Newness เมื่อความออริจินัลถูกเล่าด้วยวิธีการของคนรุ่นใหม่ (TH/EN)
Technology & Innovation

Newness เมื่อความออริจินัลถูกเล่าด้วยวิธีการของคนรุ่นใหม่ (TH/EN)

  • 02 Apr 2021
  • 2621

ถึงแม้หลายคนอาจรู้สึกว่าละแวกบ้านของตัวเอง โดยเฉพาะถ้าใครมีบ้านตั้งอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะดูไร้เสน่ห์ ไม่น่ามอง แถมยังขาดระเบียบและความสวยงามแบบสุด ๆ แต่หากมีใครมาบอกว่า หลาย ๆ ส่วนของเมืองหลวงแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราว เรื่องเล่า และเสน่ห์ที่น่าสนใจ เราจะเกิดคำถามในใจอย่างไรหรือไม่ 

โครงการ Newness ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 หรือ Bangkok Design Week 2021 ภายใต้ธีม “Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่” ณ พื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy District) ที่กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ อาทิ เจริญกรุง-ทรงวาด สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย โดยความคิดริเริ่มของสองกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ กลุ่ม Photon ที่ประกอบด้วย ธนพล พิมพ์ผิว (เดียร์) ธนัชชา เขียวเกิด (ดรีม) และธีรพันธุ์ คงพิเชฐกุล (ท็อป) และกลุ่ม Digital Picnic ที่มีวรวัฒน์ ขจิตวิชยานุกูล (เต๊) และ ธนพล จตุรงค์ธวัชชัย (บิ๊ก) จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามดังกล่าว และยังบอกให้เรารู้อีกว่า แท้จริง ภูมิทัศน์หรือภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ นั้น ยังมีอีกหลายสิ่งให้ค้นพบ หากเรายอมเปิดใจ ที่สำคัญเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างภูมิทัศน์ใหม่ที่เราอยากได้ด้วยตัวของเราเอง 


กลุ่ม Photon
เดียร์ ธนพล พิมพ์ผิว (ซ้าย) ดรีม ธนัชชา เขียวเกิด (กลาง) และ ท็อป ธีรพันธุ์ คงพิเชฐกุล (ขวา)

ที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์ Newness เป็นมาอย่างไร
ดรีม : เริ่มจากการที่พวกเราได้มีโอกาสไปร่วมงาน Bangkok Design Week 2020 เมื่อปีที่แล้ว โดยไปในฐานะผู้ร่วมจัดแสดงงาน ซึ่งเราก็ประทับใจในงานและพื้นที่จัดงานย่านเจริญกรุง พอมาปีนี้ก็มีโอกาสได้ร่วมในเทศกาลฯ อีก เราก็เลยเริ่มสำรวจว่าในพื้นที่มีอะไรน่าสนใจ มีอะไรที่ยังขาดหายอยู่ แล้วก็เห็นว่าคนที่เขาไปงาน เขายังเข้าไม่ถึงพื้นที่ขนาดนั้น คือยังไม่ได้รับรู้ว่าจริง ๆ ในพื้นที่ที่จัดงานแต่ละแห่งมีอะไรออกไปอีกเท่าไร มีร้านอาหารอะไรบ้าง มีร้านเก่าแก่ร้านไหนหรือธุรกิจอะไรที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะส่วนมากก็จะไปแค่ไปเที่ยวงาน ไปดูงานของศิลปินต่าง ๆ แล้วก็กลับบ้าน ซึ่งตรงนี้เราอยากให้เขาได้เข้าใจพื้นที่จริง ๆ และได้รู้จักกับพื้นที่มากกว่านี้ เลยเกิดเป็นไอเดียอยากทำโปรเจ็กต์ Newness เพื่อกระจายความรู้และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพื้นที่ให้คนที่มาร่วมงานได้เข้าใจมากขึ้น

