Malmö, Sweden สะดุด ลุกขึ้น และยั่งยืนไปให้สุด
Technology & Innovation

Malmö, Sweden สะดุด ลุกขึ้น และยั่งยืนไปให้สุด

  • 01 May 2021
  • 3217

เมืองจริงจังกับความยั่งยืนแค่ไหน อาจดูได้จากแผนการพัฒนาเมืองที่ให้ลำดับความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากเท่าไร ในขณะที่หลายเมืองค่อย ๆ ขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2030 แต่สำหรับมัลโม (Malmö) เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของสวีเดน ได้ตัดสินใจคว้าเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากกว่านั้น จากบทเรียนราคาแพงที่ชี้ทางว่า ความยั่งยืนเท่านั้นคือคำตอบที่ดีที่สุด และทำให้เมืองเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้ง และวันนี้มัลโมน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองยั่งยืนแห่งอนาคตที่เกิดขึ้นจริงแล้ว เพราะที่นี่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และพึ่งพาแต่พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

Bo01 อนาคตอยู่ที่นี่
จากวิกฤตน้ำมันปี 1973 (Oil Crisis) ที่สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจให้คนทั่วโลกจนหลายประเทศเริ่มตระหนักถึงการพึ่งพาพลังงานทางเลือกอื่น ที่เมืองติดทะเลของสวีเดนอย่างมัลโม ซึ่งเคยรุ่งโรจน์และเป็นที่รู้จักในฐานะของเมืองอุตสาหกรรมการต่อเรือ ก็ถึงคราวต้องปิดตัวลงในช่วงต้นปี 1980 จากวิกฤตน้ำมันในครั้งนี้เช่นกัน เมื่ออุตสาหกรรมหลักของเมืองมาถึงทางตัน ประชาชนกว่า 6,000 คนจึงว่างงาน ผู้คนเริ่มอพยพออกจากมัลโมเพื่อหาโอกาสในที่ใหม่ เมืองที่กำลังจะร้างเหลือเพียงความสิ้นหวังและคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนก็จำเป็นต้องถึงคราวเปลี่ยนแปลง 

เมื่อความผันผวนของน้ำมันทำให้เมืองแห่งนี้แทบล่มสลาย แผนใหม่ของการพัฒนามัลโมจึงมุ่งไปที่การไม่หวังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลใด ๆ เลยในอนาคต และวิกฤตในครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องเมืองใหม่ครั้งใหญ่ เพราะมัลโมกำลังจะเปลี่ยนภาพจำจากการเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักเป็นต้นแบบเมืองยั่งยืนแห่งใหม่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบเต็มร้อย จากการพัฒนาเขตเวสเทิร์นฮาร์เบอร์ (Western Harbour) ในพื้นที่ที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อ “City of Tomorrow หรือ Bo01” (Bo ในภาษาสวีดิชแปลว่าที่อยู่อาศัย ส่วน 01 คือเลขปีที่ก่อตั้งโครงการ ค.ศ. 2001) และโปรเจ็กต์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ European Housing Exposition อีกด้วย

มาสเตอร์แพลนพัฒนาเมืองครั้งนี้ได้งบประมาณหลักมาจากรัฐบาลสวีเดนผ่านโครงการลงทุนท้องถิ่น Sweden’s Local Investment Program (LIP) และส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งงบประมาณส่วนมากถูกใช้ไปเพื่อสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ระบบพลังงานภายในย่าน Bo01 หลัก ๆ ประกอบไปด้วย พลังงานงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานชีวภาพ โดยทุกอาคารจะมีแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นแหล่งไฟฟ้าหลักสำหรับพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งใช้ระบบซอฟต์แวร์เฉพาะสำหรับการตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีที่สุด และด้วยความที่เป็นประเทศเมืองหนาว ระบบการทำความร้อนในอาคารจึงเป็นพลังงานที่ถูกใช้มากที่สุด พลังงานหลักจึงมาจากสองแหล่งอย่างระบบการเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีการใช้ความร้อนจากใต้พิภพ นอกเหนือจากนี้แล้ว แหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนอื่น ๆ ยังถูกดึงมาใช้จากฟาร์มกังหันลมในเมืองมัลโมอีกด้วย


