แปลงโฉมขยะหน้ากากอนามัย สู่ผลงานสร้างสรรค์ที่ช่วยรับมือวัสดุเหลือทิ้ง
Technology & Innovation

แปลงโฉมขยะหน้ากากอนามัย สู่ผลงานสร้างสรรค์ที่ช่วยรับมือวัสดุเหลือทิ้ง

  • 16 Mar 2021
  • 2419

หน้ากากอนามัยเป็น “สิ่งบังคับใช้” เมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จากการประเมินด้วยตัวเลขอ้างอิงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) ระบุว่า ในปีที่แล้ว ยอดขายของหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 1.66 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 200 เท่าที่มียอดขายรวมเพียง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้สหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า 75% ของหน้ากากอนามัยเหล่านี้จะไปสิ้นสุดในหลุมฝังกลบ หรือในระบบน้ำต่าง ๆ เช่นที่ชายหาดในสหราชอาณาจักรซึ่งพบอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้ถูกทิ้งกระจัดกระจายถึง 30% ของขยะทั้งหมด

โควิด-19 กำลังก่อปัญหาขยะหน้ากากอนามัยล้นโลก จนทำให้บรรดานักสร้างสรรค์ต้องค้นหาวิธีนำขยะติดเชื้อเจ้าปัญหานี้มารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ เพื่อช่วยลดปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเฉพาะแค่ช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กลุ่มกรีนพีซก็ได้เปิดเผยตัวเลขระบุไว้ว่า โลกต้องแบกรับภาระจากขยะหน้ากากอนามัยมากถึง 5,500 ตันเลยทีเดียว


©designwanted.com

เก้าอี้จากหน้ากากอนามัย 1,500 ชิ้น
คิมฮานึล (Kim Haneul) นักออกแบบชาวเกาหลีใต้ จากมหาวิทยาลัยเคย์วอน (Kaywon University) ได้รวบรวมหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วหลายพันชิ้นจากภายในมหาวิทยาลัย นำกลับมารีไซเคิลสร้างสรรค์เป็นเก้าอี้แบบซ้อนเก็บได้ (Stackable Stool) ในโครงการที่เรียกว่า “Stack and Stack” โดยหวังว่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของการจัดการหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวจำนวน 1.29 แสนล้านชิ้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญทุกเดือนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา


©designwanted.com

คิึมฮานึลกล่าวว่า เขาเริ่มเก็บหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งจากที่ตัวเองและเพื่อน ๆ ใช้ แต่วิธีการนี้ก็ทำให้รวบรวมได้ในปริมาณจำกัด เขาจึงติดตั้งกล่องรับหน้ากากอนามัยในมหาวิทยาลัย แล้วคอยเทออกเป็นระยะ ๆ หลังสะสมหน้ากากเหล่านี้เป็นเวลาหลายวัน เขาจะซ้อนหน้ากากหลาย ๆ ชิ้นไว้ในแม่พิมพ์ โดยแกะแผ่นโลหะรัดจมูกและยางยืดคล้องหูของหน้ากากแต่ละชิ้นออกไปจนเหลือแต่แผ่นกรองใยสังเคราะห์พอลิโพรไพลีน (Polypropylene filter) แล้วนำมาหลอมละลายที่อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ได้เป็นวัสดุพลาสติกที่สามารถนำมาใช้ออกแบบเป็นเก้าอี้สไตล์ขี้เล่นที่เป็นเอกลักษณ์ วางซ้อนกันได้ และมีความแข็งแรง โดยเก้าอี้ 1 ตัวจะใช้หน้ากากอนามัยประมาณ 1,500 ชิ้น ที่สำคัญ เก้าอี้ที่ได้รับการออกแบบมานี้ไม่จำเป็นต้องใช้กาวหรือเรซินเพื่อยึดส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันแต่อย่างใด


