
จุดเปลี่ยนด้านคมนาคมและขนส่งของโลก
ความก้าวหน้าด้านการคมนาคมขนส่งล้วนมีผลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้า การบริการ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ปัจจุบันเมืองสำคัญทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและจะเข้าสู่ระดับมหานครที่มีจำนวนประชากรมากกว่าสิบล้านคน องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีมหานครที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน มากถึง 43 แห่ง ในปี 2050 สัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเขตเมืองทั่วทุกมุมโลกจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 68% หรือประมาณ 6,300 ล้านคน จากประชากรโลกทั้งหมด 9,800 ล้านคน อินเดียจะครองตำแหน่งประเทศที่มีคนอาศัยในเขตเมืองมากที่สุดในโลก ราว 416 ล้านคน รองลงมาคือจีน ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรในเขตเมือง 255 ล้านคน
ในโลกดิจิทัลเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากวิธีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม การเดินทาง และกระทั่งเปลี่ยนเมืองทั้งเมือง จึงเป็นโจทย์อันท้าทายของทุกฝ่ายที่จะต้องวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้สามารถตอบโจทย์ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนทุกกลุ่ม และทุกชีวิต ตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ถนนหนทาง ไปจนถึงระบบขนส่งโลจิสติกส์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) หรือ IoT ทำให้สามารถเก็บข้อมูลของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเมืองได้แทบทุกอย่าง เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์แก้ไขปัญหา วางนโยบาย และตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกบันทึกไว้ เช่น การแก้ไขปัญหารถติด หากรถไฟใต้ดินเกิดขัดข้องล่าช้า ทางสถานีก็สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบทันทีและแนะนำวิธีเดินทางหรือเส้นทางอื่นๆ การเข้าถึงข้อมูลมหาศาลยังหมายถึงโอกาสที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนและภัยอันตรายในเมือง ตลอดจนวางแผนจัดการทรัพยากรสำหรับอนาคต โดยคาดการณ์จากข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลอย่างชาญฉลาด ที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและออกแบบความเป็นอยู่ที่ดีในแบบของตนเอง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระบบ IoT หุ่นยนต์ (Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (Aritficial Intelligence) หรือ AI ตลอดจนนวัตกรรมด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบตั้งแต่ค่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค รูปแบบยวดยานพาหนะ ไปจนถึงวิถีความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในเมือง 4-5 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาโลดแล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์และแข่งกันเป็นผู้คว้าชัยชนะของการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ จากบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง Microsoft ที่พัฒนาระบบผู้ช่วยขับอัตโนมัติ (Driver Assistance Systems: ADAS) มาจนถึงธุรกิจที่ให้บริการเรียกรถหรือ Ride-hailing เช่น Lyft และ Uber ทาง Mckinsey & Co. บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลกคาดการณ์ว่ารถยนต์ขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ (Semi-autonomous Car) หรือระบบอัตโนมัติระดับ 4 จะเริ่มออกจากสนามทดสอบมาสู่ถนนจริงประมาณปี 2020-2022 แม้จะขับเคลื่อนได้เอง แต่ก็ยังต้องพึ่งการตัดสินใจและการควบคุมของผู้ขับในกรณีฉุกเฉิน ส่วนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบหรือระดับ 5 (Full-autonomous Car) นั้นใช้เวลาพัฒนานานกว่ามากจึงจะทำงานเทียบเท่ากับมนุษย์และตัดสินใจเองได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกสถานการณ์ คาดว่าอย่างเร็วสุดคือภายในปี 2030
นวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ผลิต ผู้ลงทุน และผู้บริโภค เลือกรูปแบบยวดยานพาหนะ
เพื่อตอบโจทย์ด้านวิถีความเป็นอยู่และลดการปล่อยก๊าซพิษที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ: European Environment Agency
