ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คุยเรื่องปัจจุบันของพลังงานแห่งอนาคต (TH/EN)
Technology & Innovation

ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คุยเรื่องปัจจุบันของพลังงานแห่งอนาคต (TH/EN)

  • 01 May 2021
  • 1905

ทุกวันนี้เรากำลังใช้พลังงานกันจนเป็นความเคยชิน ขณะที่อ่านบทความนี้ เราก็กำลังใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างและพลังงานจากแบตเตอรีสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การที่พลังงานเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น อาจทำให้หลายครั้งเรามองข้ามความสำคัญของมันไป แท้จริงแล้ว เราควรกังวลมากแค่ไหนกับเรื่องของ “พลังงาน”  

“ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสองเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ แรกสุดคือพลังงานแบบเดิมที่เรียกว่าพลังงานฟอสซิลกำลังลดน้อยลงไปและก็จะหมดไปในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้เพียงหลักไม่กี่สิบปี เหตุผลที่สองคือเรากำลังเจอกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากและเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ ที่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนโลกร้อนซึ่งแน่นอนว่ามันกระทบต่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิตไม่เว้นมนุษย์” ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ฉายภาพปัญหาและความสำคัญของคำถามด้วยเหตุผลเพียงสองอย่าง

แต่ปัญหาทั้งสองที่ว่านี้นับเป็นปัญหาที่อาจเรียกได้ว่าแก้ไขได้ยากที่สุด และทางออกเพียงไม่กี่ทางที่เราต้องพูดกันแล้วในวันนี้ตอนนี้ก็คือ การเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ที่เมื่อใช้แล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหรือแทบจะไม่ปล่อยเลย 

เพราะเหตุผลที่ว่ามานี้จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขึ้นในประเทศไทย
การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดตั้งขึ้นก็เป็นเพราะเหตุผลนี้ด้วย ซึ่งก็เป็นความยุ่งยากซับซ้อนในเชิงนโยบายที่จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยไปพร้อมกัน เพราะเรื่องความมั่นคงทางพลังงานยังคงเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายการวางแผนด้านพลังงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องนำเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเรื่องต้นทุน ปัจจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เข้ามาอยู่ในสมการการกำหนดนโยบายด้วย 

อันที่จริงตั้งแต่ตอนที่มีพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 หน้าที่ที่กกพ. ถูกกำหนดเลยก็คือ การส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน แต่ตอนนั้นปัจจัยเรื่องวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ได้มีความเข้มข้นสูงเหมือนตอนนี้ ปัจจุบันเลยกลายเป็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในการตัดสินใจเรื่องพลังงานด้วยในระดับที่เรียกว่าทัดเทียมกับเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน 

ถ้าเทียบกับนานาประเทศแล้ว เราก้าวช้าหรือเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างไรหรือไม่ในเรื่องของการจัดการพลังงาน
จริง ๆ แล้ว ไทยเรามีการส่งเสริมเรื่องของพลังงานทดแทนมาก่อนที่จะมีตัวกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ที่มีการจัดประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit)1 ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2535 ที่กรุงรีโอเดจาเนโรของบราซิล ซึ่งตอนนั้นก็มีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น และไทยก็ได้ไปเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกแนวนโยบายแผนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก่อนที่เราจะปรับตัวไปสู่ทิศทางของเรื่องพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวอนุสัญญานั้นไม่ได้มีพันธกรณีให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียกว่ากติกาโลกก็ยังไม่ได้เข้มข้นนักในเรื่องนี้ 

แต่พอมาถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี 2558 ก็มีการเปลี่ยนการกำหนดพันธกรณีจากประเทศพัฒนาแล้วฝ่ายเดียวมาสู่ทุกประเทศแล้วที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันและปรับมาสู่ทิศทางการใช้พลังงานทดแทน วันนี้เราจึงเริ่มเห็นความชัดเจนของการกำหนดนโยบายอย่างการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์หรือ Zero Carbon และ Zero Greenhouse Gas เพราะคาร์บอนก็คือหนึ่งในกรีนเฮาส์ก๊าซ และกรีนเฮาส์ก๊าซที่ถูกกำหนดโดยพันธกรณีจริง ๆ มีถึง 7 ตัว เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 

ทิศทางก็เริ่มชัดขึ้น และแน่นอนว่าประเทศไทยก็อยู่ในกระแสของประชาคมโลกเช่นกัน จากยุคแรกที่เราไม่มีพันธกรณี เราก็กำหนดแผนในลักษณะแบบไม่เข้มข้นมากนัก วันนี้เราเข้าสู่การเป็นสมาชิกของความตกลงปารีส เราก็เริ่มไปสู่ทิศทางที่เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่นโยบายการจัดการภาวะโลกร้อนหรือแผนพลังงานของประเทศ สำหรับ กกพ. ในฐานะหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายก็ต้องใช้กฎหมายเพื่อนำไปสู่ทิศทางที่เข้มข้นมากขึ้น มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ถ้าดูเป็นกราฟ ก็เป็นกราฟที่ชันขึ้นมาก

