ลดค่าแอร์ด้วย “ระบบหล่อเย็นกลาง” แนวคิดใหม่ในเมืองรักษ์โลกแห่งแรกของสิงคโปร์
Technology & Innovation

ลดค่าแอร์ด้วย “ระบบหล่อเย็นกลาง” แนวคิดใหม่ในเมืองรักษ์โลกแห่งแรกของสิงคโปร์

  • 07 Jan 2021
  • 971

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสิงคโปร์คือ "สภาพอากาศ" แม้จะสามารถกระจายพื้นที่สีเขียวไปทั่วทั้งเกาะได้ แต่อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีก็ยังสูงถึง 27 องศาเซลเซียส ประชาชนสิงคโปร์จึงเปิดแอร์กันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และปล่อยคาร์บอนซุ้งเป็นสาเหตุของโลกร้อน

รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความรับผิดชอบในเรื่องการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ จึงตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2050 เป้าหมายนี้นำมาสู่โครงการเมืองใหม่ "Tengah" โครงการขนาดใหญ่กว่า 4,300 ไร่ ทางตะวันตกของเกาะที่ตั้งเป้าจะเป็น "เมืองรักษ์โลก" แห่งแรกของสิงคโปร์

รายละเอียดการสร้างเมืองเต็งกาห์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ตั้งแต่การเป็นเมืองลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยจะสร้างถนนและรถไฟฟ้าไว้ใต้ดินทั้งหมด เพื่ออุทิศพื้นที่บนดินให้เป็นทางเดินและทางจักรยาน ไปจนถึงการสร้างฟาร์มชุมชนเพื่อให้มีแหล่งอาหารแบบ farm-to-table ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบหนึ่งที่น่าสนใจและนับได้ว่าเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่คือ เมืองนี้จะมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมรวม 42,000 ยูนิต (แบ่งเป็นแฟลตการเคหะแห่งชาติ 30,000 ยูนิต และคอนโดมิเนียมเอกชน 12,000 ยูนิต) และกลุ่มอาคารส่วนหนึ่งในจำนวนนี้จะใช้การทำความเย็นด้วย "ระบบหล่อเย็นส่วนกลาง" (Centralised cooling system) แทนที่เครื่องปรับอากาศแบบดั้งเดิม

ทำความเย็นบนยอดตึก ปล่อยลงมาถึงชั้นล่าง
บริษัทผู้รับเหมาติดตั้งระบบดังกล่าวคือ SP Group บริษัทด้านพลังงานของสิงคโปร์ และ Daikin บริษัทเครื่องปรับอากาศจากญี่ปุ่น บนหน้าเว็บไซต์ mytengah.sg บริษัทอธิบายระบบการทำงานของระบบหล่อเย็นส่วนกลางนี้ว่า เป็นครั้งแรกของสิงคโปร์ที่อาคารที่พักอาศัยจะใช้ระบบนี้ และเป็นไปได้ว่าเป็นเจ้าแรกของโลกด้วย

วิธีการทำงานของระบบหล่อเย็นส่วนกลางคือ อาคารจะติดตั้ง "คอมเพรสเซอร์ขนาดอุตสาหกรรม" ไว้บนยอดตึก คอมเพรสเซอร์นี้จะทำน้ำเย็นส่งไปตามท่อถึงทุกห้องในอาคาร ภายในห้องจะมีเครื่องปรับอากาศซึ่งจะเป่าลมผ่านน้ำเย็นนี้ส่งออกมาในห้อง พร้อมกันนั้นเครื่องจะดูดเอาความร้อนในห้องถ่ายเทให้กับน้ำในท่อ ไหลกลับขึ้นไปด้านบนเพื่อทำความเย็นวนกลับลงมาใหม่

ทีเด็ดอีกอย่างของระบบนี้คือ พลังงานที่ใช้กับคอมเพรสเซอร์บนยอดตึกจะมาจาก "แผงโซลาร์รูฟ" ที่ติดไว้คู่กัน ทำให้ระบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นเพราะใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน

ในแง่ประสบการณ์ใช้งาน ทางบริษัทอธิบายว่า แอร์จะกลายเป็นเสมือนสาธารณูปโภคอย่างหนึ่ง ในลักษณะเดียวกับน้ำประปาและไฟฟ้า โดยมีมิเตอร์คิดหน่วยใช้งานแยกสำหรับแอร์โดยเฉพาะ สามารถสั่งเปิด-ปิด ปรับองศาความเย็นได้ตามต้องการ และเมื่อเป็นระบบส่วนกลาง ผู้ใช้จะไม่มีคอมเพรสเซอร์ส่วนของตนเองที่ต้องคอยดูแลซ่อมบำรุง เหลือแต่เพียงตัวเครื่องปรับอากาศที่ควรหมั่นถอดล้างฟิลเตอร์เหมือนกับแอร์ปกติ

นอกจากนี้ ระบบยังตอบรับโลกยุคอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยผู้ใช้สามารถสั่งงานเปิด-ปิด ปรับองศาแอร์ได้จากระยะไกลผ่านสมาร์ทโฟน และสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่าใช้พลังงานไปมากแค่ไหนในแต่ละเดือน

ส่วนความกังวลของผู้ใช้บางคนที่มองว่า การนำระบบไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอาจทำให้ระบบไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าคอมเพรสเซอร์เสียหายจะทำให้ "แอร์ดับทั้งตึก" (เหมือนกับหม้อแปลงระเบิดและทำให้ไฟฟ้าดับทั้งย่าน) บริษัทได้ป้องกันปัญหานี้ด้วยการเชื่อมระบบหล่อเย็นเป็น "คลัสเตอร์" หากคอมเพรสเซอร์ประจำตึกได้รับความเสียหาย หรืออยู่ระหว่างซ่อมบำรุง ระบบจะดึงน้ำเย็นจากอาคารอื่นมาใช้ก่อนชั่วคราว ทำให้ระบบมีเสถียรภาพ

แม้ว่าระบบหล่อเย็นส่วนกลางจะใช้ครั้งแรกในอาคารเพื่อการพักอาศัย แต่ SP Group เคยติดตั้งระบบเดียวกันนี้มาแล้วในอาคารเชิงพาณิชย์ย่าน Marina Bay รวมมากกว่า 20 อาคาร รวมถึงอาคารรูปเรือยักษ์ Marina Bay Sands ที่เราคุ้นเคยด้วย ทางบริษัทยังกล่าวด้วยว่า หลังเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2006 ระบบนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100%

ลดค่าใช้จ่าย 30%
ปัจจุบันมีผู้ซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียม Tengah ที่เซ็นสัญญาใช้ระบบหล่อเย็นส่วนกลางแล้ว 1,663 ยูนิต จากที่เปิดขายมากกว่า 8,000 ยูนิต ทั้งนี้ SP Group กล่าวว่า บริษัทกำลังทยอยติดต่อนำเสนอผู้ซื้อ ซึ่งดำเนินการได้ช้ากว่าปกติ เพราะโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่หากได้รับการนำเสนอแล้วมักจะตัดสินใจใช้ระบบหล่อเย็นส่วนกลางถึง 9 ใน 10 คน

แรงจูงใจต่อผู้ซื้อนั้นมีทั้งประโยชน์ที่ได้กับตนเองและต่อสังคม เนื่องจากค่าใช้จ่ายของการใช้ระบบหล่อเย็นส่วนกลางนั้น "ถูกกว่า" การใช้แอร์ปกติ โดยบริษัทกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายการติดตั้งเบื้องต้นจะถูกกว่า 15-20% และลดค่าใช้จ่ายประจำเดือนไป 30% เมื่อประหยัดกว่าและมีกรณีศึกษาจาก Marina Bay ว่าได้ผลจริง ผู้ซื้อจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก

