สำรวจนวัตกรรมการออกแบบที่ช่วยปกป้องสุขภาพมนุษย์
Technology & Innovation

สำรวจนวัตกรรมการออกแบบที่ช่วยปกป้องสุขภาพมนุษย์

  • 30 Jun 2020
  • 16652

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของปี 2020 โลกได้ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม เทคโนโลยี รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งให้ทิศทางความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ด้วยความเร็วที่เราคาดไม่ถึงกันมาก่อน มนุษย์เราอาจไม่เคยต้องอยู่ร่วมกันอย่างระแวดระวังตามแนวทาง ‘รักษาระยะห่างทางสังคม’ หรือ Social distancing อย่างนี้มาก่อน ถึงแม้ว่ามีความพยายามในการจำกัดความให้แตกต่างออกไปว่าแท้ที่จริงแล้วควรจะเป็นคำว่า ‘การรักษาระยะห่างทางกายภาพ’ หรือ Physical Distancing มากกว่า แต่เราอาจจะต้องยอมรับกันว่า วัฒนธรรมทางสังคมหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
 
Social Distancing กำลังสร้างความตระหนักด้านสุขภาพและความเป็นอยู่รูปแบบใหม่ หรือ ‘The new well-being’ ให้กับมนุษย์ เราจะพบเห็นรูปแบบสินค้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยและระแวดระวังการระบาดของเชื้อไวรัส อาทิ อุปกรณ์ป้องกันพื้นฐานอย่างหน้ากากอนามัย ที่นอกจากจะพบเห็นรูปร่างหน้าตาและสีสันที่มีขายกันมากมายในปัจจุบัน จนมีความพยายามศึกษาวัสดุทางเลือกอื่น ๆ ที่จะใช้ทดแทนเส้นใย PPE อย่างสองนักออกแบบชีวภาพและศิลปินจาก Sum Studio ‘Elizabeth bridges’ และ ‘Garrett benisch’ ที่ทดลองเพาะเชื้อแบคทีเรีย Acetobacter Xylinum ในช่วงเวลาที่ทั้งสองต้องกักตัวอยู่บ้านจากชาและน้ำตาลให้เกิดเส้นใยเซลลูโลสเพื่อนำมาตัดเย็บหน้ากากอนามัยที่เรียกว่า ‘ไซลินัม มาสก์ (Xylinum Mask)’ ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหน้ากากอนามัยจากผ้าและยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือหน้ากาก Face Shields ที่ได้กลายมาเป็นไอเทมใหม่ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน 

 

ส่งผลไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้ขนทีมนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมของบริษัท มาร่วมกันออกแบบและผลิตหน้ากากชนิดนี้กว่า 20 ล้านชิ้น เพื่อส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ โดยทาง ทิม คุก CEO ของแอปเปิล ถึงขั้นออกมาประกาศทางทวิตเตอร์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมชิ้นใหม่ของแอปเปิล หรือ ‘ZShield Flex’ หน้ากาก Face Shields ออกแบบมาสำหรับพนักงานบริการโดยเฉพาะ สวมใส่ง่าย สามารถปรับขนาดได้โดยไม่ต้องสัมผัสบริเวณหน้ากากพลาสติก และใช้วัสดุที่ป้องกันการเกิดไอน้ำ 

โรงพยาบาลลอนดอนในอังกฤษ ได้ร่วมมือกับ Microsoft Teams พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘HoloLens’ หน้ากากที่มาพร้อมหูฟังและกล้องติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ฉายภาพโฮโลกราฟิกในการเข้าไปรักษาหรือดูอาการผู้ป่วย เพื่อลดจำนวนทีมแพทย์ในวอร์ดและลดการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรงพยาบาลลอนดอนในอังกฤษ ได้ร่วมมือกับ Microsoft Teams พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘HoloLens’ หน้ากากที่มาพร้อมหูฟังและกล้องติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ฉายภาพโฮโลกราฟิกในการเข้าไปรักษาหรือดูอาการผู้ป่วย เพื่อลดจำนวนทีมแพทย์ในวอร์ดและลดการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย

 

การล้างมือกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันของเราทุกคน เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือถูกคิดค้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สตูดิโอออกแบบในกรุงลอนดอน Bompas & Parr ได้จัดการประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับการล้างมือที่มีชื่อว่า Fountain of Hygiene Competition โดยผลงาน ‘The Bubble Party’ จาก Steve Jarvis Design ชนะการประกวดในประเภทการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) เครื่องปล่อยฟองสบู่ที่มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดออกมา ซึ่งเครื่องนี้ทำจากวัสดุทองแดงที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อไวรัส ทำให้การล้างมือกลายเป็นความสนุกกับการเล่นฟองสบู่และมีสุขอนามัยไปด้วยในตัว 

ผลงาน ‘Seaweed Capsules’ ของ Terry Hearnshaw ที่ชนะเลิศในประเภทการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำเจลล้างมือแอลกอฮอล์มาทำให้เป็นแคปซูลโดยใช้สาหร่าย ทำให้สะดวกในการพกพา ใช้งานง่ายมากขึ้น และยังย่อยสลายได้ ช่วยลดการเกิดขยะจากผลิตภัณฑ์ลงได้อีกด้วย 

การสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่กำลังเปลี่ยนแปลงตามมา อย่างในประเทศแถบละตินอเมริกา กว่า 70% ใช้เงินสดในรูปแบบธนบัตรในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ บริษัท NOS จึงพัฒนาเครื่องอบฆ่าเชื้อสำหรับเหรียญและธนบัตร โดยใช้หลอดไฟ LED UVC ชื่อว่า ‘UVC I MONEY SANITIZER’ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อจากคนสู่คน 