©dezen.com

“เราได้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์แบบจากการรีไซเคิลอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้ โดยไม่ต้องใช้วัสดุอื่นเพิ่ม กระทั่งลายหินอ่อนสีขาว ฟ้า และชมพู ของเก้าอี้ ก็ไม่ได้มาจากสีย้อมหรือสีเพิ่มเติมใด ๆ ทุกอย่างล้วนมาจากสีดั้งเดิมของหน้ากากอนามัยทั้งสิ้น” คิมฮานึลกล่าวอย่างภาคภูมิใจ


©recyclinginternation.com

‘Plaxtil’ วัสดุใหม่จากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง
ฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในประเทศที่กำหนดให้การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 ทำให้ชาวฝรั่งเศสต้องทิ้งหน้ากากอนามัยราว 50 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ เกิดขยะเกลื่อนถนนในเมืองปารีส มาร์เซย นีซ รวมถึงแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ขณะที่ตัวหน้ากากซึ่งใช้พลาสติกพอลิโพรไพลีนเป็นหลักก็เป็นวัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพไม่ได้ โดยสมาคมผู้บริโภค ADEIC (Association de Consommateurs) ของฝรั่งเศสระบุว่า อาจต้องใช้เวลาถึง 450 ปีในการย่อยสลายหน้ากากในหลุมฝังกลบ

ด้วยเหตุนี้ Plaxtil บริษัทสตาร์ตอัพสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ในเมืองชาเตลเลอโรลต์ (Châtellerault) ทางตะวันตกของฝรั่งเศส จึงค้นพบวิธีใหม่ในการหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว ด้วยการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยที่ถือเป็นของเสียอันตรายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ได้กว่า 70,000 ชิ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว


©recyclinginternation.com

แต่เดิม โอลิวีเย ซีวิล (Olivier Civil) และ ฌอง-มาร์ก เนอวู (Jean-Marc Neveu) สองผู้ประกอบการต้องการสร้างโรงงานรีไซเคิลเสื้อผ้า แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งคู่ก็เปลี่ยนแนวทางมาสู่ธุรกิจรีไซเคิลหน้ากากอนามัยแทน “เราสามารถรีไซเคิลได้ และทำอะไรบางอย่างกับวัสดุนี้เพื่อต่ออายุคุณค่าของมันได้” โอลิวีเย ซีวิล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเปิดเผย 

การรีไซเคิลของ Plaxtil เริ่มจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่เพื่อตั้งวางกล่องรับหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกว่า 50 แห่งทั่วเมือง จากนั้นนำหน้ากากอนามัยซึ่งโดยทั่วไปทำจากพลาสติกโพลิโพรไพลีนที่รวบรวมมาได้และเอาแผ่นโลหะรัดจมูกและยางยืดคล้องหูของหน้ากากแต่ละชิ้นออกแล้ว มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขจัดสิ่งปนเปื้อนโดยผ่านอุโมงค์รังสีอัลตราไวโอเลต จากนั้นเข้าสู่กระบวนการบดละเอียดผสมกับสารยึดเกาะจนได้วัสดุที่เรียกว่า “ปลัซติล” (Plaxtil) ที่สามารถนำไปใช้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แทนที่พลาสติกทั่วไป เช่น กระบังหน้ากากคลุมใบหน้า (Face shield) หมวกบังแดด กล่องเก็บของ ฯลฯ


©rmit.edu.au

สร้างถนนด้วยหน้ากากอนามัยรีไซเคิล
อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลชิ้นเล็ก ๆ อย่างหน้ากากอนามัยจะนำมาถมเป็นถนนได้อย่างไร เรื่องนี้นักวิจัยจากสถาบันการออกแบบ ศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมถึงวิศวกรรมศาสตร์ อันดับหนึ่งในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT University) มีคำตอบให้