ส่วนการสร้างประโยชน์ต่อสังคมคือ SP Group คิดคำนวณแล้วว่า หลังจากเมือง Tengah สร้างเสร็จสมบูรณ์ ระบบหล่อเย็นส่วนกลางทั้งหมดจะทำให้แฟลตการเคหะฯ ของเมืองนี้ลดการใช้ไฟฟ้าไปปีละ 30 กิกะวัตต์/ชั่วโมง (Gwh) ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของห้องชุด 7,000 ห้อง และเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ถึง 4,500 คัน ทำให้ทุกคนที่ใช้ระบบนี้จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของตนเอง

ความสำคัญของนวัตกรรมนี้ไม่ได้มีผลดีเฉพาะกับสิงคโปร์ เพราะนวัตกรรมทำความเย็นเป็นเรื่องสำคัญกับทุกประเทศเขตร้อนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน

International Energy Agency (IEA) ได้จัดทำรายงานชี้ให้เห็นผลกระทบของเครื่องปรับอากาศ ว่า ปัจจุบันประชากรในอาเซียนยังครอบครองเครื่องปรับอากาศไม่มาก โดยมียอดขาย 40 ล้านเครื่องในปี 2017 แต่ตัวเลขนี้คาดว่าจะพุ่งขึ้นไปแตะ 300 ล้านเครื่องภายในปี 2040 หลังจากประชากรมีรายได้สูงขึ้นพอที่จะซื้อหาแอร์มาติดบ้าน และนั่นจะทำให้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 30% ของประชากรอาเซียนมาจาการใช้แอร์ ดังนั้น หากต้องการลดการใช้ไฟฟ้า ลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอน การเริ่มต้นที่นวัตกรรมทำความเย็นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด

อาคารที่พักอาศัยกลุ่มแรกจะเริ่มสร้างเสร็จปลายปี 2022 และจะทำให้โลกได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของโครงการ Tengah สิงคโปร์ ไม่แน่ว่าระบบหล่อเย็นส่วนกลางอาจเป็นคำตอบใหม่ของเมืองร้อนในการประหยัดไฟ และช่วยลดโลกร้อนไปด้วยกัน

เกี่ยวกับ "เมืองรักษ์โลก" Tengah
Tengah เป็นโครงการเมืองสร้างใหม่ขนาด 4,300 ไร่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกติดกับย่าน Bukit Batok และย่าน Jurong West ห่างจากย่าน Marina Bay ราว 16 กิโลเมตร คอนเซ็ปต์ของเมืองจะเป็นย่านที่พักอาศัย มีห้องชุดรวม 42,000 ยูนิตที่ทยอยก่อสร้างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปี 2037

เมืองนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการรักษาสิ่งแวดล้อม มีองค์ประกอบหลักที่จะเกิดขึ้นคือ ถนนและรถไฟฟ้าจะอยู่ใต้ดินทั้งหมด เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และทำให้พื้นที่บนดินเป็นทางเดิน ทางจักรยาน พื้นที่สีเขียว มีความร่มรื่นราวกับเป็น "เมืองในป่า" นอกจากนี้ โครงการจะจัดทำพื้นที่สำหรับเป็นฟาร์มชุมชนเพื่อความยั่งยืนด้านอาหาร ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีแหล่งอาหารสดใหม่แบบ farm-to-table ซึ่งดีต่อสุขภาพ

ตัวอาคารที่พักอาศัยนั้น นอกจากจะมีระบบหล่อเย็นส่วนกลาง (ติดตั้งเฉพาะบางอาคารในโครงการ) ยังมีระบบจัดการขยะอัตโนมัติ ลักษณะเป็นท่อส่งขยะฝังในตัวอาคารและลงสู่ใต้ดิน ก่อนจะส่งไปรวมที่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง เพื่อแยกขยะนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลต่อไป

ที่มาภาพ : mytengah.sg

ที่มา : 
mytengah.sg
hdb.gov.sg
straitstimes.com

เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล