CGI ไม้กายสิทธิ์ของฉากเหนือจริงในโลกภาพยนตร์
Technology & Innovation

CGI ไม้กายสิทธิ์ของฉากเหนือจริงในโลกภาพยนตร์

  • 02 Apr 2021
  • 1777

สถานที่ถ่ายทำนับเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ในวงการภาพยนตร์มาเป็นเวลานาน หลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนให้บรรดากองถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งในและนอกประเทศเดินทางเข้าไปยังโลเกชันที่ต้องการให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อช่วยโปรโมตพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักและนำมาสู่ผลพลอยได้ทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวม

แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 วงการภาพยนตร์และการเดินทางของกองถ่ายในการไปยังโลเกชันต่าง ๆ หรือแม้แต่การรวมตัวกันของนักแสดงและทีมงานก็ถูกจำกัด

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีในการสร้างภาพเสมือนด้วยคอมพิวเตอร์อย่าง CGI (Computer Generated Imagery) จึงกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะทดแทนการเข้าไปยังพื้นที่ถ่ายทำจริงได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังสร้างภาพที่เหมือนกับจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด และยังประหยัดต้นทุนมากกว่าด้วย

การพัฒนาเทคนิคด้าน CGI ก้าวล้ำขึ้นอย่างมากทั้งเอฟเฟ็กต์ด้านภาพและเสียง อีกทั้งการมาถึงของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เช่น สื่อออนไลน์และบริการสตรีมมิงที่ช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงการรับชมภาพยนตร์ได้มากขึ้น ยิ่งทำให้ CGI กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการนำเสนอภาพยนตร์ที่โดดเด่นเหนือจินตนาการ และมีความหมายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์

ย้อนกลับไปในยุคปี 1950 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เทคนิค CGI คือ Vertigo (1958) ของผู้กำกับคนดังอย่างอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างภาพแบบสองมิติเข้ามา หลังจากนั้นภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แอนิเมชันที่ชื่อ A Computer Animated Hand โดยเอ็ดวิน แคตมูลล์ (Edwin Catmull) ผู้ร่วมก่อตั้ง Pixar และอดีตประธานของ Walt Disney Animation Studio ร่วมกับเฟร็ด ปาร์ก (Fred Parke) ก็ออกฉายในปี 1972 และเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมได้เห็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกแบบ 3 มิติโดยการทำงานของ CGI ตลอดทั้งเรื่อง


A Computer Animated Hand (1972) ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แอนิเมชันที่ใช้ CGI ตลอดทั้งเรื่อง ที่มา : youtu.be/fAhyBfLFyNA

เทคโนโลยี CGI ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบรรดาคอหนัง เพราะไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในการสร้างภาพได้สุดล้ำจินตนาการ แต่ยังมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม โดยเฉพาะภาพยนตร์ในยุคหลังที่มีการใช้ CGI อย่างเต็มรูปแบบ เช่น Toy Story, Final Fantasy: The Spirits Within, The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring, Avatar, Jurassic Park, The Avengers หรือ Up เมื่อบวกกับสถานการณ์โรคระบาด ก็ยิ่งทำให้การใช้ CGI เข้าช่วย สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้กองถ่ายสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยี CGI จะกวาดคำชมในฐานะตัวเร่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นมีพัฒนาการด้านการเล่าเรื่องและเข้าถึงความต้องการของผู้ชมยุคใหม่ อย่างที่ซีรีส์เรื่องใหม่ของซงจุงกิ Vincenzo ได้ฉายภาพให้เห็นตัวเอกของเรื่องกำลังไล่ล่าอยู่ในไร่องุ่นของประเทศอิตาลีได้อย่างสมจริงโดยที่ทีมงานทั้งหมดไม่เคยแม้แต่ก้าวเท้าเข้าไปในอิตาลีเลย แต่การทดแทนการถ่ายทำจริงด้วยโลเกชันจำลอง ก็อาจส่งผลไม่สู้ดีนักต่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่งดงามทั่วโลกซึ่งกำลังถูกมองข้าม จนอาจทำให้พื้นที่ขาดรายได้หรือขาดการดูแล 


การใช้ CGI แทนการถ่ายทำสถานที่จริงปรากฏในซีรีส์เกาหลี Vincenzo เนียนกริ๊บจนได้รับคำชมจากผู้ชมล้นหลาม ที่มา : youtu.be/Yf4nmyjBanE

หากเทคโนโลยี CGI สามารถพัฒนาให้เข้าเป็นส่วนเสริมในการปรับให้ภูมิทัศน์ที่ปรากฏในภาพยนตร์อย่างลงตัวระหว่างการถ่ายทำในสถานที่จริงกับเทคนิคจากคอมพิวเตอร์ เช่นที่เราเห็นจากซีรีส์ดราม่าสุดระทึกเรื่อง Alice in Borderland ซึ่งสถานที่ถ่ายทำหลายแห่งนั้นเป็นสถานที่จริง ผสานกับสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น ฉากสี่แยกชิบูย่าที่ปกติเต็มไปด้วยผู้คนและถ่ายทำได้ยากนั้น ก็ถูกจำลองขึ้นใหม่ที่เมืองอาชิคางะ จังหวัดโทะชิงิ ด้วยเทคนิค CGI หรือภาพท้องถนนในโตเกียวบางส่วนก็ถูกถ่ายทำในโกเบและโยโกฮาม่าทดแทน


ตัวอย่างฉากสี่แยกชิบูย่าใน Alice in Borderland ที่ใช้เทคนิคจาก CGI ทดแทนสถานที่จริง

สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะช่วยสร้างจุดสมดุลใหม่ในการใช้ประโยชน์จากสถานที่ถ่ายทำจริงและเทคนิค CGI ที่ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดอาจไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือเหล่าผู้ชมที่จะได้เปิดโลกแห่งความบันเทิงด้วยภาพที่สวยงามและสมจริงมากที่สุดนั่นเอง

ที่มาภาพ : Netflix 

ที่มา : 
บทความ “Computer Generated Imagery (Cgi): The Magic Wand Of Cinema Industry” (20 พฤศจิกายน 2020) โดย Adilin Beatrice จาก analyticsinsight.net
บทความ “How Has CGI Changed The Film Industry?” จาก skeptikai.com
บทความ “The future of film production may look more animated than before the pandemic” (22 กรกฎาคม 2020) โดย Bob Strauss จาก datebook.sfchronicle.com
บทความ “Visit These 17 Japan Locations for an Alice in Borderland Pilgrimage” (11 มกราคม 2021) จาก blog.govoyagin.com
บทความ “How the Vincenzo Team Pulled Off Those Scenes in Italy” (17 มีนาคม 2021) โดย Mia Rodriguez จาก spot.ph

เรื่อง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์