จากขยะพลาสติกในทะเลสู่ Haute Couture
Technology & Innovation

จากขยะพลาสติกในทะเลสู่ Haute Couture

  • 26 Apr 2021
  • 1159

มีข้อมูลที่น่าตกใจระบุว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อโลกของเรามากสุดเป็นอันดับสอง และขยะเหลือทิ้งจากขั้นตอนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นมีมากถึง 20% ของขยะทั้งหมดทั่วโลก ยังไม่รวมการทิ้งเสื้อผ้าใช้แล้วอีกราว 26 ล้านลิตรต่อปี และขยะจะเป็นเพียงแค่ขยะ ถ้าไม่ถูกนำไปทำประโยชน์อะไร 

หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นจึงให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อโลกใบนี้มากขึ้น โดยหันมาเลือกใช้วัสดุรักษ์โลก เน้นการผลิตที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

ทุกวันนี้เราได้เห็นนวัตกรรม Upcycling หรือการนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้วมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ในโลกแฟชั่นน่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ใครจะไปคิดว่าเสื้อผ้าไฮเอนด์กับวัสดุพลาสติกรีไซเคิลจะไปด้วยกันได้ เชื่อเถอะว่ามันเป็นไปแล้ว เพราะชุดที่ใช้ศิลปะการตัดเย็บชั้นสูง หรือ โอกูตูร์ (Haute couture) ผลงานล่าสุดของแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง อีริส ฟาน แฮร์เปน (Iris Van Herpen) ได้รับการสร้างสรรค์จากนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจากขยะพลาสติกในทะเลที่นำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนกลายเป็นเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์คุณภาพสูง นำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ 100% ในการผลิตชุดในครั้งนี้

อีริส ฟาน แฮร์เปน เป็นดีไซเนอร์หญิงชาวดัตช์ผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของวงการเสื้อผ้าโอกูตูร์ยุคใหม่ ความความโดดเด่นของเธอคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การพิมพ์แบบ 3 มิติ และเทคนิคเลเซอร์คัต มาผสมผสานในการทำชุดชั้นสูงตามแบบฉบับโอกูตูร์ และยังกล้าฉีกกรอบของแฟชั่นแบบเดิม ๆ ล่าสุดเธอได้เปิดตัวผลงานชุดโอกูตูร์ที่ทำจากเส้นด้ายจากขยะพลาสติกในทะเล เส้นด้ายดังกล่าวผลิตโดย Parley for the Oceans องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัสดุใหม่ที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเล ภายใต้ชื่อ Parley Ocean Plastic® ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานกับ Adidas และแบรนด์ระดับโลกอื่น ๆ มาแล้ว

ชุดโอกูตูร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็คชั่น Roots of Rebirth Spring / Summer 2021 ซึ่งสื่อถึงความซับซ้อนและความเชื่อมโยงกันของเห็ด โดยเฉพาะไมซีเลียมหรือเชื้อราจากเห็ดซึ่งเป็นเส้นใยที่พันเกี่ยวและยึดกันแน่น

ความพิเศษของของคอลเลกชันนี้อยู่ที่ชุดที่ 6 บนแคตวอล์ก ในชื่อชุด Holobiont ซึ่ง ฟาน แฮร์เปน ใช้เส้นใยพลาสติก Parley Ocean Plastic® ซึ่งวัสดุดังกล่าวทำมาจากขยะทะเลที่ผ่านการรีไซเคิล ในแต่ละปีโลกเราจะมีขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลมากกว่า 8 ล้านตัน (ข้อมูลจากโครงการ Upcycling the Oceans) องค์กร Parley for the Oceans ได้รวบรวมเศษพลาสติกจากชายฝั่งและมหาสมุทร จากนั้นนำไปบีบอัดเป็นก้อน ก่อนส่งไปยังคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเชนของ Parley ซึ่งพลาสติกเหล่านั้นจะถูกทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนกลายเป็นเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ประสิทธิภาพสูง

การนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการออกแบบคอลเล็คชั่นเสื้อผ้าถือเป็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในงานศิลปะของฟาน แฮร์เปน เธอให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ว่า

"เราพัฒนาวัสดุภายในองค์กรมากมาย และยังร่วมมือกับบริษัทและสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น Parley for the Oceans ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการรีไซเคิลพลาสติกจากมหาสมุทร และเปลี่ยนให้เป็นเส้นด้ายที่อ่อนนุ่ม คุณภาพของเนื้อผ้ามีความประณีตเหมาะอย่างยิ่งสำหรับชุดโอกูตูร์"

สำหรับชุด Holobiont นี้ ดีไซเนอร์จะพิมพ์ผ้าก่อนที่จะตัดด้วยเทคนิคเลเซอร์คัตให้เป็นสามเหลี่ยมขนาดเล็กเรียงกันด้วยรูปแบบ tessellation (การนำรูปเรขาคณิตมาวางเรียงกันโดยรูปที่ได้จะต้องไม่มีช่องว่างหรือซ้อนกัน) โดยความประณีตของการถักทอเป็นสิ่งที่ทำให้เส้นใยชนิดนี้เหมาะสำหรับการออกแบบชุดโอกูตูร์

“มันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นผ้าเนื้อดีที่รีไซเคิลจากขยะพลาสติกในทะเล 100% คนส่วนใหญ่เวลานึกถึงผ้ารีไซเคิลมักจะนึกถึงเนื้อผ้าที่แข็งและไม่ค่อยสวย แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว ตอนนี้คุณภาพของผ้ารีไซเคิลสูงมากจนสามารถนำไปใช้งานได้แม้กระทั่งเสื้อผ้าชั้นสูงระดับไฮเอนด์”

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักฟาน แฮร์เปน เธอคนนี้เพิ่งออกแบบชุดที่ตัดด้วยเทคนิคเลเซอร์คัตที่เธอมักใช้ในการสร้างสรรค์เสื้อผ้า ให้กับนักร้องสาวเลดี้กาก้า เพื่อสวมใส่ในงาน VMA ในปี 2020 ย้อนไปก่อนหน้านั้นในปี 2010 เธอคือดีไซเนอร์คนแรกของโลกที่ส่งชุดบนรันเวย์ชื่อ Crystallization ซึ่งเป็นการนำวัสดุพอลิเอไมด์สีขาวมาพิมพ์แบบสามมิติ ซึ่งต่อมานิตยสาร Time ได้ยกย่องให้ชุดเดรสสามมิติของเธอเป็น 1 ใน 50 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดประจำปี 2011 และล่าสุด มีการนำผลงานการออกแบบที่หาชมได้ยากของเธอมาจัดแสดงให้ได้ชมกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

ที่มาภาพ :  dezeen.com

ที่มา :
บทความ “Iris Van Herpen creates haute couture dress from ocean-plastic” โดย Cajsa Carlson จาก dezeen.com
บทความ “เสื้อผ้าส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรได้อย่างไร?” จาก .actsofgreenshop.me
บทความ “Upcycling the Ocean วิถีความยั่งยืนของธุรกิจแฟชั่น” จาก thaipublica.org
บทความ “ปลุกกระแส ECO ! 15 แบรนด์ดังตบเท้าร่วมขบวน ผลิตสินค้าจากขยะรีไซเคิล” จาก erc.kapook.com
บทความ “อาดิดาสประกาศจะใช้เฉพาะพลาสติกรีไซเคิลในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2024” จาก themomentum.co
บทความ “From Waste to Wear แปลงขยะสู่แฟชั่นรักษ์โลก” จาก bangkokbiznews.com
บทความ “H&M, Zara ลวงลูกค้า? ถูกตราหน้าสร้างภาพรักษ์โลกดึงกำลังซื้อ” จาก positioningmag.com

เรื่อง : รติรัตน์ นิมิตรบรรณสาร