Welcome Back
Technology & Innovation

Welcome Back

  • 03 Jul 2020
  • 10197

ภาพชายหาดที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน สร้างความหวาดวิตกให้กับหน่วยงานสาธารณสุขในการย้ำเตือนถึงการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ทว่าการทำงานอย่างหนักและความเครียดที่สะสมมาตลอดช่วง 3 เดือนที่ปิดเมืองน้ัน ไม่อาจทำให้ผู้คนปฏิเสธความเย้ายวนของการพักร้อนได้ และในมุมมองทางเศรษฐกิจ การโหยหาการเดินทางนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่รัฐบาลต่างก็มุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศเลวร้ายลงไปอีก 

ทางสองแพร่งระหว่างมาตรการสาธารณสุขและการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงได้เวลามาพบกัน ทำให้แนวคิดการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐถูกริเริ่มมากขึ้น ตั้งแต่  “Travel Bubble” หรือการท่องเที่ยวในรูปแบบของจับคู่ระหว่างประเทศซึ่งคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นในกลุุ่่มสหภาพยุโรปที่เปิดชายแดนให้เดินทางระหว่างกัน และการจับมือกันระหว่างประเทศจีนและสิงคโปร์เพื่อรองรับช่วงโกลเดนวีกของชาวจีนในเดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึง ตลอดถึงแนวคิดของการพัฒนาที่ไม่ได้เน้นแค่ความปลอดภัย แต่ยังต้องดีขึ้นอีกด้วย 

ID One ของ IATA หรือสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ที่ต้องการมอบความสะดวกสบายให้กับผู้เดินทางแบบไร้รอยต่อ ด้วยการเชื่อมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบตัวตนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง และ โครงการ Known Traveller Digital Identity (KTDI) ที่ริเริ่มจากการประชุม World Economic Forum ในการเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกมาร่วมมือกันทำให้การเดินทางในยุคโควิด-19 ไม่เพียงปลอดภัย แต่ยังต้องไม่ทำให้ผู้เดินทางเสียเวลาในการรอคอยคิวเช็กอินและตรวจสุขภาพอันยาวนานทั้งก่อนขึ้นและหลังลงจากเครื่องบิน ด้วยระบบการแจ้งข้อมูลของผู้เดินทางล่วงหน้าเพื่อยืนยันตัวตนและสุขภาพ ที่สามารถใช้ครอบคลุมได้ตั้งแต่การเช็กอินที่สนามบิน เชื่อมต่อกับการตรวจคนเข้าเมืองและการเข้าพักในโรงแรม ซึ่งความเป็นไปได้ของระบบนี้ นอกจากต้องอาศัยความก้าวหน้าของระบบไบโอเมตริกที่ใช้ในการพิสูจน์ตัวบุคคลทางชีวภาพโดยไม่ต้องแตะนิ้วมือเพื่อลดการสัมผัส และใช้การจดจำใบหน้า หรือการใช้เสียงในการสั่งการและประเมินผลข้อมูลเพื่อระบุความเสี่ยงของบุคคลแทนแล้ว ยังเป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ และที่สำคัญคือความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐและประชาชนในการรักษาความเป็นส่วนตัวและการป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลออกไป ดังนั้นหลักคิดของ KTDI จึงให้ความสำคัญกับนักเดินทางเป็นศูนย์กลาง (Traveller-Centric) โดยเปิดโอกาสให้นักเดินทางสามารถเลือกที่จะแชร์ข้อมูลใดและกับหน่วยงานใดที่ต้องใช้ โดยไม่บังคับว่าต้องเปิดเผยทั้งหมด โครงการนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบโดยมีสายการบินแคนาดาและเคแอลเอ็มเป็นพาร์ตเนอร์หลัก ทั้งยังต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าหลักปฏิบัติใหม่ในการเดินทางนี้จะเกิดขึ้น 

แต่สำหรับนักเดินทางแล้ว อุปสรรคเดียวของการเดินทางข้ามประเทศ น่าจะเป็นเรื่องของมาตรการห้ามคนเข้าประเทศเพื่อลดความเสี่ยง เพราะจากข้อมูลของสมาคมการท่องเที่ยวในหลายประเทศต่างก็เห็นตรงกันว่า การเดินทางยังเป็นความปรารถนาของผู้คน ทริปท่องเที่ยวในประเทศที่ใช้เวลาเดินทางไม่ไกล อย่างเช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดรอบๆ จึงเริ่มฟื้นตัวก่อน และคนกลุ่มแรกที่พร้อมเดินทางมากกว่าใครก็คือชาวมิลเลนเนียล ที่สมรรถนะของร่างกายพร้อมและยังคุ้นเคยกับระบบดิจิทัลที่เป็นเครื่องมือหลักในการท่องเที่ยวและการรักษาระยะห่างอย่างมาก การต้อนรับลูกค้ากล่มแรกนี้จึงมีโจทย์ที่ต้องขบคิดมากมาย นอกจากการวางแผนการตลาดออนไลน์ที่โดนใจ การสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในระดับที่รับได้ ก็ยังต้องสร้างสรรค์แพ็กเกจที่มอบทั้งความประทับใจในราคาน่ารักและมีความยืดหยุ่นพร้อมรับการยกเลิกจากลูกค้า การปรับโครงสร้างธุรกิจและต้นทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จึงเป็นความท้าทายขนานใหญ่ ซึ่งถ้าหากผ่านไปได้ก็จะพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของสถานการณ์การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเต็มตัวในอีก 12-16 เดือนข้างหน้า

ที่มาภาพ : twitter.com/AeroportidiRoma

มนฑิณี ยงวิกุล
บรรณาธิการอำนวยการ