ทำไมประเด็นเรื่องพื้นที่ถึงเป็นประเด็นที่เราสนใจอยากเล่า
ดรีม : มันเริ่มง่ายมากเลย คือตอนนั้นเราเข้าไปทำงานในพื้นที่ ก็ใช้เวลาอยู่หลายวันในย่านนั้น ก็คืออยากหาของกินอร่อย ๆ แถวนั้น แล้วก็มีการเสิร์ชนู่นนี่ที่ทำให้เราเจอร้านใหม่ ๆ เจอร้านที่เราไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก บางร้านก็อยู่ในซอยในซอกเล็ก ๆ แต่มันอร่อย มันมีเสน่ห์ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากเอาสิ่งนี้มาบอกต่อ ว่าในพื้นที่มันมีอีกหลายอย่างเลยนะที่ให้คุณเข้าไปสัมผัสได้ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของบรรยากาศด้วยค่ะ เพราะที่นี่ยังมีความน่ารัก เป็นบรรยากาศที่เราหาไม่ค่อยได้ในเมือง อย่างการที่เรายังเห็นคนสูงอายุเขามานั่งคุยกัน มานั่งเล่นหมากฮอส มานั่งร้องคาราโอเกะกัน คือมันยังมีมุมน่ารัก ๆ ที่เราอยากให้คนเข้าไปถึงตรงนั้นและเข้าไปเห็นด้วยตาตัวเอง

จากความสนใจอยากจะบอกต่อเรื่องราวของย่าน แล้วมันกลายมาเป็น Newness ได้ยังไง
ดรีม : ชื่อ Newness เป็นชื่อที่ไม่ได้มีความหมายซับซ้อนอะไรมากค่ะ เราแค่คิดว่าเราอยากจะนำเสนอพื้นที่นี้ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถดึงความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นออริจินัลมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ก็เลยพูดกันออกมาเล่น ๆ ว่า ถ้ามันเป็นแบบ New Original มันจะเวิร์กไหม คือเป็นความใหม่ที่ยังอยู่ในความออริจินัลอยู่ แล้วก็เลยคิดถึงคำว่า Newness ขึ้นมา


กลุ่ม Digital Picnic
เต๊ วรวัฒน์ ขจิตวิชยานุกูล (ซ้าย) และ บิ๊ก ธนพล จตุรงค์ธวัชชัย (ขวา) 

ซึ่งวิธีการที่เราวางแผนไว้ เราจะเริ่มจากการวางแลนด์มาร์กในแต่ละจุดไว้ก่อน เพราะอยากให้เห็นว่าในแต่ละจุดที่เราเลือกไว้มีอะไรบ้าง คาแรกเตอร์ของแต่ละจุดเป็นยังไง ส่วนวิธีการที่เราจะเล่า ก็อยากจะเล่าผ่านเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ด้วย ก็เลยมาถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะแผนที่หรือการกำหนดจุดบอกตำแหน่งต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ พอมาถึงตรงนี้เราก็ติดต่อไปที่คุณบิ๊กกับคุณเต๊ของทาง Digital Picnic ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว ก็ไปขายไอเดียของเราให้เขาฟังว่าเราอยากจะทำแบบนี้นะ อยากให้คนได้สำรวจพื้นที่ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นออนไลน์ มีลักษณะเป็นเหมือนแผนที่เสมือนจริง ซึ่งทั้งคู่ก็สนใจที่จะมาร่วมกับเรา

ทำไมถึงคิดว่าแพลตฟอร์มใช้ในการสำรวจย่านต้องเป็นแผนที่ ไม่เป็นเครื่องมืออื่น
บิ๊ก : คือมันค่อนข้างตรงไปตรงมานะครับ จริง ๆ พวกเราเคยเดินงานเฟสติวัลต่าง ๆ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศกันอยู่แล้ว ซึ่งงานในลักษณะนี้ พื้นที่ในการจัดงานมันค่อนข้างจะใหญ่ และต้องใช้การเดินในการสำรวจดูงานนิดหนึ่ง ซึ่งปกติเขาก็จะแจกแผนที่กันเป็นปกติ แต่ประเด็นคือ ด้วยความที่พื้นที่มันใหญ่ ก็อาจทำให้คนที่มาดูงานบางคนเขาเริ่มต้นเดินไม่ถูก ถ้ามางาน Bangkok Design Week ปีก่อน ๆ เราก็อาจจะเห็นคนที่มาเขาเริ่มจากจุดที่เป็นอาคารไปรษณีย์กลาง หรือบางคนฝั่งบางรัก บางคนไปเริ่มจากตลาดน้อยมาเลยก็มี ซึ่งผมมองว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละคนไม่ได้เหมือนกันเลย แล้วตัวเทศกาลฯเองก็ไม่ได้กำหนดว่าคุณจะต้องมาตรงนี้ก่อน แล้วค่อยตามด้วยดูโน่นนี่นั่น มันฟรีสไตล์ อยากจะเดินชมชิ้นงานจากจุดไหน ที่ไหน หรือจะเดินแค่ตรงนี้แล้วกลับก็ได้ แต่ก็อาจจะเป็นปัญหานิดหน่อยที่บางคนรู้สึกว่าดูงานได้ไม่ทั่ว เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปยังไงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง อีกอย่างก็คือการแจกแม็ปที่เป็นกระดาษ ก็ไม่ได้สามารถแจกให้ได้ทั่วทุกที่หรือทุกคน 