©urbangreenbluegrids.com

ยั่งยืนและงดงาม
กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบเมืองจากทั่วโลก 16 ชีวิต คือมันสมองและกำลังสำคัญของการดีไซน์เขตเมืองยั่งยืน Bo01 ด้วยหลักการทำงานที่ให้ทุกคนถือมาตรฐานและแนวทางสำหรับการออกแบบอันเดียวกัน ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่ว่า แต่ละคนสามารถโชว์พลังความคิดสร้างสรรค์และสามารถออกแบบพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบได้อย่างอิสระภายใต้หลักการเดียวกันนั่นคือ “ความยั่งยืน”

“การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราคิดว่าความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดที่สุดแต่ยังเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจที่สุด การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่มันดีกว่าหากสามารถออกแบบความยั่งยืนให้ตอบรับกับสุนทรียศาสตร์ของมนุษย์ด้วย" คลาส ทาม (Klas Tham) สถาปนิกและหัวหน้านักออกแบบเมืองของ Bo01 กล่าว 

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทามจึงออกแบบ Bo01 ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและน่าอยู่มากที่สุด สังเกตได้จากเส้นทางเดินภายในย่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากถนนในเมืองสมัยยุคกลางและศิลปะแบบบาโรก ซึ่งทามได้ออกแบบเส้นทางต่าง ๆ ให้มีลักษณะลัดเลาะไม่เป็นเส้นตรง ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดแรงปะทะของลมทะเลที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อตัวอาคารและผู้อยู่อาศัย และถนนหนทางที่ออกแบบก็คิดมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเดินเท้าหรือปั่นจักรยานได้อย่างสะดวกสบายมากที่สุด เพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ในเมืองนั่นเอง นอกจากนี้ เส้นทางรอบเมืองยังมีจุดเชื่อมต่อไปยังธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พื้นที่ริมน้ำ สวนสาธารณะขนาดย่อม ไปจนถึงไฮไลต์จุดชมวิวสะพานเออเรซุนด์ (Öresund Bridge) หรือสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรปซึ่งเชื่อมสวีเดนไปยังเดนมาร์ก และนอกจากจะมีพื้นที่สีเขียวบนทางเท้าแล้ว บนหลังคาสำนักงานและอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ยังปกคลุมไปด้วยพืชพรรณนานาหรือที่เรียกว่า Green Roofs ที่ช่วยดูดซับน้ำฝน สร้างออกซิเจนให้ชั้นบรรยากาศ เป็นฉนวนป้องกันคลื่นความร้อน และยังเป็นบ้านพักให้กับนกอพยพที่มายังพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย


©Susan Q Yin/Unsplash

ในด้านของระบบขนส่งมวลชน อาคารแต่ละแห่งในเขต Bo01 จะอยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ประมาณ 500 เมตร ประชาชนจะใช้เวลารอรถไม่เกิน 7 นาที และที่นี่จะให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ระบบไฮโดรเจนหรือระบบไฟฟ้าเท่านั้น สำหรับรถโดยสารส่วนตัวก็นิยมใช้ระบบไฟฟ้าเช่นกัน และประชาชนสามารถมองหาสถานีชาร์จรถยนต์ได้ทั่วเมือง ในส่วนที่จอดรถจะสงวนให้สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดก่อน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความต้องการใช้รถยนต์เลือกรถที่เป็นมิตรกับเมืองมากที่สุด แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว ผู้คนเมืองนี้นิยมใช้จักรยานหรือการเดินเท้ามากกว่า เพราะการวางผังเมืองที่ให้ความสำคัญกับทางเท้าและทางจักรยานมากที่สุดนั่นเอง

 


©en.wikipedia.org

โดดเด่นแต่กลมกลืน
ในพื้นที่ västra hamnen ที่เคยเป็นเขตอุตสาหกรรมการต่อเรือและเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อโรงงานแห่งสุดท้ายปิดตัวลงและเกือบปล่อยให้พื้นที่แห่งนี้ทิ้งร้าง แผนการฟื้นฟูมัลโม ทำให้ย่านแห่งนี้ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนโฉมใหม่เช่นกัน โดยหนึ่งในอาคารที่ตั้งเด่นสะดุดตามากที่สุดในย่านมีชื่อว่า "Turning Torso" หรือตึกที่บิดเป็นเกลียวหุ้มด้วยโครงเหล็ก โดยอาคารแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ออกแบบโดยซานเตียโก กาลาตราบา (Santiago Calatrava) สถาปนิกชื่อดังชาวสเปน ในส่วนชั้นล่างของอาคารเป็นพื้นที่สำนักงาน ส่วนด้านบนจะเป็นพื้นที่ของอพาร์ตเมนต์ระดับลักซัวรี และแม้ภายนอกของอาคารจะดูหรูหราและแตกต่าง แต่ระบบการจัดการพลังงานภายในยังคงคอนเซ็ปต์ความยั่งยืนไว้เช่นเดียวกัน พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอาคารล้วนสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่งมาจากพลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยในอาคารยังสามารถติดตามและควบคุมการใช้ไฟฟ้าแต่ละยูนิตได้อย่างชาญฉลาด รวมทั้งยังมีระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่ถูกทิ้งในอาคารให้นำมาแปลงเป็นพลังงานชีวภาพได้ต่อไป

