Be(e) Creative
Technology & Innovation

Be(e) Creative

  • 02 Mar 2021
  • 558

ฟองสบู่ที่ลอยละล่องจากปืนยิงในมือของเด็กน้อยดูไม่น่าจะไปเกี่ยวอะไรกับอนาคตของพืชผักผลไม้ที่เป็นอาหารเลี้ยงโลก ถ้าหากดร. เออิจิโร่ มิยาโกะ (Dr. Eijiro Miyako) จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Advanced Institute of Science and Technology) ไม่ได้สังเกตเห็นฟองนี้จากสิ่งที่ลูกชายของเขากำลังเล่นอยู่ และเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ฟองสบู่อันนุ่มละมุนนี้คงจะไม่ทำให้เกสรดอกไม้เสียหาย 

สิ่งที่เขาพยายามจะทำคือการกู้สถานการณ์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่มองเห็นหายนะของพืชพรรณ จากจำนวนชนิดของแมลงที่ลดหายไปในอัตราที่เข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในกลุ่มของผึ้ง มด แมลงเต่าทอง ที่มีอัตราการลดหายไปสูงกว่าการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและพวกนกถึง 8 เท่า ขณะที่แมลงบางกลุ่มอย่างเช่น แมลงวัน และแมลงสาบกลับมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น 

สาเหตุหลัก ๆ ในการหายไปของแมลงทูตสื่อกลางที่คอยช่วยเรื่องกระบวนการผสมพันธุ์ของพืชพรรณหลากหลายชนิดเหล่านี้ หนีไม่พ้นเรื่องระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวที่เน้นการปลูกพืชชนิดเดียวและการใช้ยาฆ่าแมลงแบบเข้มข้นเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก รวมทั้งสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ดังนั้น ดร. มิยาโกะจึงคิดค้นหาวิธีการสร้างสื่อกลางในการถ่ายละอองเรณู (Pollination) หรือการผสมพันธุ์โดยการทำให้ละอองเรณูไปตกลงบนยอดเกสรตัวเมียมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังเสริมจากเดิมที่มีเพียงผึ้งที่เป็นสื่อกลางตามธรรมชาติ และใช้แรงงานคนเข้ามาช่วย เพื่อทำให้พืชพรรณยังคงออกลูกออกหลานได้ในอัตราที่สอดคล้องกับวิถีการใช้งานและการบริโภคที่นับวันจะยิ่งหลากหลาย  

ก่อนหน้านี้ ดร. มิยาโกะ เริ่มต้นการทดลองโดยใช้โดรนขนาดจิ๋วเลียนแบบผึ้งที่บินไปบินมาเพื่อเก็บเกสรจากดอกหนึ่งแล้วไปปล่อยอีกดอกหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่าตัวโดรนจะมีขนาดจิ๋วเพียงแค่ 2 เซนติเมตร แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ทำให้เกสรเกิดความเสียหาย ทำให้อัตราความสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 90 กระทั่งดร. มิยาโกะได้แรงบันดาลใจจากฟองที่ล่องลอยในอากาศที่ผลิตจากเครื่องเป่าฟองของเด็ก ๆ  จึงได้พัฒนาฟองสบู่ที่มีคุณสมบัติพิเศษในบรรทุกละอองเกสรได้มากถึง 2,000 ตัว และได้ทดลองยิงฟองสบู่นี้ในสวนลูกแพร์ ก่อนจะพบว่าพืชพรรณเริ่มมีการแตกหน่อหลังจากผ่านไป 16 วัน ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับการใช้มือในการเคลื่อนย้ายเกสร (Hand pollination) ถึงร้อยละ 95 และแม้ว่าผลการทดลองจะออกมาดี แต่ยังมีจุดที่ต้องแก้ไขทางเทคนิคอย่างเช่นฝนและลม ซึ่งดร.มิยาโกะมองว่า น่าจะแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำแผนที่ การวางเส้นทางและการควบคุมทิศทาง อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อให้สามารถทำได้ในปริมาณมากขึ้นในอนาคต 

ในระหว่างการพัฒนาผึ้งจำลองให้มีประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ในการจำลองพื้นที่เพื่อเซฟผึ้งตัวจริงก็มีให้พบเห็นเช่นกัน ป้ายรถเมล์ 316 แห่งในเมืองอูเทรคต์ (Utrecht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เปลี่ยนจาก “บัสสต็อป” (Bus Stop) ธรรมดาเป็น “บีสต็อป” (Bee Stop) บนหลังคาป้ายรถเมล์ เพื่อปลูกพืชในกลุ่มไม้อวบน้ำที่ไม่ต้องการน้ำมาก และยังเป็นที่ชื่นชอบของผึ้ง เพราะเนเธอร์แลนด์ก็เป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาจำนวนชนิดของผึ้งที่มีอยู่ 358 ชนิดกำลังลดน้อยลงในระดับติดชาร์ตของสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  จึงต้องเปลี่ยนให้เขตเมืองกลายเป็นฟาร์มเลี้ยงผึ้งแบบกลาย ๆ 

ที่ผ่านมาอัตราการใช้ทรัพยากรทั้งธรรมชาติและที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของเราให้ได้สุขสบายและมั่งคั่งเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับอัตราการรักษาและฟื้นฟู ผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพจึงปรากฏให้เห็นเป็นระยะ และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนถึงการคิดย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของสรรพสิ่งตามธรรมชาติ 

ผึ้งจำลองจากฟองสบู่ที่ใช้วิทยาการสุดล้ำและป้ายรถเมล์ผึ้งน้อยที่แสนเรียบง่ายจึงล้วนเป็นภาพสะท้อนของความพยายามที่เปี่ยมล้นไปด้วยความสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเร่งให้โลกฟื้นฟูในอัตราเร็วกว่าที่หวัง

ที่มาภาพ : Eijiro Miyako

มนฑิณี ยงวิกุล
บรรณาธิการอำนวยการ