เพราะส่วนใหญ่เวลาแจกแผนที่งานคือคุณก็ต้องมาที่จุดลงทะเบียนก่อน
บิ๊ก : ใช่ครับ ซึ่งถ้ามันมีเครื่องมือหรือแอพพลิเคชันที่ช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็น่าจะดี คือคุณอยู่ตรงไหนก็ได้ คุณแค่สแกนแล้วดาวน์โหลดแผนที่ ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่ามีอะไรบ้าง ตรงจุดไหนบ้าง เพราะว่าล่าสุดผมได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ ผมก็พบว่าในช่วง 10-20 วันที่อยู่ตรงนั้น จะมีคนมาถามผมตลอดว่ามีแม็ปไหม ตรงนี้ไปยังไง ตรงนี้อยู่ตรงไหน ผมก็ต้องตอบคำถามเดิมซ้ำ ๆ  แทบทุกวัน การพัฒนาแอพฯ ในโปรเจ็กต์ Newness นี้มันก็เลยน่าจะแก้ปัญหาได้ ช่วยให้คนที่มางานกดดูแม็ปได้เลย แล้วเรายังเพิ่มลูกเล่นที่สามารถพาเขาไปได้ต่อเนื่อง ช่วยให้การเดินดูงานมันลื่นไหล คนก็จะอินกับงานมากขึ้น ได้ดูครบสิ่งที่เราอยากจะเล่ามากขึ้น เพราะไม่งั้นเขาก็อาจจะไปจุด A ก่อน แต่จริง ๆ แล้วเราดีไซน์ไว้ว่าควรจะไปจุด B ก่อนและต่อด้วยจุด C แล้วค่อย A แต่เขาอาจจะไปแค่จุด A แล้วกลับ หรือไปจุด A แล้วกระโดดไปจุด D ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของงานที่เราออกแบบไว้ หรือเก็บงานไม่ครบทุกจุดอย่างที่ตั้งใจ ถ้ามีแอพฯ นี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่งเลย

แต่การทำแผนที่ให้อยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชันก็มีข้อจำกัด
บิ๊ก : ก็นิดหนึ่งครับ คือมันจะต่างจากการเข้าไปดูในเว็บไซต์ตรงที่มันต้องดาวน์โหลดครับ อาจจะเข้าไปกินพื้นที่ของยูสเซอร์บ้าง แต่การเป็นแอพฯ มันก็สามารถใส่ลูกเล่นที่มันน่าสนใจ แบบที่เราต้องการจะแก้ปัญหาหรือเล่าเพิ่มได้ด้วย คืออย่างแรก เขาต้องรู้ว่ามันมีอะไรต่อที่เป็นจุดที่ใกล้ เพราะปกติเวลาคนเดินก็จะคิดว่าฉันอยู่ตรงนี้ ที่ที่ใกล้ที่สุดที่ฉันจะเดินไปถึงคือจุดไหน ซึ่งเราก็ทำให้สามารถคลิกดูจุดที่ใกล้พร้อมข้อมูลคร่าว ๆ ว่าจุดที่อยู่ใกล้นั้นจัดแสดงอะไร น่าสนใจไหม คือสามารถเลือกและตัดสินใจได้เลยว่าจะไปหรือไม่ไป  

เต๊ : นอกจากที่จะเป็นแม็ปของงานแล้ว เราก็ยังดีไซน์วิธีการเล่าเรื่องพื้นที่จัดงานผ่านเทคโนโลยี AR ที่คนดูงานจะสามารถใช้มือถือมาส่องแล้วมองเห็นความเซอร์ไพรส์ต่าง ๆ ที่เราออกแบบไว้โดยอิงกับประวัติศาสตร์และบรรยากาศของพื้นที่รอบ ๆ เช่น ความเป็นย่านเก่าแก่ หรือความเป็นจีน เพื่อให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่สนุกขึ้นกับพื้นที่ในย่าน แล้วก็สามารถถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลมีเดียได้ทันที ซึ่งมันมีผลดีกับงานด้วย เป็นเหมือนการบอกต่อไปอีกว่าในงานนี้มันมีอะไรที่น่าสนใจให้มาดูกันบ้าง 

