพศิลปะผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มพุ่งในภาวะวิกฤต 
การเว้นระยะห่างทางสังคมและกักตัวอยู่บ้านอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหนัก และการดูซีรีส์หรือหนังจากเน็ตฟลิกซ์อย่างต่อเนื่องยาวนานอาจไม่ได้ช่วยมอบความสุขและสบายใจได้เสมอไป หลายงานวิจัยล่าสุดเผยว่าการเสพงานศิลปวัฒนธรรม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคลายความเครียดและวิตกกังวลได้ ทั้งยังทำให้เราหยุดพักจากการเสพข้อมูลเรื่องโควิด-19ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย 

©Google Arts & Culture/Musée d’Orsay

อย่างไรก็ตาม การเว้นระยะห่างทางสังคมและกักตัวอยู่บ้านเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน และส่งผลต่อวิธีการสื่อสารแบบดั้งเดิม รวมถึงวิธีการนำเสนอเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการมีความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำเสนอผลงานผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แม้เหล่าคนรักศิลปะไม่สามารถเดินทางไปเสพงานศิลปะได้โดยตรงถึงที่ แต่ก็เกิดปรากฏการณ์บรรดาพิพิธภัณฑ์เดินทางมาหาเราเองถึงบ้าน ผ่านโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่โดดเด่น คือการที่หลายพิพิธภัณฑ์ระดับโลก จัดให้มี Virtual Tour ทัวร์ศิลปะเสมือนจริงให้ผู้ชมเที่ยวชมและเสพคอลเล็กชันหรือนิทรรศการศิลปะทางออนไลน์ฟรีผ่านแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture เช่น Louvre Museum และ Orsay Museum ในฝรั่งเศส Museum of the Earth ในนิวยอร์ก British Museum ในลอนดอน Museum Island Berlin ในเบอร์ลิน Van Gogh Museum และ Rijksmuseum ในอัมสเตอร์ดัม, Smithsonian National Museum of Natural History ในวอชิงตัน Vatican Museums ในวาติกัน Metropolitan Museum of Art (MET) ในนิวยอร์ก ฯลฯ 

หลายองค์กรและพิพิธภัณฑ์ยังผุดโปรเจ็กต์ทางโซเชียลมีเดีย เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาดื่มด่ำศิลปะผ่านแฮชแท็กต่างๆ เช่น #MuseumsAndChill (ICOM), #CultureChezNous (ฝรั่งเศส), #MetAnywhere (MET), #museumathome หรือ 
# culturetogether (เบลเยียม), #myhomeismymuseum (สตุตการ์ต เยอรมัน) ฯลฯ และน่าดีใจที่มียอดผู้คนที่ต้องการดื่มด่ำศิลปะเยอะขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เช่น Louvre Museum พิพิธภัณฑ์ของฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มียอดการเข้าชมทางออนไลน์เพิ่มจาก 40,000 ครั้งไปเป็นถึง 400,000 ครั้งต่อวัน ส่วน MET มีผู้เข้าชมทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียทุกช่องทางมากขึ้น และยอดเข้าชมในยูทูบสูงขึ้นกว่า 150 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการเข้าชมโดยเฉลี่ยรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ veilletourisme.ca ยังเผยกิจกรรมน่าสนใจอื่นๆ ที่สร้างสรรค์โดยพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก เช่น

  • Sydney Living Museums ในออสเตรเลีย, Former Abbey of Landévennec ในฝรั่งเศส และ Children's Museum ในเบลเยียม รวบรวมลิสต์กิจกรรมทำอาหาร โดยนำเสนอเมนูอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของเมือง ประเทศ หรือเรื่องราวจากนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นไอเดียให้เด็กๆ ได้สนุกกับการทำกิจกรรมทำอาหารเองที่บ้าน 
     
  • พิพิธภัณฑ์ทางทะเลหลายแห่งจัดทัวร์ลงเรือใหญ่ในตำนานแบบเสมือนจริงทางออนไลน์ เช่น เรือ SS Great Britain, RMS Queen Mary, NYK Hikawamaru และ MV Spartan 
     
  • Culture 21 รวบรวมทรัพยากรและมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ผ่านแฮชแท็ก #CULTUREcovid19 เพื่อแบ่งปันเรื่องราวของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นบนเครือข่ายโซเชียล 
     
  • หลายพิพิธภัณฑ์รวบรวมเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตของผู้คนในช่วงวิกฤตสุขภาพระดับโลกนี้ เช่น Musée de la Civilisation ในควิเบก แคนาดา และ The Historic New Orleans Collection ในสหรัฐอเมริกา 
     
  • นอกจากมอบความบันเทิงและสนับสนุนการเสพศิลปวัฒนธรรมที่บ้าน พิพิธภัณฑ์บางแห่ง เช่น The Rockwell Museum ในนิวยอร์ก, The Broad ในแอลเอ และ Chicago History Museum ในชิคาโก ต่างพยายามช่วยทำให้ผู้คนมีจิตใจที่สงบนิ่งและผ่อนคลาย ผ่านการโพสต์ผลงานศิลปะผ่านแฮชแท็ก #MuseumMomentofZen

ความรู้ดิจิทัล สิ่งจำเป็นที่ทีมงานต้องฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติม 
ความรู้ดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ทำงานในสายงานพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการนำเสนอผลงานศิลปะ การใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปกติผู้ทำงานในสายงานพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องมีพื้นฐานการศึกษาสูงระดับหนึ่ง แต่โควิด-19 ทำให้เห็นความจำเป็นของการพัฒนาทีมงานให้มีชุดความสามารถและทักษะทางดิจิทัล 

มัตเตีย อาเยตติ (Mattia Agnetti) ผู้อำนวยการบริหารจาก Fondazione Musei Civici di Venezia (MUVE) กระตุ้นให้เรากลับมาพิจารณาวิธีการนำเสนอผลงานศิลปะต่อสาธารณชนและการบริหารพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง โดยพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน รวมทั้งผู้คนที่ร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการกระชับความสัมพันธ์และร่วมงานกันระหว่างพิพิธภัณฑ์และภาคการศึกษา เขาย้ำด้วยว่าตอนนี้พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องมีงบประมาณครอบคลุมต้นทุนการดำเนินงานในระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อให้ยังอยู่ได้และกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง รวมทั้งมีเงินทุนเฉพาะกิจเพื่อการดำเนินงานในระยะยาวด้วย

©SS Great Britain

เปลี่ยนตัวเองและทัศนคติอย่างไรสู่ภูมิทัศน์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ 
ศาสตราจารย์ปิเอร์ ลุยจิ ซาคโค (Pier Luigi Sacco) จาก IULM University of Milan และที่ปรึกษาอาวุโสและหัวหน้าสำนักงานพัฒนาวัฒนธรรมและท้องถิ่นขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ในเวนิส ประเทศอิตาลี แนะนำให้มองภาพกว้างว่าปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญนี้ เป็นการทดลองทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์ เศรษฐกิจ และสังคม ที่จะนำไปสู่ภาพใหม่ที่ชัดเจนขึ้นทั้งก่อนเกิดและหลังเกิดวิกฤต เขาตั้งข้อสังเกตว่าระดับการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ทางสื่อดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงโควิด-19 นี่แสดงให้เห็นว่าการเสพงานศิลปะผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีส่วนช่วยดูแลสุขภาวะทางจิตของผู้คนได้อีกทางหนึ่งในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน พร้อมให้คำแนะนำและข้อสังเกตอื่นๆ ที่น่าสนใจไว้ ดังนี้ 

  • พิพิธภัณฑ์ควรปรับเปลี่ยนวิธีนำเสนอเนื้อหาและประสบการณ์การเสพศิลปะใหม่ โดยนำสื่อดิจิทัลซึ่งมีศักยภาพมาปรับใช้มากขึ้น ทั้งนี้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ บ่อยครั้งที่ผู้คนมักไม่สบายตัวเหมือนอยู่บ้าน และรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่นั่น แต่ต้องขอบคุณสื่อดิจิทัล ที่ช่วยให้บางคนที่เคยรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันเข้มขลังในโบสถ์ ได้สัมผัสบรรยากาศในการเสพศิลปะที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม การเสพงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องล้าสมัยและยังคงมีเสน่ห์สำหรับหลายๆ คน เพียงแต่เห็นได้ชัดว่าการใช้สื่อดิจิทัลนำเสนอผลงาน ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางใหม่ที่เป็นไปได้ ทั้งยังทำให้ผู้เสพงานรู้สึกคุ้นเคยและเข้าใกล้งานศิลปะมากขึ้น 
     
  • การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ทำงานในสายงานพิพิธภัณฑ์ ถามว่าหลายคนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซาคโคแย้งว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่ทำงานในแวดวงนี้ยังไม่พร้อมนัก แต่พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานของตัวเองครั้งใหญ่ ทักษะและทัศนคติของผู้ทำงานที่เป็นที่ต้องการในทุกวันนี้แตกต่างจากแต่ก่อนเป็นอย่างมาก และการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและต่อสู้กับวิกฤตนับเป็นสิ่งสำคัญ  
     
  • การปรับเปลี่ยนการมีส่วนร่วมของผู้เสพงานศิลปะ บางคนอาจไม่ถนัดเข้าไปเสพงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์โดยตรง แต่สำหรับบางคนประสบการณ์ตรงนั้นก็ช่วยปลุกจินตนาการ ความรู้สึก ความคิด ความสร้างสรรค์ ได้อย่างมหาศาล คำถามคือพิพิธภัณฑ์จะรักษาบทบาทของตนเองในฐานะศูนย์กลางทางความรู้ วัฒนธรรม และสังคม ท่ามกลางภูมิทัศน์ใหม่อย่างไร 
     
  • พิพิธภัณฑ์จะสร้างแรงกระเพื่อมและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Impact) ได้อย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โปรเจ็กต์ของ Montreal Museum of Fine Arts (MMFA) ในแคนาดา ที่ร่วมงานกับแพทย์ โดยแพทย์สามารถสั่งจ่ายยาเป็นการบำบัดทางศิลปะที่เหมาะแก่ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ จากนั้นผู้ป่วยเข้าเยี่ยมชมงานศิลปะที่จะช่วยเยียวยาและบรรเทาอาการของโรคที่พิพิธภัณฑ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โปรเจ็กต์ที่ผนวกศิลปะเข้ากับการรักษาทางการแพทย์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก เริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2018 โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากประโยคที่ว่า “Art Is Good Medicine” นับเป็นการสร้างสรรค์ระบบนิเวศใหม่ให้แก่วงการศิลปะ

ที่มา: 
บทความ “COVID-19: Culture and Museums” จาก veilletourisme.ca
สัมมนาออนไลน์ “Coronavirus (COVID-19) and Museums: Impact, Innovations and Planning for Post-Crisis” โดย OECD จาก oecd.org

เครดิตภาพเปิด : กวีพัฒน์ ผุยเจริญ

เรื่อง : ศันสนีย์ เล้าอรุณ