นวัตกรรมปุ่มกดลิฟท์ของห้างซีคอนสแควร์ของไทย ที่ใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการใช้เท้าในการกดลิฟท์ขึ้นชั้นต่าง ๆ ของห้าง หรือ ‘Push Stick’ ของ Qualy อุปกรณ์กดปุ่มลิฟท์โดยไม่ต้องสัมผัสที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากแหจับปลา



การใช้พื้นที่สาธารณะที่โดยปกติเราจะไม่ค่อยให้ความใส่ใจต่อสุขลักษณะมากนัก แต่ปัจจุบันกลับไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป หลายคนอาจรู้สึกไม่สบายใจในการใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่นหรือหลีกเลี่ยงการจับหรือสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได เป็นต้น ทำให้เกิดสินค้าที่มีแนวคิดของการ hand-free หรือ touch-less อย่าง ‘Hands-free door knob’ จากบริษัทออกแบบ Adapta ที่เป็นอุปกรณ์ช่วยหมุนลูกบิดประตูโดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส และยังพิเศษตรงที่ใช้นวัตกรรมเม็ดสีที่จะเปลี่ยนสีไปเมื่อคุณเผลอไปโดนบริเวณที่ใช้สัมผัสลูกบิด เพื่อช่วยเตือนให้คุณระมัดระวัง ‘3D-printed door openers’ ของ Materialise บริษัทออกแบบเบลเยี่ยมที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการผลิตอุปกรณ์ช่วยเปิดประตูที่ใช้แขนแทนการใช้มือสัมผัส และเรายังสามารถไปโหลดไฟล์มาพิมพ์ได้เองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 


 

ปุ่มกดให้สัญญาณการข้ามทางม้าลายจากสตูดิโอออกแบบ ODO อย่าง ‘dropkick’ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดการสัมผัสปุ่มสัญญาณแบบเดิมด้วยการใช้เท้าแทน และมีไฟในตัวพร้อมสัญญาณลูกศรที่แสดงสัญญาณการข้าม รวมไปถึงใช้เทคโนโลยี NFC (Near-field communication) แจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ที่รอข้ามเมื่อถึงเวลาข้ามถนน 



การจัดการพื้นที่สาธารณะในเชิงการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน อย่างโครงการการจัดการพื้นที่ทานอาหารสาธารณะ ‘The Gastro Safe Zone’ จากบริษัท HUA HUA Architects ในสาธารณรัฐเช็ก ได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์และจัดการพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารโดยแต่ละชุดเฟอร์นิเจอร์จะนั่งทานได้ไม่เกิน 3 คน พร้อมเส้นแบ่งเขตระยะปลอดภัย เพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรฐาน social distancing โดยโครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นธุรกิจอาหารในย่านที่ซบเซาได้กลับขึ้นมาอีกครั้ง






อีกหนึ่งโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่ชื่อว่า ‘Parc de la Distance (ปาร์ค เดอ ลา ดิส -ตองซ์)’ โดยบริษัทออกแบบด้านภูมิสถาปัตย์ชื่อ Precht สวนสาธารณะสำหรับการ social distancing ในกรุงเวียนนาของออสเตรียแห่งนี้ ถูกออกแบบให้มีทางเข้าออกที่มีลักษณะเหมือนเขาวงกต การวางแปลนทางเดินที่ผู้เดินจะไม่มีโอกาสเข้าใกล้กันในระยะ 1.5 เมตร โดยแต่ละเส้นทางการเดินยาวกว่า 600 เมตร และทางเข้าออกจะมีการระบุด้วยว่าเส้นทางนี้ว่างอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนคนในการใช้งาน

นวัตกรรมการออกแบบยังช่วยให้ความรู้ความเข้าใจด้านสุขอนามัยที่สำคัญอย่างการล้างมือ ‘Time-Changing Hand Sanitiser’ โดยสองนักออกแบบชาวจีน Pino Wang และ Frank Chou นำเสนอไอเดียผลิตภัณฑ์ล้างมือที่สามารถเปลี่ยนสีตามระยะเวลาการใช้งาน เมื่อผู้ใช้บีบออกมาจากขวด สบู่เหลวจะเริ่มทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้สีเปลี่ยนไปจากสีชมพูเป็นสีม่วง และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเมื่อครบ 30 วินาที เพื่อให้ใช้ระยะเวลาในการล้างมือได้อย่างถูกต้อง หรือการให้ความรู้เรื่องการกอดในช่วงการแพร่ระบาด โดย Tara Parker-Pope บรรณาธิการของ The New York Times และ Eleni Kalorkoti นักวาดภาพประกอบ ร่วมกันออกแบบคู่มือการกอดอย่างถูกต้องที่ช่วยอธิบายท่าทางการกอดอย่างไรที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อกัน


เรียบเรียงโดย ฐิติญาณ สนธิเกษตริน
 

อ้างอิง:
‘sum studio's home-grown cellulose mask promotes the benefits of biodesign’, designboom.com
‘Apple’s newest product is a face shield to protect against COVID-19’, fastcompany.com 
‘A face shield for service industry workers’, designvanguard.org
‘Doctors in London hospitals are using headsets from Microsoft to reduce the amount of staff coming into 
contact with COVID-19 patients’, businessinsider.com
‘Mexico-based design agency Nos launches money sanitisers’, covidinnovations.com 
‘Thai mall puts pedals in lifts to keep COVID-19 at bay’, channelnewsasia.com
‘'dropkick' is a handsfree pedestrian crossing button for a post pandemic world’, designboom.com
‘GASTRO ŽIJE!’, huahua.cz
‘Parc de la Distance is green space designed for social distancing’, globetrender.com 
‘How to Hug During a Pandemic’, nytimes.com
‘งานประกวดแบบที่ผลักดันการคิดค้นวิธีใหม่สำหรับการล้างมือ’, designmatters-magazine.com