สถานการณ์การพัฒนาธุรกิจยานยนต์ในยุโรปในปี 2018 คาร์โล ราตติ (Carlo Ratti) สถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อดังแห่ง Carlo Ratti Assosicati (CRA) ได้เปิดตัวโครงการออกแบบถนนอัจฉริยะ ร่วมกับ ANAS บริษัทก่อสร้างถนนและโครงสร้างทางคมนาคมรายใหญ่ในอิตาลี ถนนอัจฉริยะนี้กินระยะทางรวมไม่ต่ำกว่า 2,500 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่ถนนจนถึงทางด่วน ถือเป็นโครงการแรกที่นำโดรนเข้ามาใช้ควบคู่กับระบบถนนอัจฉริยะ โดรนจะทำหน้าที่ตรวจตราสภาพการจราจรบนท้องถนน และสังเกตการณ์โดยรวมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและภัยอันตรายต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ในกรณีฉุกเฉินหรือมีคนได้รับบาดเจ็บ โดรนจะขนส่งกล่องยาและเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปช่วยเหลือในที่เกิดเหตุทันที นอกจากนี้โดรนจะทำงานเชื่อมต่อกับสถานีชาร์จโดรนซึ่งเป็นเสาตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ บนท้องถนน เก็บบันทึกข้อมูล ประมวลผลวิเคราะห์การเดินทางสัญจรบนท้องถนนจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งรายงานข้อมูลสำคัญให้ผู้ใช้ถนนทราบแบบเรียลไทม์ เช่น แจ้งเตือนถนนชำรุด รายงานสภาพการจราจร สภาพอากาศ คาร์โลชี้ว่าการสร้างถนนอัจฉริยะจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุค Internet of Roads ตอบรับการมาถึงของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของการเดินทางอย่างแน่นอน
จีนเองก็กำลังเดินหน้าสร้างถนนอัจฉริยะสำหรับรถยนต์ไร้คนขับในเมืองต่างๆ ตามนโยบาย Made in China 2025 ของรัฐบาล บริษัท Qilu Transportation Development Group Co. Ltd เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาถนนสเกลยักษ์ ได้แก่ การสร้างทางด่วนอัจฉริยะในเมืองจี่หนาน มณฑลชานตง ทางด่วนนี้มีแผงโซลาร์เซลล์ ระบบเซ็นเซอร์นำทางและเทคโนโลยี IoT ติดตั้งภายใน นอกจากจะชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างทางวิ่งได้แล้ว ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างบนถนนไฮเวย์และอีก 800 ครัวเรือนในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันบริษัทเตรียมสร้างทางด่วนอัจฉริยะขนาด 6 เลนในมณฑลเจ้อเจียง ด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกัน โดยอ้างว่าช่วยประหยัดเวลาเดินทางจากเมืองหางโจวไปยังเมืองหนิงโปซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเดียวกันได้ 20-30% (ระยะทางประมาณ 161 กิโลเมตร) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022 บริษัทยังชี้ว่าถนนอัจฉริยะนั้นได้รับการออกแบบมาให้รองรับการมาถึงของรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการขนส่งเดินทางทั่วโลก ดังที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ว่า 10% ของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully-automated Vehicle) จะเริ่มออกสู่ท้องถนนภายในปี 2030
การจัดหาพลังงานหมุนเวียนในปี 2050 เป็นการลงทุนเพื่อสภาพแวดล้อม
ในจีนอัตราการเกิดมลพิษอย่างรุนแรง ส่งผลต่อความต้องการใช้งานด้านพลังงานหมุนเวียนตรงกับปริมาณของการผลิต
โดยจีนให้ความสำคัญในการลงทุนตั้งแต่พลังงานขั้นต้นในโครงสร้างการคมนาคมและการขนส่ง ใช้แหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดและในสัดส่วนที่สูงขึ้น
สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าภายใต้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ อุตสาหกรรมสายการผลิตทั่วโลกจำเป็นต้องปรับตัวกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัว รายงานศึกษาโดย Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก ระบุว่าเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน 60% และลดอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 90% สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในข้อที่ 11 ว่าด้วยการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงด้านระบบขนส่งและการคมนาคมที่กลายเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับทุกภูมิภาคโลก
ที่มาภาพเปิด: Unsplash @Izuddin Helmi Adnan
ที่มา :
บทความ “High Proportion Renewable Energy Supply and Demand Structure Model and Grid Impaction”, เข้าถึงจาก researchgate.net
บทความ ‘Autonomous Vehicles Readiness Index’. KPMG, เข้าถึงจาก assets.kpmg