ปรับองค์กรใหม่ด้วย 9 เทรนด์ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีแห่งปี 2021
Technology & Innovation

ปรับองค์กรใหม่ด้วย 9 เทรนด์ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีแห่งปี 2021

  • 11 Jan 2021
  • 2106

ปี 2020 เป็นปีแห่งดิสรัปชันอย่างแท้จริง เพราะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลต่อโลกอย่างรุนแรง เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการป้องกันการระบาดด้วยการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ และยากที่จะคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางใด

กระนั้น องค์กรต่างๆ ก็พยายามที่จะหากลยุทธ์เพื่อปรับตัว รวมทั้งเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านเพื่อรับมือกับสภาวการณ์ใหม่นี้ Gartner Group ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลทางด้านไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ได้มีการจัดทำรายงานชื่อว่า ‘แนวทางเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์แห่งปี 2021’ หรือ Top Strategic Technology Trends for 2021 โดยรวบรวมเอาเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับดิสรัปชันนี้ ซึ่ง Gartner เชื่อว่าจะเป็นแนวทางการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ และหากปรับตัวได้ก่อนก็จะได้เปรียบ

ในรายงานฉบับดังกล่าว Gartner ได้จัดแบ่งแนวโน้มเทคโนโลยีของปี 2021 ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. ด้าน People-Centric เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องทำให้กระบวนการทำงานที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ถูกแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

  2. ด้าน Location independence คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนพฤติกรรมของคนในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนโดยไม่ติดยึดกับสถานที่แบบเดิมอีกต่อไป

  3. ด้าน Resilient delivery วิกฤติโควิด-19 ตลอดจนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและมีความคล่องตัว องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากกระแส Digital disruption

เพื่อให้ครอบคลุมถึง 3 กลุ่มข้างต้น Gartner จึงมีข้อสรุปถึงแนวโน้มยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี 9 เทรนด์ด้วยกัน ได้แก่


©unsplash.com/@ort

เทคโนโลยีด้าน People-Centric

  • Internet of Behaviors (IoB) คือเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถเก็บข้อมูลของผู้คนได้มากขึ้น โดย IoB สามารถที่จะรวบรวมข้อมูล และประมวลผลจากแหล่งต่างๆ เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลประชาชนจากภาครัฐ ที่มาจากทั้งโซเชียลมีเดียและ Internet of Things และอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์เทเลเมติกส์ที่ติดในรถยนต์ ซึ่งสามารถบอกตำแหน่ง GPS ของรถยนต์ และบันทึกพฤติกรรมการขับขี่มาวิเคราะห์ให้ด้วยเช่น ใช้ความเร็วเหมาะสมหรือไม่ ชอบเลี้ยวหรือเบรกแบบกะทันหันหรือเปล่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทประกันใช้ประเมินได้ว่า ควรจะลดหรือเพิ่มค่าประกันในปีต่อไป หากเป็นพวกขับขี่ปลอดภัยก็จะทำให้ลดเงินที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทประกันได้ และยังช่วยให้ผู้ขับขี่ปรับพฤติกรรมให้ปลอดภัยมากขึ้นด้วย

  • Total Experience เป็นการรวม ‘ประสบการณ์’ ทั้งของลูกค้า พนักงาน และผู้ใช้งานเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 มีบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งได้ปรับใช้ระบบนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันที่มีอยู่ เมื่อลูกค้ามาถึงในระยะ 75 ฟุต พวกเขาจะได้รับการแจ้งเตือนเพื่อแนะนำขั้นตอนการเช็กอิน และการแจ้งเตือนเพื่อให้รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปในจุดที่นัดไว้ได้อย่างปลอดภัย และรักษาระยะห่างทางสังคมได้

  • Privacy-enhancing computation เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัยใน 3 ด้าน คือ การจัดการระบบและสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เกิดการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างปลอดภัย, ทำให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลกระจายไปได้หลายที่โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว และสุดท้าย คือการเข้ารหัสข้อมูลและอัลกอริทึมก่อนการประมวลผลหรือการวิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่ามีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในลักษณะข้ามองค์กรได้อย่างปลอดภัย


©unsplash.com/@visuals

เทคโนโลยีด้าน Location independence

  • Distributed Cloud เป็นการทำให้มีศูนย์เก็บข้อมูลกระจายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลง เพราะมีการใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กลงในการเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และลดความหน่วงของระบบลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ข้อมูลในพื้นที่นั้นๆ สามารถตอบสนองลูกค้าในพื้นที่ได้มากกว่าเดิม

  • Anywhere Operations เป็นการทำงานออนไลน์เสมือนหนึ่งเป็นสำนักงานเต็มรูปแบบ คำขวัญของ Anywhere Operation ก็คือ Digital First, Remote First โดย Gartner ยกตัวอย่างธนาคารออนไลน์ ซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่การโอนเงินไปจนถึงการเปิดบัญชีใหม่โดยไม่ต้องไปที่ธนาคาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าธนาคารในเชิงกายภาพจะหายไป แต่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ลูกค้าไม่ต้องไปที่สำนักงานแต่อย่างใด

  • Cybersecurity mesh คอนเซ็ปต์คือ ทุกคนสามารถสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าบุคคลหรือสินทรัพย์นั้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โดย Cybersecurity mesh จะช่วยให้เกิดรูปแบบการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นต่อการทำงานในสภาวะปัจจุบัน โดยไม่ขัดขวางการเติบโตของบริษัท


©unsplash.com/@thisisengineering

เทคโนโลยีด้าน Resilient delivery

  • Intelligent Composable Business โลกหลังโควิด-19 จะเต็มไปด้วยความพลิกผันของสถานการณ์อยู่เสมอ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้น ฉับไวขึ้น สามารถเพิ่มข้อมูลต่างๆ ด้วยข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ให้องคาพยพทั้งหลายขององค์กรสามารถตัดสินใจหรือนำเสนอข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น และเน้นให้บุคลากรมีทักษะการใช้ข้อมูลมากขึ้น

  • AI Engineering คือ การทำให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการทำงานไอทีต่างๆ แทนที่จะมองเป็นโครงการ AI โดยเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนตามหลักธรรมภิบาล มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส มีจริยธรรม สามารถอธิบายได้ และเป็นไปตามกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติต่างๆ

  • Hyperautomation คือการดำเนินงานต่างๆ ที่ต้องปรับให้เป็นแบบอัตโนมัติให้มากที่สุด ผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น AI การเรียนรู้ของเครื่องจักร ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซอฟต์แวร์แบบอิงเหตุการณ์ (Event-driven Software) ฯลฯ เพื่อให้ทุกส่วนขององค์กรทำงานสอดประสานกันอย่างอัตโนมัติเชื่อมโยงกันทุกระบบ และก่อให้เกิดเป็นรูปแบบต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ระบบวิเคราะห์สถานการณ์และลงมือปฏิบัติได้อย่างทันทีโดยไม่ต้องรอการตัดสินใจของพนักงานหรือผู้บริหารในองค์กร

โควิด-19 ส่งผลให้โลกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง แต่ 9 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตจะช่วยจุดประกายให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ และก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง

ที่มาภาพเปิด : unsplash/@dylanferreira

ที่มา : Top Strategic Technology Trends for 2021 โดย Gartner

เรื่อง : บุษบา ศิวะสมบูรณ์