มุมชวนคิดกับความรู้ภูมิศาสตร์
Technology & Innovation

มุมชวนคิดกับความรู้ภูมิศาสตร์

  • 05 Apr 2021
  • 1684

[FEATURED BOOK]
Never Lost Again: The Google Mapping Revolution That Sparked New Industries and Augmented Our Reality
โดย Bill Kilday

หากมีใครมาบอกเราว่าผู้คนในเจเนอเรชันของเราจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่รู้จักกับ “การหลงทาง” ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่แปลกนัก เพราะหนังสือ Never Lost Again นี้เป็นเหมือนกับไดอารีเล่มหนึ่งที่จดบันทึกวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในการทำแผนที่ และเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของ Keyhole บริษัทสตาร์ตอัพที่เป็นผู้เริ่มต้นสร้างเครื่องมือที่ชื่อ Earth Viewer ซึ่งเกือบจะไปไม่รอดในช่วงแรก แต่หลังจากที่หน่วยงาน CIA นำผลิตภัณฑ์จากพวกเขาไปใช้สำหรับเหตุการณ์สงครามในอิรักจนมีชื่อเสียง และได้ไปเข้าตาของ Google ที่ให้ความสนใจและเข้ามาซื้อบริษัท Keyhole ไป ก่อนจะปรับเปลี่ยนต่อยอดและพัฒนาซอฟต์แวร์จนเกิดเป็นผลิตภัณท์ใหม่ที่มีชื่อว่า Google Maps และ Google Earth ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

การมาถึงของ Google Maps ไม่เพียงแต่เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อโลกและเปลี่ยนวิธีที่เราค้นหาเส้นทางต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่มันยังจุดประกายความคิดให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารสาธารณะอย่าง Uber ที่ใช้การระบุตำแหน่งเพื่อค้นหาที่อยู่ของผู้ใช้งานและจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ หรือเกมมือถือ Pokémon GO ที่ใช้การระบุตำแหน่งบนแผนที่ผสานเข้ากับเทคโนโลยี AR: Augmented Reality โดยผู้เล่นต้องเดินทางไปตามสถานที่จริงเพื่อจับโปเกมอน ทำให้เกิดความสนุกในรูปแบบใหม่ขึ้นมาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จนได้รับกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน 

การเกิดขึ้นของ Google Maps ยังทำให้เราได้ตระหนักว่า เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเราไปมากขนาดไหน นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าโลกทัศน์ของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอันเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ จินตนาการ และความพยายามอย่างมหาศาลในการสร้างแผนที่ที่ดีจริง ๆ ขึ้นมา และอาจเป็นเครื่องที่ยืนยันสมมติฐานที่ว่า หลังจากนี้ไปคงไม่มีใครต้องเผชิญกับปัญหาในการหลงทางเหมือนกับผู้คนเมื่อหลายชั่วอายุคนที่เป็นมาก่อนหน้านี้ สมกับชื่อหนังสือที่บอกเราว่าจะไม่มีทางหลงอีกต่อไป หรือ Never Lost Again นั่นเอง

©unco.edu

[RESEARCH PAPER]
Augmented Reality (AR) Sandbox: 3-Dimensional Media to Learn Topographic Maps
โดย Dian Septi Nur Afifah, Muhammad Ilman Nafi’an, Tri Linggo Wati, Novia Ariyanti และ Sutopo

แทบปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั้งในด้านของการสื่อสาร อุตสาหกรรม หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอย่างเครื่องมือที่มีชื่อว่า “Augmented Reality (AR) Sandbox” หรือเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้โดยการนำเสนอแผนที่และพื้นผิวของภูมิประเทศให้ออกมาอยู่ในรูปแบบ 3 มิติ โดยติดตั้งกล้องสำหรับจับการเคลื่อนไหวที่จะฉายภาพจำลองเหนือศีรษะลงบนกระบะทรายผ่านการป้อนข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการปรับความสูงชันของทรายในกระบะ การแสดงผลภาพจำลองภูมิประเทศและเส้นชันความสูงก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างสมจริง เครื่องมือ AR Sandbox จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้เป็นสื่อสำหรับการเรียนรู้เรื่องภูมิประเทศแบบ 3 มิติในสถานศึกษาและวงการภูมิศาสตร์ได้ในอนาคต

Research paper : https://www.sciencepubco.com/index.php/ijet/article/view/27361

[WEBSITE]
Landsat Science
โดย NASA and the U.S. Geological Survey

Landsat เป็นชื่อของชุดดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อบันทึกภาพถ่ายของพื้นผิวโลกและเผยแพร่มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาวิจัยในหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก  เช่น การช่วยระบุตำแหน่งและประเมินอัตราของการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้คำนวณผลกระทบของภาวะโลกร้อน หรือการใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายพื้นที่บริเวณขั้วโลกมาช่วยในการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพของน้ำ อัตราการลดลงของปริมาณน้ำแข็งที่จะส่งผลต่อจำนวนของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ก็มีการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในการติดตามปรากฏการณ์และภัยพิบัติจากธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลก ทั้งเหตุแผ่นดินไหว อัคคีภัยจากไฟป่า หรือพายุถล่ม ซึ่งนอกจากจะช่วยประเมินผลความเสียหายที่ได้รับแล้ว ก็ยังใช้เพื่อการวางแผนบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

©facebook.com/sendpoints

[BOOK]
Cartographics: Designing The Modern Map
โดย Sendpoints Publishing Co., Ltd.

แผนที่ อาจถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้บอกข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถนำการออกแบบกราฟิกและเทคนิคต่าง ๆ มาประยุกต์เพื่อใช้สื่อสารในประเด็นที่น่าสนใจได้อีกมากมาย ทั้งในแง่ของสถิติ พฤติกรรมของมนุษย์ หรือความแตกต่างในมิติอื่น ๆ  อย่างเช่น “Food Map” ผลงานสร้างสรรค์ที่ได้หยิบอาหารหรือวัตถุดิบที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นมาจัดเรียงให้อยู่ในรูปร่างพื้นที่ของแต่ละประเทศ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้นี้ยังมีผลงานการออกแบบแผนที่ด้วยไอเดียแปลกใหม่จากทั่วโลกให้ได้ศึกษาเพิ่มเติม หากใครกำลังมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ หนังสือเล่มนี้จะสามารถช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

เรื่อง : นคร เจียมเรืองจรัส