LED Farm ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่เอาใจคนรักสุขภาพ
Technology & Innovation

LED Farm ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่เอาใจคนรักสุขภาพ

  • 01 Mar 2021
  • 2713

กระแสคนรักสุขภาพยังคงมาแรงไม่มีตก ไม่ว่าจะเป็นเจนไหนต่างใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ขณะที่ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมีมูลค่าต่อปีสูงกว่า 80,000 ล้านบาท แม้ในปีที่แล้วจะลดลงเล็กน้อยจากสภาวะเศรษฐกิจและปัญหาโควิด-19 แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เติบโต และยังคงมีน่านน้ำสีฟ้าให้แหวกว่ายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิต มีการบริหารจัดการพืชผัก รวมถึงวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น แถมสะอาด ปลอดภัย กินได้เลยโดยไม่ต้องล้าง

ในโลกธุรกิจที่เชื่อกันว่าใครเริ่มก่อนจะเป็นผู้ได้เปรียบ ผู้นำธุรกิจอย่างเช่น ชิงชัย คนธรรพ์สกุล ที่มักแสวงหาน่านน้ำใหม่ ๆ ก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น จากธุรกิจหลอดไฟ LED เขาได้ก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่คือธุรกิจพืชผักมูลค่าสูงในรูปแบบโรงงานผลิตพืชระบบแบบปิด หรือ Plant Factory ภายใต้แบรนด์ LED Farm ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นโรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียมจากหลอดไฟ LEDs แห่งแรกของไทยที่มีผลิตผลจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจพืชผักฟังก์ชั่น หรือ Functional Vegetables ได้อีกมากมาย

สร้างโอกาสใหม่จากรากฐานเดิม
ชิงชัย คนธรรพ์สกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทซีวิค มีเดีย จำกัด เล่าว่า บริษัทเป็นผู้นำด้านธุรกิจ LED มาประมาณ 30 ปี โดยทำป้ายโฆษณาตามทางแยก รวมถึงหลอด LED แสงสว่างภายในบ้าน โคมไฟถนน IoT (Internet of things) ที่สามารถเช็กสถานะและตั้งค่าการทำงานของระบบได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกับแผนที่บนกูเกิล โดยใช้พื้นความรู้หลักออกแบบอุปกรณ์ควบคุม แต่ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีคนเข้ามาทำธุรกิจนี้จำนวนมาก จนตลาดกลายเป็นน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) ตัวเขาซึ่งชอบทำอะไรใหม่ ๆ จึงพยายามมองหาน่านน้ำสีฟ้า (Blue Ocean) เพื่อนำหน้าก่อนคนอื่น กระทั่งมีโอกาสได้ไปเห็นกระบวนการผลิตพืชโดยใช้แสงไฟเทียมในการปลูกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า Plan Factory with Artificial Lighting หรือ PFAL จึงมีแนวคิดนำมาดำเนินการในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทมีกิจการผลิตหลอด LED อยู่เดิมแล้ว จึงสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมออกไปได้

ปลูกพืชแนวใหม่ด้วย Plant Factory
จากที่ไม่เคยปลูกพืชใด ๆ มาก่อน เมื่อคิดจะต่อยอดแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ชิงชัยและทีมงานจึงใช้เวลาศึกษารายละเอียดของการปลูกพืชด้วยการใช้แสง LED เพื่อให้พืชสังเคราะห์แสงแทนแสงแดดอย่างจริงจัง จนพบว่า การสร้างโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) แบบญี่ปุ่นนั้น มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

  1. ระบบ LED อัจฉริยะ (Smart LED) ที่ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนสเปกตรัมของสีน้ำเงินกับสีแดงให้เหมาะกับโครงสร้างคลอโรฟิลล์ของพืชในการสังเคราะห์แสง และต้องสามารถปรับความเข้มของแสงได้ด้วย
  2. พื้นฐานความรู้การออกแบบระบบ IT, IoT รวมถึงระบบ AI ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก
  3. ความรู้ด้านพืช

เมื่อพิจารณาสามห่วงโซ่หลักนี้พบว่า บริษัทมีสองห่วงโซ่แรก ขาดเพียงห่วงโซ่ที่สาม ชิงชัยจึงติดต่อ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกพืชไร้ดิน จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา จนในปี 2561 บริษัทได้สร้างห้องแล็บเพื่อศึกษาและทดลองหาข้อสรุปในสิ่งที่พืชชอบ ทั้งสเปกตรัมแสงที่เหมาะสม การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ลมหมุนเวียนภายในห้อง สารอาหาร ฯลฯ

