จากแบรนด์ดิ้งเมืองสู่เครือข่ายเมือง (Network Cities) ตอนที่ 1
Technology & Innovation

จากแบรนด์ดิ้งเมืองสู่เครือข่ายเมือง (Network Cities) ตอนที่ 1

  • 23 Sep 2020
  • 13069

องค์สหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2045 สัดส่วนของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นน่าจะมีการเพิ่มขึ้นจาก 50% มาสู่ 70% พื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุดอย่างพื้นที่ในทวีปเอเชีย มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 250 ถึง 300 ล้านคน ที่มีแนวโน้มว่าจะย้ายจากพื้นที่ชานเมืองหรือชนบท เข้ามาสู่ใจกลางเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีน แม้ว่าต่อให้อยู่ในพื้นที่ชานเมืองแล้วจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ทำงานทางไกลได้แล้วก็ตาม การขยายตัวของเมืองและสัดส่วนประชากรที่ย้ายมาอาศัยแถบชานเมืองเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะขยายตัวตาม เพื่อรองรับการดำเนินชีวิต ไม่เว้นแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ และที่พักอาศัย จนส่งผลต่อการลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 50% เพื่อเชื่อมชานเมืองโดยรอบให้เข้าถึงใจกลางของเมืองอย่างง่ายดายและไร้ข้อจำกัด 

ในขณะที่คนชนบทเดินทางเข้าสู่เมือง ชนชั้นกลางในเมืองกลับมีแนวโน้มย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในเขตชานเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 160 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนเขตชานเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิม  อย่างการเพิ่มอัตราในการเข้าถึงสินค้าเเละบริการ สร้างความเชื่อมโยงกับทรัพยากรเดิม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองใหม่ด้วยระบบที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการสื่อสารอย่างไร้ข้อจำกัด

การขยายตัวของเมืองนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ที่ซึ่งประชากรนับพันล้านคนได้ย้ายที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ชานเมืองหรือชนบทเข้ามาสู่ในเมือง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคมเเละเศรษฐกิจศูนย์กลางของเมืองและชานเมืองก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป ผลที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมือง การเติบโตของเมืองนั้นขับเคลื่อนประเทศที่กำลังพัฒนา เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นกับสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติ เกิดความต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในระดับมหภาค เกิดแรงกดดันเรื่องปัญหาความยากจน ที่ครอบคลุมเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ไม่ได้เป็นทางการ

©Siemens Megacity

หนึ่งในตัวอย่างการจัดการจากพื้นที่ชานเมืองหรือชนบทเข้ามาสู่ในเมืองได้อย่างไร้รอยต่อ คือการสร้างแผนผังเมืองของชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของฟังก์ชันการใช้ชีวิต จะสังเกตเห็นว่าแหล่งช็อปปิ้งความบันเทิงจะตั้งอยู่ใจกลาง ลำดับถัดมาคือแหล่งให้บริการของภาครัฐ อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ หลายเมืองยังมีกิจกรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เช่น ห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ เช่น แมนฮัตตันในนิวยอร์กซิตี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประมาณ 70 แห่ง  การออกแบบที่ตั้งที่เหมาะสม  เช่นเดียวกับการออกแบบสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอาจตั้งอยู่ในส่วนอื่นๆ ของเมือง จะเป็นส่วนช่วยในการกระจายความเป็นเมืองให้ออกไปจากใจกลางได้ (ดังภาพขวาสุด)

นอกจากนี้ในรายงานการศึกษาจาก Siemens Megacity พบว่าการเคลื่อนย้ายของจำนวนประชากรที่เข้าเขตเมืองเพิ่มขึ้น ดึงดูดให้นักลงงทุนเข้ามาลงทุนเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาระบบเมืองให้ดียิ่งขึ้น โดยสถิติสูงสุดของความต้องการของประชาชนเขตเมืองที่ตอบสนองสอดคล้องกับการลงทุนคือการลงทุนด้านระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 86% รองลงมาคือระบบการศึกษาและสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะจำนวน 77% จากสถิติคาดว่าการลงทุนพัฒนาในเขตเมืองหรือจุดเชื่อมต่อเมืองจะเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่มีจำนวนการลงทุนอยู่ที่ 360 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 920 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2050 โดยการลงทุนหลักจะเน้นไปเพื่อพัฒนาเมืองในรูปแบบสมาร์ทซิตี้

ที่มาภาพเปิด : Matthew T Rader จาก unsplash.com

ที่มา :
บทความ “The Future of Urban Mobility 2.0” จาก uitp.org
บทความ “How autonomous vehicles are driving change for smarter cities” จาก information-age.com
บทความ “Special Report: Smart Cities” จาก urenio.org
บทความ “Smart City Smart Citizen Smart Tourism” จาก tatreviewmagazine.com