จากการศึกษาของนักวิจัยแห่งอาร์เอ็มไอทีซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ได้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถนำหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งมารีไซเคิลเพื่อสร้างถนน 2 เลน ระยะทาง 1 กิโลเมตรได้ จากหน้ากาก 3 ล้านชิ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ขยะหน้ากากอนามัยจำนวน 93 ตันต้องถูกนำไปฝังกลบ โดยการนำมาผสมกับขยะเศษซากอาคารที่ผ่านกระบวนการซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมโยธา


©rmit.edu.au

ทั้งนี้ การทำถนนโดยทั่วไปจะประกอบด้วยดินฐานราก (Subgrade) 3 ชั้น และชั้นบนสุดคือยางมะตอย ทุกชั้นต้องมีทั้งความแข็งแรงและยืดหยุ่นเพื่อให้ทนทานต่อแรงกดของน้ำหนักรถและป้องกันการแตกร้าว ซึ่งมวลคอนกรีตรีไซเคิล (RCA) จากเศษซากอาคาร แม้จะสามารถนำมาใช้ทำชั้นฐานทั้งสามได้ด้วยตัวเอง แต่นักวิจัยก็พบว่าการเพิ่มวัสดุหน้ากากอนามัยซึ่งมีส่วนผสมของโพลิโพรไพลีนโดยนำมาหั่นฝอยผสมกับ RCA ในอัตราส่วน 1 : 99 จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุที่ใช้ปูฐานและยังเป็นวัสดุที่ทำงานร่วมกันได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างและขยะหน้ากากอนามัยไปด้วยในตัว

“การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่เพียงสร้างปัญหาสุขภาพและทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หากเรานำความคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสู่การแก้ไขปัญหาขยะขนาดใหญ่นี้ได้ เราก็จะสามารถพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดและมีความยั่งยืนอย่างที่พวกเราต้องการได้” ศาสตราจารย์เจีย ลี (Prof. Jie Li) ผู้นำทีมวิจัยซึ่งมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลและการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่เพื่อการก่อสร้างงานโยธา กล่าว

“เรารู้สึกตื่นเต้นที่พบว่ามันไม่เพียงแต่ใช้งานได้จริง แต่ยังให้ประโยชน์ด้านวิศวกรรมอย่างแท้จริงด้วย” ดร.โมฮัมหมัด ซาเบอเรียน (Dr. Mohammad Saberian) หนึ่งในทีมผู้วิจัย กล่าวเสริม “เราหวังว่างานวิจัยครั้งนี้จะเป็นการเปิดประตูสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางในการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระดับที่เหมาะสม รวมถึงการพิจารณาว่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE ประเภทอื่น ๆ จะมีความเหมาะสำหรับการนำมารีไซเคิลด้วยหรือไม่"


©FreePix

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่เพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อเหล่านี้จนท่วมท้น ทว่ายังมีผู้คนที่เห็นความสำคัญของการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น จึงเชื่อได้ว่าจุดเริ่มต้นจากตัวอย่างไม่กี่รายนี้จะนำไปสู่การขยายตัวของความคิดใหม่ ๆ เพื่อรังสรรค์โลกใบนี้ให้น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

ที่มา :
บทความ "Haneul Kim fashions plastic stool from 1,500 discarded surgical masks" โดย Jennifer Hahn จาก dezeen.com
บทความ "French startup gives disposable masks a brighter, less polluting face" จาก  rfi.fr
บทความ "หน้ากากอนามัย 5,500 ตันไปจบลงที่ไหน" โดย เจนนี เยห์ จาก greenpeace.org
บทความ "Disposable masks repurposed into Stack and Stack stool by Haneul Kim: let’s examine plastic recycling" โดย Editorial Staff จาก designwanted.com
บทความ "Plaxtil puts single-use face masks back into the loop" โดยKirstin Linnenkoper จาก recyclinginternational.com
บทความ "Recycling face masks into roads to tackle COVID-generated waste" โดย Gosia Kaszubska จาก rmit.edu.au

เรื่อง : มรกต รอดพึ่งครุฑ, พัตรา พัชนี