พลังงานภายใต้เงื่อนไขใหม่
Technology & Innovation

พลังงานภายใต้เงื่อนไขใหม่

  • 05 Sep 2020
  • 8308

ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานโดยเฉพาะโลกยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน ที่ล้วนอาศัยไฟฟ้าทั้งหมด และนับวันความต้องการไฟฟ้ายิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบเดิมมีข้อจำกัดลงทุกวัน คำถามในวันนี้คืออีสานบ้านเราจะผลิตพลังงานสะอาดอย่างไร จากทุนธรรมชาติที่เรามี อาทิ แสงแดด ลม หรือเศษเหลือจากการเกษตร เพื่อลดโลกร้อน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุด

ร่มเกล้าวินด์ฟาร์ม ณ จังหวัดมุกดาหาร 
ที่มาภาพ: kaijeaw.in.th

พื้นที่ศักยภาพพลังงานลม แลนด์มาร์กใหม่อีสาน 
จากเวทีเสวนา เดอะ ฟิวเจอร์ เอเนอร์จี โชว์ปีที่ผ่านมาฉายภาพสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทยไว้ว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพลังงานลมในประเทศไทย อยู่ในภาคอีสานถึง 86% จึงไม่น่าเเปลกใจที่ปัจจุบันมีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในภาคอีสานทั้งจังหวัดนครราชสีมาเเละชัยภูมิร่วม 10 เเห่ง โดยลมที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว เกิดขึ้นและพัดในทิศทางที่แน่นอน เป็นระยะเวลานานตลอดทั้งฤดูกาล เป็นประจำทุกปี

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
บริเวณที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุดของประเทศอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด โดยเดือนเมษายนเป็นช่วงที่รังสีดวงอาทิตย์มีค่าสูง นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคที่มีอากาศร้อนชื้น ท้องฟ้าโปร่งมากกว่ามีเมฆฝน ตอบโจทย์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์ที่ปริมาณความเข้มของรังสีจากดวงอาทิตย์สูงจะทำให้ได้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูง โดยรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีทั่วภูมิภาคประมาณ 17.3 – 18.59 MJ ต่อตารางเมตรต่อวัน

โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพหญ้าเนเปียร์
จากหญ้าที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ วันนี้เนเปียร์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ด้านวัตถุดิบด้านพลังงาน โดยใช้หมักร่วมกับมูลสัตว์ กลายเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพ และผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์เกิดขึ้นที่อำเภอสว่างวีรวงศ์ อุบลราชธานี ที่มีชุมชนร่วมเป็นเจ้าของด้วยการปลูกเเละส่งต่อหญ้าเนเปียร์สู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยขยายไปยังชมรมวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ภาคอีสานในจังหวัดศรีสะเกษ นคราชสีมา มหาสารคาม และสกลนคร ต่อไป

การหมุนเวียนทรัพยากร
ทุกวันนี้มีพลาสติกจำนวนมากที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ถูกทิ้งเป็นขยะอย่างไร้ค่า แล้วพลาสติกใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกลายเป็นขยะต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จนมันได้สร้างปัญหาให้กับธรรมชาติ แล้ววกกลับมาทำร้ายเราอีกครั้ง วงจรนี้สามารถหยุดได้โดยการสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรในลักษณะ "ลูป(Loop)" ซึ่งอาศัย "การออกแบบ" ตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าจะใช้วัสดุอย่างไร ผลิตอย่างไร ผู้ใช้ใช้อย่างไร ทิ้งหรือเลิกใช้อย่างไร แล้วจะนำกลับมาใช้ใหม่ยังจุดเริ่มต้นได้อย่างไร ร่วมกันคิดทั้งระบบเพื่อลดการนำเข้าทรัพยากรใหม่ เพิ่มคุณค่าให้กับตัววัสดุและลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น

ที่มาภาพเปิด : ec.europa.eu