ในส่วนของการออกแบบคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอเป็นยังไงบ้าง
ดรีม : คอนเซ็ปต์หลักของโปรเจ็กต์ Newness จริง ๆ มันประกอบไปด้วย 3 สิ่งหลักคือ การมา Explore คือมาค้นพบความน่าสนใจของย่าน สัมผัสประสบการณ์ของพื้นที่ที่จัดงานในส่วนที่คุณยังไม่เคยรู้ พอได้พบแล้วก็จะต้อง Connect คือรู้สึกเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่อาจจะไม่คุ้นเคยหรือยังไม่เคยรู้จักในมุมมองแบบนี้มาก่อน และสุดท้ายคือความรู้สึกอยากรักษาเอาไว้ หรือ Preserve เก็บเรื่องราวดี ๆ และรักษาให้อยู่คู่กับพื้นที่ต่อไปนาน ๆ 

โดยในส่วนงานของ Photon ตอนแรกเราคิดไว้ว่าอยากให้คนได้สำรวจแล้วก็ให้เรียนรู้พื้นที่ผ่านเครื่องมือหนึ่ง ทางเราก็คิดอยากให้เป็นกิจกรรมที่คนสามารถเข้ามามีประสบการณ์ร่วมสนุก ๆ ได้ อย่างที่บอกว่าตอนแรกเราพยายามดึงคาแรกเตอร์ของพื้นที่แต่ละจุดออกมาก่อน ว่าเราอยากจะเล่าอะไรในจุดต่าง ๆ แล้วก็มาคิดถึงการทำเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ไปตั้งในพื้นที่ เพราะเรารู้สึกว่าตู้พวกนี้อยู่คู่กับคนเรามาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นแอนาล็อกจนมาถึงยุคดิจิทัล ก็ยังมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอยู่ แต่มันก็มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์หรือเทคโนโลยีไปเรื่อย ๆ  ก็ได้ไอเดียจากจุดนั้นเอามาปรับเป็นกิจกรรมที่มันสนุกขึ้น คือเป็นเหมือนตู้กดให้เขามากดรหัส ตอบคำถาม แล้วก็รับของที่เป็นเหมือนกาชาปองไป ซึ่งในนั้นก็จะมีข้อมูลเล็ก ๆ เกี่ยวกับพื้นที่แต่ละจุดในย่านให้เป็นเหมือนของที่ระลึกของงาน เหมือนกับคุ้กกี้เสี่ยงทาย เปิดมาก็จะได้ข้อความสั้น ๆ ที่จะเล่าต่อว่าในพื้นที่นี้มันมีอะไรอีกบ้างที่น่าสนใจ จากนั้นเราก็จะมีเหมือนโฟโต้บูธที่เราดีไซน์ให้ถ่ายรูปได้ เช็กอินได้ และแชร์ได้ คืออยากให้มันเรียงไปเป็นไทม์ไลน์ จากยุคแอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล ได้สัมผัสกับข้าวของแบบแอนาล็อก แต่เราบันทึกและบอกต่อมันบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเล่าเรื่องย่านคืออะไร
ท็อป : จริง ๆ เทคโนโลยีที่เราใช้ก็เป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้อย่างการทำแม็ปหรือการทำ AR ซึ่งผมมองการใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างภาพเสมือนจริงในพื้นที่จริงมันจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการพื้นที่ได้ อย่างการนำเอาอะไรไปตั้ง ไปติด ใกล้ ๆ บ้านของชาวบ้านหรือในชุมชน ซึ่งน่าจะมีปัญหามากกว่าทั้งในเรื่องของการบดบังทัศนียภาพ หรือการดูแลรักษาให้มันอยู่ในสภาพดีตลอดเวลา แต่พอมันเป็น AR มันก็ง่ายขึ้น โอเคเราไม่ได้ยุ่งกับของ ๆ เขานะ ไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็ไปยัดใส่ในพื้นที่ของเขา ผมก็เลยมองว่ามันเป็นข้อดีที่จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้นแล้วคนก็อาจจะสนุกขึ้นกับวิธีการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่จริงที่แตกต่างไป 

การหยิบเอาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของย่านมาเล่าให้ถูกต้องและถูกใจทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มีความยากง่ายยังไง
ดรีม : ส่วนหนึ่งที่เราซีเรียสเลยก็คือการหาข้อมูลและการตรวจสอบข้อมูลว่าต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเราก็ต้องใช้วิธีค้นข้อมูลแล้วก็สอบถามจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า ๆ ที่เขามีสตอรีสามารถถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ อย่างข้อความในกาชาปองที่พูดไป ก็จะรวมข้อความในหลาย ๆ จุด ข้อความหลาย ๆ เรื่องที่คนในพื้นที่เขาอยากบอกต่อ เช่น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ร้านไหนดังที่สุดในย่านนี้ เพราะอะไร แล้วเขาอยากเล่าเรื่องไหนให้คนรุ่นใหม่ ๆ ฟัง หรือการที่เราดีไซน์การเล่าเรื่องความเชื่อในย่านตรงบริเวณศาลเจ้า โดยทำเป็นเซียมซีให้คนเข้ามาเลือกเสี่ยงเซียมซีให้เลือกว่าสนใจเรื่องความรัก การเงิน หรือการงาน พอเลือกคำทำนายที่ต้องการแล้ว เราก็จะมีเส้นทางการเที่ยวชมงานตามธีมที่เขาเลือกไว้ให้ เป็นต้น 

ซึ่งเรารู้สึกว่าการที่ทำแบบนี้ มันจะทำให้คนสนใจพื้นที่มากขึ้น บริโภคของในพื้นที่มากขึ้น หรือแม้แต่เดินสำรวจในเส้นทางที่เคยไม่เป็นที่นิยมมาก่อน คนในพื้นที่เขาก็ได้บอกในเรื่องที่เขาอยากบอก ได้โชว์สิ่งที่เขาภูมิใจ คนที่เข้ามาก็ได้เข้าใจ ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ และยังน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับพื้นที่ เช่น ไปช่วยเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจในย่าน จากจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้นที่เข้ามาเยี่ยมชม แล้วก็ยังช่วยสร้างบรรยากาศ ความมีชีวิตชีวาให้กับย่านที่เงียบเหงาลงจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา อย่างโควิด-19 ก็ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว หรือมีคนเข้ามาในพื้นที่แถบนี้น้อยลง 

ทำไมถึงคิดว่าการเล่าเรื่องพื้นที่มันน่าสนใจถึงขนาดเอามาทำเป็นโปรเจ็กต์ได้ 
ท็อป : ผมมองว่าเรื่องการใช้ชีวิตในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมันมีผลมาก ๆ กับรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา อย่างผมอยู่ห้วยขวางมาตั้งแต่เด็ก หนึ่งเลยคือเราก็จะชินกับรสชาติอาหารที่เราติด ที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่าภูมิศาสตร์ของเมืองหรือถิ่นที่อยู่มันสร้างคาแรกเตอร์หรือตัวตนของเราขึ้นมา เช่น ผมอยู่กลางเมือง แทบไม่มีต้นไม้ แล้วอากาศก็ร้อนมาก ผมโตมาแบบนี้ ผมก็จะเป็นคนชอบใส่เสื้อยืดอย่างเดียวเพราะมันไม่ร้อน ไม่อึดอัด หรืออย่างการที่เราก็จะมองพื้นที่ที่เราอยู่ในแบบของเรา สำหรับผม ห้วยขวางมันจะแบ่งเป็นสองโซน โซนหนึ่งจะเป็นคอนโดไปหมดแล้ว ส่วนอีกโซนก็ยังมีบ้านเก่า ๆ ตึกเก่า ๆ อายุประมาณ 30-40 ปีก็ยังมี ซึ่งผมคิดว่าตึกเก่า ๆ พวกนี้มันค่อนข้างมีเสน่ห์ ผมสงสัยเสมอว่าคนสมัยนั้นเขาคิดได้ยังไงที่ดีไซน์หน้าต่างมาอยู่ตรงนี้ หรือรูปทรงอะไรหลายๆ อย่างของบ้านเก่า ที่มันทำให้เราได้เรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราอยากเห็นภูมิทัศน์ของเมืองหลวงของเราพัฒนาไปทางไหนอีกบ้าง
ดรีม : ส่วนตัวคิดว่าการที่เราทำโปรเจ็กต์นี้ก็น่าจะช่วยให้คนกลับมามองเรื่องภูมิทัศน์ของเมืองหลวงกันมากขึ้น เพราะไอเดียสำคัญเลยคือเราอยากให้คนเดิน เราเชื่อว่าการเดินมันจะทำให้ผู้คนได้ใช้เวลาในพื้นที่มากขึ้น ได้มองเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างในมุมมองที่ใกล้ชิดขึ้น เพราะทุกวันนี้เวลาคนจะเดินทางไปไหน เราก็มักจะใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะ แต่สิ่งที่กลุ่มเราคิดคือ เราคิดว่ามันอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ระหว่างทาง ที่ทำให้คนสนุกกับการเดิน กับการสำรวจเมืองมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่แล้ว ก็น่าจะลดปัญหารถติดไปได้บ้าง และที่สำคัญคือมันอาจจะช่วยให้เราเห็นประเด็นที่ต้องได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาของพื้นที่จุดต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพราะว่ายิ่งคนเข้าถึงพื้นที่มากขึ้น พื้นที่นั้น ๆ ก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะเจริญขึ้นเหมือนกัน

