สร้างบ้านด้วยปัสสาวะ
Technology & Innovation

สร้างบ้านด้วยปัสสาวะ

  • 02 Mar 2021
  • 743

แนวคิดการใช้ประโยชน์จากของเหลือตามธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่การเปลี่ยน “ของเสีย” จากร่างกายมนุษย์ให้เป็นนวัตกรรมสุดคูลที่ใคร ๆ อาจคาดไม่ถึง

ล่าสุด ซูซานน์ แลมเบิร์ต (Suzanne Lambert) นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิศวกรรมโยธาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ได้วิจัยและสร้างวัสดุก่อสร้างจากแนวคิดการเปลี่ยนขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste)

โดยใช้ปัสสาวะมนุษย์มาทำให้เป็นก้อนแข็งที่อุณหภูมิห้อง เพื่อใช้เป็นวัสดุทางเลือกทดแทนอิฐจากเตาเผาที่ก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสิ่งแวดล้อม

แลมเบิร์ตได้สร้างอิฐจากของเสียมนุษย์และแบคทีเรียที่ยังมีชีวิต ซึ่งสามารถผลิตออกมาได้ในขนาด รูปร่าง และความแข็งแรง ที่แตกต่างกันไปตามที่ต้องการ เธอเชื่อว่าอิฐชีวภาพมีศักยภาพที่จะเป็นทางเลือกทดแทนอิฐแบบดั้งเดิมซึ่งต้องผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ

โดยกระบวนการที่เธอใช้ในการผลิตอิฐชีวภาพนี้เรียกว่า การตกตะกอนคาร์บอเนตด้วยจุลินทรีย์ (Microbial carbonate precipitation) โดยเปรียบเทียบกับ "วิธีการก่อตัวตามธรรมชาติของเปลือกหอย"

สามารถทำได้โดยการผสมปัสสาวะมนุษย์ ทราย และแบคทีเรียที่ผลิตเอนไซม์ยูรีเอส (Urease) ในแม่พิมพ์สำหรับทำอิฐบล็อก เอนไซม์ยูรีเอสจะชักนำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีในการย่อยยูเรียที่อยู่ในปัสสาวะ พร้อมทั้งผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตออกมา ซึ่งก็คือหินปูนที่เป็นส่วนประกอบหลักของซีเมนต์นั่นเอง โดยจะส่งผลให้ก้อนอิฐแข็งตัว

และยิ่งอยู่ในแม่พิมพ์นานเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดปฏิกิริยาทำให้แข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้สามารถปรับเวลาและกระบวนการให้ได้ผลที่ดีที่สุดได้

งานวิจัยนี้ แลมเบิร์ตให้เครดิตกับงานศึกษาก่อนหน้านี้ของจูลส์ เฮนซ์ (Jules Henze) นักศึกษาชาวสวิสที่วิจัยเรื่องนี้มาก่อนในปี 2017 อย่างไรก็ตาม ผลงานของแลมเบิร์ตถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชิ้นแรกที่มีรูปร่างเป็นอิฐ และยังเป็นชิ้นแรกที่ใช้ปัสสาวะมนุษย์แทนสารประกอบสังเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากงานศึกษาก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตอิฐชีวภาพที่เป็นการเปลี่ยนขยะให้เหลือศูนย์อย่างแท้จริง ทั้งยังมีผลพลอยได้จากการเปลี่ยนปัสสาวะมนุษย์มาเป็นอิฐคือไนโตรเจนและโพแทสเซียม ซึ่งนำมาใช้เป็นปุ๋ยต่อไปได้  

อิฐที่สามารถปลูกขึ้นได้แทนอิฐที่ต้องเผาและผลิตขึ้นในโรงงานนี้กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากวิศวกรทั่วโลก เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินต์จากการก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น ตึกแกลเลอรี MoMA PS1 โดย The Living ในปี 2014 ที่ประกอบไปด้วยการก่อสร้างจากอิฐที่ปลูกจากต้นข้าวโพดและเห็ด เป็นต้น 

เมื่อเทคโนโลยีและความชาญฉลาดของมนุษย์ในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างต่อเนื่อง คำถามต่อไปจึงอาจเป็นแล้วเราจะปรับแต่งกระบวนการอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุดเพื่อสร้างกำไรจากของเหลือจากมนุษย์ที่ถูกขับถ่ายออกมาทุกเมื่อเชื่อวัน

ที่มาภาพ : dezeen.com

ที่มา : 
บทความ “Bio-bricks made from human urine could be environmentally friendly future of architecture” (6 พฤศจิกายน 2018)  โดย Rima Sabina Aouf จาก dezeen.com 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