SaaS โอกาสธุรกิจยุคนิวนอร์มอล
Technology & Innovation

SaaS โอกาสธุรกิจยุคนิวนอร์มอล

  • 31 Jan 2021
  • 330

ถ้าคุณเคยใช้งานอีเมล ใช้โซเชียลมีเดียติดต่อกับเพื่อน ใช้แอปพลิเคชันสำหรับจัดเก็บรูปภาพ หรือแม้แต่ดูภาพยนตร์ผ่านเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) นั่นหมายความว่าคุณเคยใช้บริการ "คลาวด์" (Cloud) แล้วทั้งสิ้น

ทุกวันนี้เทคโนโลยี ‘ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ’ (Cloud Computing) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคลาวด์ เข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่ล้วนให้ความสนใจลงทุนเรื่องคลาวด์กันมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และประหยัดต้นทุน


©kindpng.com

และหนึ่งในธุรกิจหลักของคลาวด์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือ ‘การให้บริการซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบคลาวด์’ หรือ SaaS ที่ย่อมาจากคำว่า Software-as-a-Service ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรง เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่แค่แฟชั่นที่จะผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เป็นเทรนด์ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโอกาสธุรกิจบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

ทำไมต้อง SaaS
ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ หรือคลาวด์ คืออะไรกันแน่

คลาวด์คือเทคโนโลยีให้เช่าหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งครอบคลุมทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือการที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้จากอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่ต้องเก็บข้อมูลไว้กับตัวเรา

นั่นหมายความว่าเพียงแค่ใช้บริการคลาวด์ บริษัทต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาตั้งให้วุ่นวายอีกต่อไป เพราะคลาวด์สามารถจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลได้ในราคาที่ถูกกว่า และสามารถเพิ่มหรือลดกำลังการประมวลผลและทรัพยากรต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น ที่สำคัญใช้เท่าไรก็จ่ายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บริษัททั้งเล็กและใหญ่จึงเริ่มลงทุนนำระบบคลาวด์เข้ามาใช้งานในองค์กร เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ในระยะยาว

หนึ่งในรูปแบบหลัก ๆ ของระบบการประมวลผลแบบคลาวด์ ก็คือ การให้บริการซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบคลาวด์ (SaaS) บริการที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดเครื่องไว้ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าใช้งานซอฟต์แวร์ ซึ่งต่างจากการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แบบเดิม กลายเป็นความคุ้มค่าในระยะยาว ช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรด้วยการจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง ใช้งานได้ทันที

สรุปง่ายๆ ก็คือ SaaS ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ใช้งาน นอกจากจะสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย


©natanaelginting/freepik

อนาคตที่สดใสของ SaaS
ในยุคปัจจุบันที่ภาคธุรกิจกำลังถูกชะงักงันด้วยการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital disruption ธุรกิจในทุกกลุ่มต้องปรับตัวและลงทุน เพื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจ แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ยังหนีไม่พ้นต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหมือนกัน ตลาดคลาวด์จึงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกอย่างการ์ทเนอร์ (Gartner) คาดการณ์ว่าในปี 2022 อุตสาหกรรมบริการระบบคลาวด์จะเติบโตเกือบ ๆ 3 เท่าของอุตสาหกรรมไอทีโดยรวมเลยทีเดียว การเติบโตจะเกิดขึ้นในทุกบริการ โดยกลุ่มตลาดซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระดับองค์กรเกือบทั้งหมดจะใช้บริการในรูปแบบ SaaS ซึ่งอำนวยความสะดวกให้บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยมีสถิติจากเดฟสควอด (DevSquad) ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่น่าสนใจ เช่น

  • จำนวนเงินที่บริษัทใช้ลงทุนกับ SaaS นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2010 โดยคาดว่ามูลค่าตลาดโดยรวมน่าจะแตะระดับ 6.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2023

  • 38% ขององค์กรระบุว่าใช้ SaaS ในการดำเนินงานทั้งหมด

  • 86% ขององค์กรระบุว่าการใช้ SaaS ช่วยให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างมีนัย

  • อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ใช้งาน SaaS มากที่สุด

นอกจากนี้ ทางการ์ทเนอร์ยังระบุว่า จากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในปีที่แล้ว ทำให้ตลาด SaaS เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 95.4% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เนื่องจากบริการ SaaS เสนอทางเลือกราคาที่ถูกกว่าสำหรับองค์กรที่สนับสนุนให้พนักงานทำงานผ่านระบบทางไกลและต้องการความปลอดภัยเมื่อเปิดใช้แอปพลิเคชั่นขององค์กรผ่านอุปกรณ์และสถานที่ที่หลากหลาย และ SaaS จะยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของการบริการระบบคลาวด์ในปีนี้โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการเติบโตทั่วโลกที่ 1.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่ช่วยตรวจสอบคุณค่าของการใช้ระบบคลาวด์” ซิด แน็ก (Sid Nag) รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าว “สถานการณ์โควิดบังคับให้องค์กรต่าง ๆ ต้องมุ่งเน้นไปที่ลำดับความสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การรักษาเงินสดและเพิ่มต้นทุนด้านไอที การสนับสนุนและรักษาความปลอดภัยให้กับพนักงานจากระยะไกล และการรับประกันความยืดหยุ่นในการทำงาน การลงทุนในระบบคลาวด์จึงกลายเป็นวิธีที่สะดวกในการตอบสนองความต้องการทั้งสามประการนี้ และทำให้การใช้ระบบคลาวด์เป็น "ความปกติใหม่"มากขึ้นกว่าเดิม”

สำหรับประเทศไทย ทิศทางในอนาคตเป็นที่คาดการณ์ว่า 75% ของงานระบบคลาวด์ทั้งหมดและกรณีตัวอย่างการประมวลผล (Compute instance) จะเป็น SaaS ภายในปี 2022 ตามดัชนี Global Cloud ของซิสโก (Cisco) ขณะที่ตลาด SaaS คาดว่าจะเติบโตจาก 3,500 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 9,400 ล้านบาทภายในปี 2565 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 27.97%


©vectorjuice/freepik

ทั้งนี้ การบริการ SaaS ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุปกรณ์การทํางานที่ต้องมีการใช้งานร่วมกันในที่ทํางาน เช่น ซอฟต์แวร์อีเมล การบัญชี การจ่ายเงินเดือน และการจัดการเอกสาร การบริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ รวมไปถึงแอปพลิเคชันการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า

ในยุคโควิดที่ทำให้ทั่วโลกต้องล็อกดาวน์และเศรษฐกิจผันผวน ทำให้รูปแบบการทำงานในองค์กรเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน การประชุมออนไลน์ ต่อไปพนักงานจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ดังนั้น แพลตฟอร์มสื่อสารในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสนทนา ประชุม หรือแชร์ไฟล์ จะมีบทบาทมากขึ้น

ดังนั้น ขณะที่โควิด-19 กำลังสร้างการเติบโตให้กับ SaaS นั่นก็ยิ่งผลักดันให้ SaaS กลายเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่กำลังมองหาวิธีสร้างสรรค์เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าในยุคนิวนอร์มอลด้วยเช่นกัน

ที่มา :
broadcast.nbtc.go.th
depa.or.th
toolmakers.co
finnomena.com
บทความ Gartner Forecasts Worldwide Public Cloud End-User Spending to Grow 18% in 2021 โดย Katie Costello และ Meghan Rimol จาก gartner.com
today.techtalkthai.com

เรื่อง : รติรัตน์ นิมิตบรรณสาร