 

Augustenborg จมไม่ลง
หากย่าน Bo01 ได้รับฉายาว่าเป็นเมืองของวันพรุ่งนี้ (City of Tomorrow) อีกพื้นที่ในมัลโมที่ดูดีมีอนาคตไม่แพ้กันก็คือย่านออกัสเตนเบิร์ก (Augustenborg) ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งนิเวศ (Eco-City) เพราะไม่เพียงย่านแห่งนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังสามารถแก้ปัญหาด้านอุทกภัยด้วยการพึ่งพาธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ในอดีต เมื่อไรก็ตามที่ฝนตกหนัก ย่านออกัสเตนเบิร์กจะต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ซึ่งส่งผลต่อการอยู่อาศัยรวมทั้งปัญหาการจัดการขยะที่ตามมา เทศบาลเมืองมัลโม ภาคเอกชน และประชาชนในย่าน จึงได้ร่วมมือกันปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน การปรับโฉมย่านจึงเน้นไปที่ระบบการจัดการน้ำ โดยการใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นประการด่านแรกในการช่วยรองรับน้ำฝน โดยหากมองย่านนี้ในมุมสูงจะเห็นหลังคาสีเขียว (Green Roofs) ที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณนานาชนิดอยู่ทั่วอาคาร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่รวมกันถึงประมาณ 10,000 ตารางเมตร หลังคาสีเขียวนี้เองที่ช่วยดูดซับและชะลอพายุฝน ต่อมาเมื่อน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำจะเจอกับลำคลองและสระน้ำที่มีพืชน้ำช่วยบำบัดให้น้ำสะอาดขึ้น ก่อนที่น้ำเหล่านี้จะไหลลงสู่ทะเลต่อไป โดยน้ำที่เหลือซึ่งเป็นส่วนน้อยแล้วจะถูกระบายออกลงสู่ท่อน้ำใต้ดิน

ความสำเร็จจากการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยวิธีพึ่งพาธรรมชาติได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม เพราะเมื่อย้อนกลับไปในปี 2014 ที่เมืองมัลโมถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่ย่านออกัสเตนเบิร์กกลับไม่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเลย

 

เรือนกระจกอยู่ได้
ภายใต้คอนเซ็ปต์ของการอยู่ในเมืองอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ MKBs ได้สร้างสรรค์อพาร์ตเมนต์ที่ทันสมัยแต่กลมกลืนไปกับเมืองนิเวศในย่านออกัสเตนเบิร์กได้อย่างลงตัว โดยอาคารนี้มีชื่อว่า Greenhouse Augustenborg ที่ผู้อยู่อาศัยทั้ง 56 ห้องพักจะได้ร่วมกันเป็นเจ้าของเรือนกระจกเพาะพันธุ์พืชบนชั้นหลังคาตึก ระเบียงขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาพิเศษเพื่อใช้สำหรับการเป็นพื้นที่เพาะปลูกในอาคาร และมีสังคมเพื่อนบ้านที่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาของการแบ่งปันวิธีการปลูกพืชพรรณให้ออกดอกผลงดงาม นอกจากนี้แล้ว พลังงานที่ใช้ในอาคารยังเป็นพลังงานสะอาดและมีระบบปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบยั่งยืน อาทิ

ระบบโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้า แหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักสำหรับผู้อยู่อาศัย 

ระบบการเปิดใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ควบคุมการใช้พลังงานให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

ปลั๊กแยกให้เฉพาะหากต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในอพาร์ตเมนต์ ลูกบ้านสามารถรู้ข้อมูลการใช้พลังงานและการจัดการขยะของเพื่อนบ้านได้ เพื่อช่วยกันกระตุ้นการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด

ลูกบ้านสามารถปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่ไม่จำเป็นเมื่อออกนอกบ้าน ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียวในห้องโถงทางเข้า

เพื่อรณรงค์ให้ลูกบ้านใช้จักรยานในการสัญจรไปมา อพาร์ตเมนต์จึงมีโรงจอดจักรยานพร้อมอุปกรณ์ซ่อมแซมให้ลูกบ้านหยิบยืมได้ฟรี

 

Hyllie ฉลาดใช้ตามฟ้าฝน
อีกหนึ่งย่านพัฒนาล่าสุดในมัลโมที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กันก็คือฮิลเลีย (Hyllie) ย่านที่ใหญ่ที่สุดในเมืองซึ่งได้จับมือร่วมกับบริษัทจัดการขยะ VA Syd และบริษัทพัฒนาเมือง E.ON ในการปรับปรุงย่านแห่งนี้ให้เป็นเขตพื้นที่ที่เรียกว่า “Climate-Smart Districts”

นอกจากจะใช้พลังงานหมุนเวียนเหมือนกับย่านอื่น ๆ ในมัลโมแล้ว ความพิเศษของฮิลเลียคือการบุกเบิกโครงการนำร่องสร้างระบบการจ่ายความร้อนและความเย็น รวมทั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือที่เรียกกันว่าสมาร์ตกริด (Smart Grid) ขนาดใหญ่ซึ่งผู้อยู่อาศัยภายในย่านจะสามารถควบคุมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่หลัก ๆ ได้มาจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ผ่านระบบแอพพลิเคชันได้อย่างสะดวกสบาย โดยอิงจากการพยากรณ์อากาศแต่ละวันว่าสามารถผลิตพลังงานได้เท่าไร ควรปรับลดการใช้พลังงานให้เหมาะสมกับการผลิตหรือไม่อย่างไร อีกทั้ง VA Syd ยังคิดค้นกลยุทธ์ที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากจะรีไซเคิลขยะมากขึ้น อย่างการออกแบบถังขยะหน้าบ้านให้มีลักษณะโปร่งใส เพื่อเตือนใจนักทิ้งทั้งหลายว่าบ้านไหนกำจัดขยะอย่างไร ไปจนถึงการส่งรถรับขยะรีไซเคิลแบบเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน


©eon.com

หากมาดูที่ระบบขนส่งมวลชนที่นอกจากจะใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพเป็นหลักแล้ว ที่ฮิลเลียยังสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางโดยการปั่นจักรยานเป็นหลัก ด้วยการสร้างสถานี Bike & Ride ที่จอดรถจักรยานฟรี 1,000 คัน รวมทั้งการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักปั่นแบบครบครัน อาทิ ล็อกเกอร์เก็บหมวกกันน็อกและของใช้ส่วนตัว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ บริการซ่อมจักรยาน และจุดเติมลม

สุดท้ายแล้วเบื้องหลังการพัฒนาเมืองที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่นได้แบบเต็มร้อยนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แผนการที่แน่วแน่ และที่สำคัญคือการลงทุนที่จริงจัง โดยการพัฒนาเมืองยั่งยืนมัลโมได้ลงทุนไปแล้วกว่า 27 ล้านยูโร เพื่อวางรากฐานการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนในเมือง แต่หากนับเวลาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ที่ภาคเอกชนเข้าร่วมการลงทุนด้านการสร้างความยั่งยืนในมัลโมด้วยแล้ว ก็สามารถประเมินค่าได้สูงกว่า 100 ล้านยูโรเลยทีเดียว

ที่มาภาพเปิด : wikimedia.org

ที่มา :
บทความ "Augustenborg -Turning a Troubled District into an Attractive, Resilient Eco-City" จาก smartcitysweden.com
บทความ "Ekostaden Augustenborg and Bo01 – City of Tomorrow" จาก use.metropolis.org
บทความ "Example projects: Bo01, Malmö, Sweden" จาก urbangreenbluegrids.com
Wikipedia.org
บทความ "Malmo, the Swedish city that is neutralising its climate impact by betting on renewable energies" (มกราคม 2020) จาก smartcitylab.com
บทความ "How Malmö, Sweden is leading way on sustainability" (กันยายน 2014) จาก reneweconomy.com.au

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ

บทความนี้สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) www.erc.or.th