หลังจากใช้เวลา 1 ปีเต็ม ๆ ในการเรียนรู้ ในปี 2562 บริษัทก็ได้สร้างโรงงานพืชแห่งแรกที่ซอยเจริญกรุง 78

“เราไม่ได้พึ่งพาความรู้จากข้างนอกเลย เพียงไปดูงานที่ญี่ปุ่น และศึกษาเพิ่มเติมจากตำราที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.โทโยกิ โคไซ บิดาแห่งโรงงานผลิตพืชของโลก รวมถึงได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 1.5 ล้านบาท มาพัฒนาโรงงานผลิตพืชของเราจนได้สูตรที่เป็นของเราเอง”

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตพืช 4 แห่ง คือที่เจริญกรุง 78 ซึ่งเป็นแห่งแรก และอีก 3 แห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่โรงงานบีษัท ซีวิค มีเดีย จังหวัดสมุทรสาคร รวมพื้นที่ทั้งหมด 900 ตารางเมตร หากผลิตเต็มกำลังจะได้ผลผลิตรวม 2,000 กิโลกรัมต่อเดือน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายแล้ว แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มพร้อมปรุง (Ready to Cook) ได้แก่ เคล หรือคะน้าใบหยิก ที่ถือเป็นราชินีแห่งผักใบเขียว, มิซูน่า (ผักน้ำญี่ปุ่น), สวิส ชาร์ด (ผักกาดสีรุ้ง), ตั้งโอ๋ญี่ปุ่น, เบบี้ ร็อกเก็ต เป็นต้น และกลุ่มพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น สมูตตี้ ขนมปัง ในอนาคตบริษัทมีแผนจะทำผงเคล ขนมเคลกรอบ (Kale Chips) ออกจำหน่ายด้วย ขณะเดียวกันทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการขอมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานทางด้านโรงงานผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสำหรับการจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค และมาตรฐาน อย. เพิ่มให้แก่ผักประเภท Baby Green ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักที่โตเต็มวัย ทำให้มีผักอีกนับสิบชนิดของ LED Farm รอวางจำหน่ายอยู่

ต่อยอดนวัตกรรม Functional Vegetables
ซีอีโอผู้พัฒนา LED Farm กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีแผนจะสร้างโรงงานแห่งที่ 5 และ 6 เพื่อปลูกพืชที่ผ่านการศึกษาและวิจัยแล้ว กำลังจดสิทธิบัตร เช่น ผักเกล็ดหิมะ (Ice Plant) ซึ่งถือเป็นอัญมณีแห่งวงการผัก รวมถึงพืชที่เหมาะแก่การบริโภคของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ

“คุณสมบัติเด่นของการปลูกพืชโดยใช้แสงเทียมในโรงงาน คือ สามารถลดหรือเพิ่มปริมาณสารอาหารสำคัญในพืชได้ เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการเพิ่มหรือลดสารบางชนิด เช่น ‘ผักรักไต’ ที่มีการลดโพแทสเซียมในผัก จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องหลีกเลี่ยงผักใบเขียว เช่น คะน้า เพราะมีโพแทสเซียมสูง โดยบริษัทได้ทำการวิจัยเพื่อลดปริมาณโพแทสเซียมในผักฟริลเลซ์ไอซ์เบิร์กและบัตเตอร์เฮดให้อยู่ระดับที่ปลอดภัยจนทำให้ผู้มีปัญหาโรคไตรับประทานได้ นอกจากนี้ยังมีการปลูกผักที่มีแคลเซียมสูง เพียงรับประทานผัก 100 กรัมจะได้รับแคลเซียมเท่ากับการดื่มนม 1 แก้ว หรือผักเพิ่มวิตามินซีเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มหรือลดสารอาหารในผักเหล่านี้ไม่สามารถทำได้กับผักที่มีการเพาะปลูกตามธรรมชาติทั่วไป” โดยคุณชิงชัยยังกล่าวอีกว่า “เรายังอยู่ในกระบวนการวิจัยสตรอว์เบอร์รีเพื่อให้สามารถมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี”