ท็อป : ผมเห็นด้วยกับการวางผังเมืองที่ดี ผมเป็นหนึ่งคนเมืองที่ใช้วิธีการเดินอยู่แล้ว ผมชอบเดินเล่นในกรุงเทพฯ เพราะว่าเราจะได้เห็นร้านบางร้านที่มันแปลกตา คิดว่าถ้าผังเมืองมันดีขึ้น คนก็อาจจะเข้าถึงเมืองในแบบที่ควรจะเป็นมากขึ้น 

บิ๊ก : ผมอยากแชร์เคสเรื่องของคลองในกรุงเทพฯ หรืออย่างฝั่งบางมดแถวบ้านผม มันจะมีพื้นที่ที่เป็นคลองซึ่งเป็นที่เปลี่ยว แล้ววันหนึ่งก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องการใช้จักรยานริมคลอง เริ่มมาติดไฟเพิ่มเพื่อความปลอดภัย คือการปรับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ ก็สามารถทำให้คนเข้าถึงพื้นที่ที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของคนริมคลองได้ และเป็นการพัฒนาและเพิ่มประโยชน์ของพื้นที่นั้นด้วย สุดท้ายที่ตรงนั้นก็กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่คนจะนัดกันมาปั่นจักรยาน พอมีนักท่องเที่ยว มีคนเข้าไป ก็เกิดร้านขายของ เศรษฐกิจในนั้นก็ดีขึ้นมา 

[Creative Ingredient]
ย่านในดวงใจของแต่ละคน 

เต๊ : บางบอน/บางมด – ส่วนใหญ่ผมจะอยู่แถว ๆ โซนบางบอนบางมด เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีธรรมชาติอยู่เยอะ ร่มเย็น แต่ถ้าให้เลือก ผมคงเลือกที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เพราะสมัยที่ผมเรียนที่นั่นมันรู้สึกสบายแล้วก็ผ่อนคลาย

บิ๊ก : หัวลำโพง – ผมว่าเป็นย่านที่สวยและก็มีเสน่ห์มาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ที่เชื่อมต่อกันอย่างแถว ๆ วัดมังกร

ท็อป : หัวลำโพง - ผมขอใช้คำว่ามันเป็นเมืองเริ่มต้น เพราะมันมีทั้งรถไฟ ท่าเรือ ป้ายรถเมล์ ที่สำคัญคือแถวนั้นอาหารอร่อย ตึกสวย น่าเดินเล่น 

เดียร์ : อารีย์ – เป็นย่านอาหารอร่อย คาเฟ่สวย ๆ เยอะ แล้วก็มีคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้เสพเสมอ  

ดรีม : ย่านเมืองเก่า สงขลา – จริง ๆ เกิดที่สมุทรปราการแล้วก็ใช้ชีวิตแต่ในกรุงเทพฯ แต่ปีที่แล้วได้ลงไปสงขลาเป็นครั้งแรก แล้วประทับใจมากตรงย่านเมืองเก่า ชอบทั้งตึก สี วิถีชีวิต อากาศ และการประยุกต์พื้นที่ให้เข้ากับวิถีชีวิตของเขา รวมถึงอาหารที่มีความเป็นใต้ผสมกับจีนอย่างลงตัว ถึงแม้จะเป็นย่านเมืองเก่าที่มีแต่คนสูงอายุแต่มันก็ดูชิคมาก ๆ ค่ะ 

 

เรื่อง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ | ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก