Power of Algae นวัตกรรมจากสาหร่าย
Technology & Innovation

Power of Algae นวัตกรรมจากสาหร่าย

  • 02 Mar 2021
  • 4035

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหามลพิษจากอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถใช้งานทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยชะลอปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน

ศาสตร์แห่งเทคโนโลยีทางชีวภาพจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพของการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้มีความยั่งยืน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์วัสดุทางเลือกอย่างพลาสติกชีวภาพหรือเนื้อจากพืช (Plant-basedmeat) จากต้นมันสำปะหลัง ข้าวโพด และถั่ว แต่ด้วยอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจสร้างข้อจำกัดในการเพาะปลูกพืชเหล่านั้น และทำให้ปริมาณทรัพยากรที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอยู่ดี

แน่นอนว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ

นักวิจัยค้นพบว่ายังมี “สาหร่าย” เป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ใต้น้ำ ที่สามารถเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภค ด้วยคุณสมบัติอันหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการสังเคราะห์แสงมาผลิตเป็นออกซิเจน อีกทั้งยังมีปริมาณกากใยและสารอาหารสูงสามารถนำไปสกัดเพิ่มเติมได้อีกหลากหลายฟังก์ชันการใช้งาน ทั้งรูปแบบของเชื้อเพลิงชีวภาพ สารให้สี และสารทำให้ข้น หนืด คงตัว รวมถึงจุดเด่นของสาหร่ายที่ปลูกง่าย โตเร็ว แม้มีพื้นที่จำกัดในการเพาะเลี้ยง

เมื่อนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้นักออกแบบได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิดที่ฉีกออกจากกรอบเดิม ๆ ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมแห่งความยั่งยืนที่น่าสนใจและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นจนบางครั้งถ้าไม่ได้อ่านคำอธิบายก่อน คงไม่อาจรู้ได้ว่านี่คือผลผลิตมาจากสาหร่าย อย่างเช่น

  • เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพพลังสาหร่าย “EosBioreactor” จากบริษัท Hypergiant Industries ทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม และใช้คุณสมบัติจากสาหร่ายในการทำหน้าที่ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนกลับคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมทั้งให้ผลผลิตเป็นพลังงานชีวมวล

  • ผ้าอ้อมเส้นใยสาหร่าย จาก Luisa Kahlfeldt ผลิตด้วยเส้นใยชนิดพิเศษชื่อว่า “SeaCell” ซึ่งมีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบหลัก มีคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรียและมีสารต้านอนุมูลอิสระ ผ้าอ้อมนี้ประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ชั้น ชั้นด้านในสุดมีความนุ่มและอ่อนโยนเป็นพิเศษช่วยลดการระคายเคือง ชั้นกลางซึมซับดีเยี่ยมและชั้นนอกที่เคลือบไว้เพื่อป้องกันการซึมผ่านของของเหลว ที่สำคัญยังสามารถซักทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้

  • หลอดดูดน้ำกินได้ “Lolistraw” จากบริษัท Loliware หลอดสีสันสดใส ผลิตขึ้นจากสาหร่ายทะเล สามารถแช่ในเครื่องดื่มได้นานถึง 24 ชั่วโมง และเก็บวางบนชั้นได้ยาวนานถึง 24 เดือนสามารถเลือกผสมกลิ่น รส หรือสารอาหารอื่น ๆ เพิ่มเติมในการผลิตได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปย่อยสลายทางชีวภาพผ่านการหมักได้อย่างรวดเร็ว (ไม่เกิน 60 วัน) และยังย่อยสลายในน้ำได้ 100% อีกด้วย

นวัตกรรมเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของการนำความคิดสร้างสรรค์มาร่วมใช้กับการออกแบบ สำหรับเป็นทางเลือกในการนำไปใช้งานและรักษาไว้ซึ่งสมดุลของธรรมชาติให้ได้มากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตนั้นทรัพยากรจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และถึงเวลาแล้วหรือยังที่มนุษย์ต้องเริ่มปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกได้อย่างยั่งยืน

ที่มาภาพเปิด : Hypergiant Industries

ที่มา :
บทความ “This ‘personal carbon sequestration’ device uses algae to remove CO2 from the air” โดย Adele Peters จาก fastcompany.com 
บทความ “Sumo seaweed-fibre nappies offer healthy and sustainable alternative” โดย Rima Sabina Aouf จากdezeen.com
“MC7800-03Lolistraw” จากฐานข้อมูลวัสดุออนไลน์ Material Conne Xion®
สามารถสืบค้นและพบกับตัวอย่างนวัตกรรมวัสดุระดับโลกเพิ่มเติมได้ที่ชั้น 2 ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) , TCDC กรุงเทพฯ

เรื่อง : มนต์นภา ลัภนพรวงศ์