Marie Bee Bloom  ทิ้งหน้ากากอนามัยให้โลกได้บานสะพรั่ง
Technology & Innovation

Marie Bee Bloom ทิ้งหน้ากากอนามัยให้โลกได้บานสะพรั่ง

  • 28 Apr 2021
  • 1285

ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หน้ากากอนามัย” ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว ทว่า หน้ากากอนามัยซึ่งมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ในฐานะเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ในอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นขยะปริมาณมหาศาล ไปพร้อมกันด้วย

งานวิจัยหลายชิ้นประมาณการว่า มนุษย์ทั่วโลกใช้หน้ากากอนามัยมากถึงประมาณ 1.29 แสนล้านชิ้นต่อเดือน หรือหากคิดง่าย ๆ คือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อนาที 

ปัญหาน่าห่วงก็คือ หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งจัดเป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้โดยง่าย เนื่องจากวัตถุดิบหลักเป็นโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) และถ่านกัมมันต์ ทำให้ย่อยสลายได้ค่อนข้างยาก และระหว่างย่อยสลายก็จะแตกตัวเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กหลายชนิด ได้แก่ ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ที่จะกระจายตัวสู่ระบบนิเวศ เช่น แหล่งน้ำ และเกิดความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนตามมา ทั้งต่อสัตว์น้ำในทะเลและพืชผักผลไม้

ด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้มีการผลิตหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งในปริมาณมหาศาลพอ ๆ กับจำนวนขวดพลาสติก แต่ที่แตกต่างกันคือ ปัจจุบันยังไม่มีข้อแนะนำอย่างเป็นทางการในการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยเหล่านี้ และที่น่ากังวลก็คือ หากไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับขยะพลาสติกประเภทอื่น ๆ คือกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำจืด และมหาสมุทร กลายเป็นอาหารพิษของเหล่าสัตว์น้ำ และปล่อยอนุภาคพลาสติกจำนวนมหาศาลออกมาปนเปื้อน ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า อนุภาคไมโครพลาสติกจากหน้ากากอนามัยเหล่านี้ ถูกปลดปล่อยออกมาได้ง่ายกว่าและเร็วกว่าพลาสติกประเภทอื่น เช่น ถุงพลาสติก อีกด้วย

หน้ากากย่อยง่าย ปลูกดอกไม้ได้ด้วย
ปัญหาดังกล่าวได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์ชาวดัตช์ มาเรียนเน เด กรูท-ปอนส์ (Marianne de Groot-Pons) รังสรรค์หน้ากากอนามัยที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) พร้อมชื่อแบรนด์สุดแสนน่ารักอย่าง Marie Bee Bloom ที่มีคุณสมบัติสุดพิเศษคือ สามารถถอดทิ้งบนพื้นดิน เพื่อกลายร่างเป็นดอกไม้แสนสวยได้ จากเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่แทรกอยู่ในหน้ากากนั่นเอง

Marie Bee Bloom ทำมาจากวัสดุอย่างกระดาษข้าว (Rice paper) เรียงซ้อนกันหลายชั้น (โดยกระดาษข้าวเป็นการผสมกันระหว่างข้าว น้ำเปล่า และบางครั้งก็มีส่วนผสมของแป้งที่ได้จากธรรมชาติ) โดยในกระดาษเหล่านี้จะผสมเมล็ดของดอกไม้หลากหลายพันธุ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ลงไปด้วย ทำให้เมื่อฝังหน้ากากอนามัยนี้ลงดินแล้ว หากดูแลอย่างถูกวิธี ท้ายที่สุดก็จะมีดอกไม้เจริญเติบโตขึ้นมา

ไม่เพียงแค่ส่วนที่ใช้ปิดหน้าเท่านั้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนอื่น ๆ ของหน้ากากอนามัย Marie Bee Bloom ก็ไม่ทำร้ายโลกเช่นกัน โดยสายคล้องหูทำมาจากเส้นใยขนแกะปั่นอย่างง่าย ๆ ขณะที่ตัวยึดสายที่จะช่วยให้สามารถปรับสายคล้องให้พอดีก็ไม่ได้ทำมาจากพลาสติกเหมือนที่เราเคยเห็น แต่มันทำมาจากกระดาษของกล่องไข่ที่เจาะเป็นรูปดอกไม้เล็ก ๆ แสนน่ารัก และแม้แต่หมึกที่ใช้พิมพ์ชื่อแบรนด์ก็ยังเป็นหมึกอินทรีย์จากสาหร่ายด้วย

ส่วนวิธียึดสายคล้องเขากับตัวหน้ากาก นักออกแบบใช้วิธีสอดสายคล้องเข้าไปในท่อเล็ก ๆ ที่ทำขึ้นมาด้วยการม้วนหน้ากากทั้งสองด้านเข้ามาแล้วติดกาวด้วยแป้งมัน เรียกได้ว่าไม่มีส่วนใดของหน้ากากที่ใช้พลาสติกเลย และสามารถย่อยสลายได้ 100%

“หลังจากที่ต้องเห็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นขยะเกลื่อนกลาดอยู่บนท้องถนนมาหลายสัปดาห์ วันหนึ่งฉันก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับไอเดียหน้ากากอนามัยย่อยสลายได้โดยมีเมล็ดดอกไม้อยู่ข้างในนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเองมีความสุข แต่ยังทำให้โลกนี้มีความสุข หมู่มวลผึ้งภมรมีความสุข รวมถึงธรรมชาติก็มีความสุขไปด้วย จึงเป็นที่มาที่ทำให้ฉันตั้งชื่อแบรนด์หน้ากากอนามัยนี้ว่า Marie Bee Bloom ซึ่งหมายถึงการให้โลกนี้บานสะพรั่งนั่นเอง” Groot อธิบายถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ไว้ในเว็บไซต์

และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่หน้ากากอนามัยย่อยสลายได้นี้ จะมีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง โดยมีราคาอยู่ที่ชิ้นละ 3 ยูโร ซึ่งแพงกว่าหน้ากาก N95 ในช่วงก่อนการระบาดจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

แนวทางที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามสำคัญสำหรับหน้ากากอนามัยย่อยสลายได้นี้ก็คือ นี่เป็นหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากเชื้อไวรัสได้จริงหรือไม่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กระดาษข้าวเป็นวัสดุที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และยังไม่พบเคสใดที่จะช่วยยืนยันการทดสอบได้ว่าหน้ากากอนามัยดังกล่าวสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ดังนั้น หากซื้อไปใช้งานจริง อาจต้องทำตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค คือการสวมหน้ากากสองชั้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคให้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของ Marie Bee Bloom ระบุไว้ว่า หน้ากากอนามัยนี้มีความสามารถในการป้องกันได้ในระดับที่เท่า ๆ กันกับหน้ากากผ้าแบบแฮนด์เมด และยังไม่ได้มีการนำหน้ากากไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยังต้องคำนึงถึงหากต้องการสั่งซื้อ และขณะนี้ยังวางจำหน่ายเพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และฝรั่งเศส

กระนั้น ในปัจจุบันเราต่างเห็นผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ คือกลุ่มสินค้าที่ถูกออกแบบมาในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดมากพอ ๆ กับการใช้งานหลัก ตัวอย่างคือรองเท้ารุ่น Loop ของ Adidas ที่ผลิตขึ้นจากขยะพลาสติก และสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% หรือไลน์สินค้ารุ่น  Wellthread ของ Levi’s ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุใช้แล้ว และยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก

ทั้งสองแบรนด์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่าบริษัทต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญถึงผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งการย่อยสลายได้ง่ายและการนำกลับมารีไซเคิลได้นั้น ไม่ได้เป็นแค่คุณสมบัติพิเศษของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นคุณสมบัติหลักของผลิตภัณฑ์ไปแล้วในยุคนี้

ท้ายที่สุด Marie Bee Bloom อาจไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่เราจะซื้อมาเพื่อช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับชีวิต แต่ด้วยการออกแบบที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นี่จึงเป็นตัวอย่างความท้าทายของการทำสินค้าในยุคใหม่เพื่อผู้บริโภครุ่นใหม่ ในวันที่การรักษ์โลกไม่ใช่แค่ฟีเจอร์เสริม และโลกไม่ควรถูกซ้ำเติมด้วยกองขยะใหม่ที่ต้องมานั่งแก้ปัญหากันอีกครั้งหลังโควิดจบลง

ภาพ : Marie Bee Bloom

ที่มา :
บทความ “Plant this disposable face mask when you’re done, and it’ll sprout flowers.” โดย Mark Wilson จาก www.fastcompany.com
บทความ “These face masks by Dutch brand Marie Bee Bloom are 100% biodegradable.” จาก www.lifestyleasia.com
บทความ “Face masks are a ticking plastic bomb” โดย Birgitte Svennevig จาก www.sdu.dk/en
บทความ “หวั่นปริมาณ ‘ขยะหน้ากากอนามัย’ ใช้แล้วจำนวนมหาศาลกระทบสิ่งแวดล้อม” โดยศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จาก www.deqp.go.th

เรื่อง : ณฐมน ธนาตระกูล