EdTech โลกการเรียนรู้หลังโรคระบาด
Technology & Innovation

EdTech โลกการเรียนรู้หลังโรคระบาด

  • 31 Jan 2021
  • 953

เว็บไซต์ edtechupdate.com และเว็บไซต์ e-Learning Industry ต่างก็เขียนบทความตรงกัน ถึงเทรนด์ในปี 2020-2021 ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา (Educational technology : EdTech) ว่าจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่พัฒนาโดยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นไปกว่าเดิมในอีกหลายรูปแบบ หลังจากการพูดถึงข้อมูล Big Data การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และInternet of things ได้กลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว


©freepik

ต่อไปการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 จะก้าวล้ำไปมากกว่าการศึกษาในระบบเขียนอ่านแบบเดิม แต่เป็นการเรียนรู้รอบด้านในทุกประสาทสัมผัส โดยจะถูกเปลี่ยนโฉมไปแบบพลิกฝ่ามือเพราะโควิด-19 ที่บังคับกลาย ๆ ให้การเรียนแบบทางไกลกลายเป็นปัจจัยหลักขึ้นมาแบบทันควัน และแน่นอนว่าคงจะไม่ย้อนกลับไปที่จุดเดิมแล้ว เพราะสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษามากมายต่างวางแผนขยับขยายธุรกิจชนิดก้าวกระโดดในมูลค่าระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะท็อปสามของยูนิคอร์นด้านเทคโนโลยีการศึกษา ที่ในปี 2020 นี้ แม้โลกกำลังเผชิญกับพิษโควิด-19 แต่กลุ่มเทคโนโลยีการศึกษากลับระดมทุนได้ในหลักพันล้าน

เว็บไซต์ Holon IQ (อัปเดต 21 ม.ค. 2021) รายงานผล Global EdTech Unicorn ประจำปี 2020 ซึ่งยังขับเคี่ยว ผลัดกันแซงผลัดกันลดอันดับอยู่กับกลุ่มบริษัทผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยีการศึกษาชื่อดัง 3 แห่ง คือ หยวนฝูต่าว (Yuanfudao) จากจีน ที่ขึ้นมามีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่ง 15.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังผ่านการระดมทุนรอบที่ 11 ในซีรีส์ G ที่ผ่านมา ทำให้สตาร์ตอัพแชมป์เก่าจากอินเดียอย่าง บายจูส์ (ByJu’s) มีมูลค่าอยู่ที่ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และตามมาด้วยอันดับสาม คือ โจวเย่ปัง Zuoyebang จากประเทศจีน ที่มีมูลค่ารวม 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


©Yuanfudao

หยวนฝูต่าว (Yuanfudao) เป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชันติวเตอร์ออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ก่อตั้งในปี 2012 ลงทุนหลักโดยเทนเซ็นต์ โฮลดิงส์, ไอดีจี แคปิตอล และกองทุนใหญ่ของจีนอีกหลายแห่ง ทำคอร์สเรียนออนไลน์ แบบฝึกหัดอัจฉริยะ มีการวิเคราะห์ปัญหาของนักเรียนเพื่อช่วยในการเรียนรู้ และเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์การศึกษาออนไลน์หลากหลาย เช่น Ape Guidance, Ape Test Database, Ape Search Questions, Ape Oral Arithmetic, Zebra AI Course เป็นต้น ล่าสุดยังพัฒนาแอพพลิเคชัน Xiaoyuan Kousuan ช่วยตรวจสอบคำตอบทางคณิตศาสตร์โดยเอไอด้วยวิธีง่าย ๆ แค่ถ่ายรูปโจทย์ลงแอพฯ เท่านั้น โดยรายได้หลักจะมาจากการคิดค่าบริการสอนสด ซึ่ง PitchBook.com ให้ข้อมูลว่า หยวนฝูต่าวมีนักเรียนในประเทศจีนเข้าใช้แพลตฟอร์มกว่า 3.7 ล้านคน และปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคน


©ByJu’s

บายจูส์ (ByJu’s) สตาร์ตอัพด้านการศึกษาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย สำหรับระดับชั้นประถม-มัธยม และกลายเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นด้านการศึกษาอันดับสองของโลก หลังระดมทุนในเดือนตุลาคม 2020 โดยกลุ่มนักลงทุน ไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนต์, เจเนอรัล แอตแลนติก และ ดีเอสที โกลบอล เป็นต้น และด้วยสถานการณ์โควิด-19 หลังกรุงนิวเดลีล็อกดาวน์ ทำให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคนทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน ในปีนี้บายจูส์เพิ่งประกาศการจ้างงานเพิ่มกว่า 8,000 ตำแหน่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอนออนไลน์ และการสอบ JEE, NEET และ UPSC ของอินเดีย โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะคัดเลือกครูที่มีความกระตือรือร้นในวิชาที่ตัวเองสอนและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนได้ ทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เข้ากับวิธีการสอนได้อย่างดี


©zybang

โจวเย่ปัง (Zuoyebang) หรือ zybang.com ที่แปลว่า “ช่วยทำการบ้าน” เป็นบริษัทสตาร์ตอัพยูนิคอร์นด้านการศึกษาโดยมีไป่ตู้เป็นผู้ลงทุนหลัก เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาโจวเย่ปังประกาศการระดมทุนรอบใหญ่ที่สุดได้ถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุนรวมถึงอาลีบาบากรุ๊ป, ไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนต์, ซอฟต์แบงก์ วิชั่น ฟันด์ และ สึโคย่า แคปิตอล ไชน่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ สามอันดับสตาร์ตอัพยูนิคอร์นนั้นมาจากสองประเทศที่ขับเคี่ยวกันมานานในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา และเหตุผลอีกประการที่น่าคิดคือ ระบบการศึกษาในเอเชียนั้นเอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ตอัพด้านการศึกษาด้วยใช่หรือไม่ เพราะระบบการศึกษาภาคบังคับ ธรรมเนียมการสอบแข่งขัน ตลอดจนการที่เอเชียมีประชากรวัยเรียนที่มากที่สุดในโลก โดยกว่า 600 ล้านคนกำลังเรียนในโรงเรียนระดับ K-12 ซึ่งเยาวชนประมาณ 269 ล้านคนนั้นเป็นชาวจีนและอินเดีย ส่วนประมาณ 67 ล้านคนเป็นชาวอินโดนีเซียซึ่งมากเป็นอันดับสามของโลก และโดยเฉพาะประเทศจีน รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาของจีนให้ทันสมัยขึ้น และหนึ่งในหลักสำคัญก็คือ สนับสนุนการเจริญเติบโตของการศึกษาออนไลน์


©pressfoto/freepik

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการเรียนจากระยะไกลซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการเครื่องมือการเรียนรู้ในระบบดิจิทัลสำหรับนักเรียนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในสิ้นไตรมาสที่สามของปี 2020 นักลงทุนทั่วโลกเทเงินลงไปกว่า 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยีการศึกษากว่า 543 ข้อตกลง ซึ่งสูงกว่ายอดรวม 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 ตามข้อมูลของ PitchBook และแม้ว่าในปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 อาจคลี่คลาย และโรงเรียนบางแห่งจะกลับมาเปิดเทอมใหม่ได้อีกครั้ง แต่แนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยีการศึกษาก็คงจะดำเนินต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การเชื่อมต่อกัน ส่งเสริมความสามารถรอบด้าน และการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาในด้านสำคัญ อาทิ 

  • การเรียนรู้ด้วยวิดีโอ (Video Learning) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียนทางไกลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะวิดีโอภาพเคลื่อนไหวที่ทำให้เนื้อหาเข้าใจง่าย ช่วยเสริมบทเรียน และมีผลลัพธ์ที่ดีต่อความสนใจของนักเรียนและยังลดภาระงานของครู

  • เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) โดยเทคโนโลยีระบบบัญชีธุรกรรมดิจิทัลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Distributed Ledger Technology : DLT) จากบล็อกเชนจะนำประโยชน์มาสู่ด้านการศึกษาโดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลในหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์แบบเปิดเสรี (Massive Open Online Courses : MOOCs) และแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (ePortfolios) เพื่อตรวจสอบทักษะและความรู้ และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเผยแพร่ผลงานหรือผลการเรียนออนไลน์ที่สำเร็จแล้วในช่วงการหางานได้ด้วย

  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตอนนี้เอไอเป็นสิ่งที่จำเป็นในตลาดเทคโนโลยีการศึกษา โดยคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ เอไออาจกลายเป็นเทรนด์หลักและเติบโตได้มากกว่า 45% เพราะเอไอสามารถทำให้กิจกรรมพื้นฐานด้านการศึกษาเป็นไปโดยอัตโนมัติ เช่น การตรวจให้คะแนนคำถามแบบปรนัยที่นักเรียนเขียนคำตอบในช่องตรวจ นอกจากนี้ ทั้งผู้เรียนและนักการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากเอไอ เช่น นักเรียนอาจได้รับความช่วยเหลือจากครูสอนพิเศษที่เป็นเอไอ เมื่อครูจริง ๆ ยุ่งเกินกว่าจะดูแลทุกคนได้ หรือโรงเรียนอาจใช้ระบบเอไอเพื่อติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนและแจ้งเตือนครูเมื่ออาจมีปัญหาเกิดขึ้นกับนักเรียน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้วที่เอไอจะเป็นผู้ช่วยที่ทรงพลังสำหรับการสอนในชั้นเรียน

  • การใช้เทคนิคในรูปแบบของเกม (Gamification) คือการนำเอาแนวคิดจากเกมมาเป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่สนุกมากขึ้น กระตุ้นการมีส่วนร่วมในระหว่างการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะกับนักเรียนในระดับชั้น K-12

  • การเรียนรู้ที่สมจริงด้วยโลกเสมือน อันได้แก่การใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) มาช่วยอธิบายรายละเอียดที่ซับซ้อน ซึ่งทำได้ดีกว่าการศึกษาจากภาพธรรมดา ตัวอย่างเช่น ไม่จำเป็นต้องมีการเรียนทดลองในห้องปฏิบัติการบางอย่างถ้าเพียงมีภาพ VR หรือสมัครเข้าชมหลักสูตรการฝึกอบรมทางการแพทย์ที่ภาพ VR สามารถพานักเรียนไปสัมผัสกับการผ่าตัดจริงโดยไม่ต้องเข้าไปในห้องผ่าตัด

  • การใช้สื่อสังคมในกระบวนการเรียนรู้ (Social Media) โซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ได้ เมื่อนักเรียนมักใช้เวลากับโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว สถาบันการศึกษาหลายแห่งจึงเริ่มใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ให้นักเรียนโต้ตอบกับเพื่อนหรือครู แบ่งปันเอกสารประกอบการเรียน อภิปรายกับผู้อื่นในกลุ่ม หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์ได้ แม้แต่วิดีโอการเรียนรู้แบบภาพเคลื่อนไหวก็สามารถเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียได้ และ TedEd คือตัวอย่างขององค์กรที่สร้างบทเรียนบนยูทูบเพื่อทำให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย

EdTech สำหรับการศึกษาแห่งอนาคต จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้สนุกและน่าตื่นเต้น เมื่อนักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ก็จะส่งผลให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น จำได้ดีขึ้น และยังเชื่อมโยงความรู้ที่ได้กับชีวิตจริงได้มากขึ้น สุดท้าย เทคโนโลยีช่วยทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้มากขึ้น

นักการศึกษาที่แท้จริงจะนําความรู้ที่มีค่ามาสู่ผู้เรียนทั้งในทางทฤษฎีและในชีวิตจริง แต่นักการศึกษาที่ชาญฉลาดคือผู้ที่สามารถสร้างการเรียนการสอนจากสิ่งที่ผู้เรียนต้องการเรียนรู้ได้ดีที่สุด

ที่มาภาพเปิด : pikisuperstar/freepik

ที่มา :
byjus.com
yuanfudao จาก crunchbase.com
บทความ Chinese live tutoring app Yuanfudao is now worth $15.5 billion โดย Natasha Mascarenhas จาก techcrunch.com
บทความ These Were The Largest Funding Rounds of 2020 โดย Sophia Kunthara จาก crunchbase.com
บทความ Top Educational Technology Trends In 2020-2021 โดย Sean Bui จาก elearningindustry.com 
บทความ EDTECH ไม่กระทบ! MASTERCLASS ระดมทุนอีก 100 ล้านเหรียญ ยกระดับเนื้อหาให้ดีขึ้น  จาก techfeedthai.com
บทความ China's Yuanfudao claims global edtech valuation crown โดย Priyamvada Mathur จาก pitchbook.com

เรื่อง : ศิริกัญญา เลี้ยวรัศมี