อย่างไรก็ตาม แม้การปลูกพืชในโรงงานพืชจะเหมาะกับพืชกินใบหรือผักสลัดต่าง ๆ  แต่ LED Farm กำลังศึกษาวิธีการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น โหระพา แมงลัก กะเพรา ด้วยเช่นกัน

“ภาพในอนาคตของ LED Farm คือ เราจะมีโรงงานผลิตพืชกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ทุก ๆ 5 กิโลเมตร เพื่อให้บริการใกล้ชิดกับคนในพื้นที่เหล่านั้น เดิมเราวางแผนเพิ่มให้ครบ 30 ร้านภายใน 3 ปี แต่เมื่อโควิด-19 มา ทำให้ต้องชะลอการเพิ่มจำนวนร้านออกไป และเรายังมีแผนเปิดรับแฟรนไชส์อีกด้วย”

ขยายช่องทางเติบโต
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลากหลายธุรกิจล้มหายไป หรือไม่ก็มียอดขายลดลง แต่ตลาดคนรักสุขภาพยังคงแข็งแรง คนรักสุขภาพยังคงอยู่ ขณะที่โรงงานผลิตพืชของ LED Farm มีเรื่องราวความเป็นมาของผักที่น่าสนใจและสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพได้ แม้ราคาจะสูงกว่าผักที่ปลูกตามธรรมชาติทั่วไปก็ตาม

ซีอีโอหัวก้าวหน้าผู้นี้บอกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการเดินเลือกซื้อสินค้ามาเป็นการสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น บริษัทจึงหันมาทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และเชื่อว่าหลังการแพร่ระบาดคลี่คลายลงจะมีผลพลอยได้สำคัญคือ ผู้บริโภคคุ้นชินกับวิธีการสั่งซื้อออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันไปแล้ว จึงถือเป็นโอกาสอันดีของ LED Farm ที่จะเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางการขายออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น GrabFood, Lineman, Gojek, Robinhood  ฯลฯ

หากท่านใดสนใจธุรกิจโรงงานผลิตพืชและต้องการกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ชิงชัยบอกว่า ประการแรกต้องมีองค์ประกอบทั้งสามอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือถ้าต้องการช่องทางลัด สามารถติดต่อบริษัทซีวิค มีเดีย จำกัด เพื่อวางระบบ Plan Factory ให้ แต่หากจะทำเองทั้งหมด ถึงแม้จะมีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่างแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการวิจัย พัฒนา เรียนรู้และทดลอง ซึ่งเราได้ใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาให้เราต้องแก้ไขและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

“LED Farm เริ่มจากความพยายามมองหาน่านน้ำสีฟ้าในการทำธุรกิจ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจไฟ LED ปัจจุบันเรายังมีทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจโรงงานผลิตพืชผัก แต่เชื่อว่าในอนาคต LED Farm จะมีศักยภาพในการเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้” ชิงชัยกล่าวทิ้งท้าย

PLANT FACTORY
เทรนด์การเพาะปลูกแห่งอนาคต

Plant factory เป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิดที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแหล่งกำเนิดแสงที่นำมาใช้ทดแทนแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ คือ แสงจากหลอดไฟ LED ที่ให้ความร้อนน้อยกว่าและประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่สำคัญคือ สามารถเลือกสี ความยาวคลื่นแสง ได้ตามความเหมาะสมของชนิดพืชและระยะการเจริญเติบโต ทำให้พืชที่ปลูกให้ผลผลิตสูงและผลิตสารสำคัญได้ตามความต้องการ

ต้นแบบของโรงงานผลิตพืชมูลค่าสูงในรูปแบบ Plant Factory นี้คือประเทศญี่ปุ่น ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตผักสลัดในเชิงพาณิชย์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.โทโยกิ โคไซ (Prof. Toyoki Kozai) แห่งมหาวิทยาลัยชิบะ เป็นผู้ริเริ่มจนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งโรงงานผลิตพืชของโลก และได้เผยแพร่องค์ความรู้นี้ผ่านผลงานเขียนและร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย เช่น โรงงานผลิตพืชในโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ Big Rock ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และศูนย์ความร่วมมือทางการวิจัยและฝึกอบรมด้านการปลูกพืชในอาคาร ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

 

ที่มา :
depa.or.th/th/article-view/plant-factory
kaset1009.com
today.line.me

เรื่อง : มรกต รอดพึ่งครุฑ