ที่ผ่านมาเรามีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในลักษณะไหนแล้วบ้าง
หลักๆ อย่างน้อยเรามีการส่งเสริม 3 รูปแบบ แบบแรกคือส่งเสริมผ่านการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ คือกลไกเรื่องราคาการรับซื้อไฟที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทดแทน รัฐบาลจะกำหนดให้ในอัตราพิเศษ สูงกว่าการรับซื้อไฟจากพลังงานฟอสซิลโดยเปรียบเทียบชัดเจน สองคือการส่งเสริมผ่านกองทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เรามีกองทุนให้การส่งเสริมงานวิจัยเพื่อที่จะได้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องของพลังงานทดแทน และส่วนที่สามคือกองทุนด้านการศึกษาด้านพลังงานที่เป็นการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของคนทั่วไปในการใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ แต่ตัวหลักที่มีผลมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของกลไกราคาอัตรารับซื้อ ซึ่งรัฐบาลเริ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานจากชีวมวล เป็น 3 Maพลังงานหลักที่ให้อัตรารับซื้อในราคาที่ดีกว่าพลังงานฟอสซิล

ในส่วนของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของกกพ. มีวิธีการกำหนดรูปแบบการให้ทุนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านพลังงานบ้าง 
นอกจากเรื่องของนวัตกรรมด้านกฎระเบียบเพื่อที่จะเปลี่ยนตลาดให้เกิดผู้เล่นใหม่ ๆ และเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการผลิตพลังงานที่ยั่งยืนขึ้นแล้ว เราก็มีส่วนของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่เริ่มให้ทุนกันจริง ๆ จัง ๆ ก็เมื่อปีพ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน เรียกว่าก็ยังอยู่ในช่วงของการตั้งต้นกองทุนใหม่ ซึ่งเราก็พยายามกำหนดความชัดเจนเรื่องของการสนับสนุนโดยจะแบ่งเป็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) กับ เปิดรับทั่วไป (Open Grant) อย่างวันนี้เราเห็นแล้วว่าทิศทางเรื่องพลังงานควรจะเป็นไปอย่างไร เราก็เอาโจทย์เรื่องของพลังงานมากำหนดในเรื่องของการให้ทุนแบบกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการสื่อสารด้านพลังงานกับภาคประชาชน  ส่วนการให้ทุนแบบเปิดนั้น เรามีไว้เพื่อเปิดว่าอาจจะมีแง่มุมด้านพลังงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เป็นไอเดียใหม่ ๆ จากกลุ่มคนที่อาจเป็นสตาร์ตอัพด้านพลังงานได้เข้ามานำเสนอข้อเสนอที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ก็ต้องอยู่บนหลักของความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ชัดเจน คือกำหนดโจทย์ชัด กำหนดรูปแบบ กำหนดวงเงินงบประมาณ แล้วให้ผู้เสนอโครงการมาประกวดราคากันโดยมีคณะกรรมการจากภายนอกร่วมคัดเลือกด้วย

เข้าใจว่าถึงจะมีกลไกราคาเป็นแรงจูงใจให้หลาย ๆ คนเข้ามาลงทุนเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงเรียกร้องในเรื่องของกฎระเบียบที่ดูเหมือนจะผูกขาดกับเจ้าใหญ่เท่านั้น
ส่วนนี้ก็ต้องพิจารณาถึงเหตุผลครับ หนึ่งคือผู้ที่จะประกอบกิจการพลังงานจะถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีมาตรฐานเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลมาตรฐานด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมชัดเจน ฉะนั้นบริษัทผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ก็ต้องมีครบตามเงื่อนไข จึงเป็นไปได้ว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่เข้ามาได้ สองคือภายใต้เงื่อนไขการดูแลที่ได้กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย หรือสิ่งแวดล้อม ก็ต้องมีกฎเกณฑ์และกฎระเบียบในการตรวจสอบที่อาจต้องใช้เวลานานในการคัดกรอง มุมหนึ่งก็เลยถูกมองว่าเป็นการจำกัดหรือกีดกัน แต่เหตุผลที่ก็อย่างที่อธิบายว่าการมีมาตรฐานก็แลกมากับความปลอดภัยเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ ของผู้ใช้งานเอง

อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนผู้ที่จะเข้ามาผลิตพลังงาน ที่มีการกำหนดไว้ก่อนเพื่อรักษาระดับของราคาค่าไฟไม่ให้สูงเกินไป อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่ารัฐบาลใช้กลไกราคาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในพลังงานสะอาดด้วยการให้ราคาที่ดีกว่า แต่เมื่อราคาที่ดีกว่าไปส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟ ฉะนั้นก็เลยจะกำหนดสัดส่วนของการรับซื้อพลังงานทดแทนในจำนวนที่พอเหมาะ ไม่ให้กระทบกับค่าไฟโดยรวม ดังนั้นถ้ารับซื้อเข้ามามาก แม้จะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ราคาค่าไฟก็จะสูงขึ้น เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการกำหนดปริมาณของพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไม่ให้สูงเกินไป และก็จะส่งผลต่อจำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาว่าจะมีไม่มากรายเกินไปเช่นกัน 

นั่นแปลว่าผู้ประกอบการรายย่อยจะหมดสิทธิ์ในการเข้ามาร่วมผลิตพลังงานทดแทนหรือเปล่า
ในอีกด้านเราก็มีการกำหนดกฎระเบียบว่าผู้ประกอบการที่จะเข้ามาผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นะครับ เช่น โรงไฟฟ้า จะเป็นโรงขนาดกลาง ขนาดเล็กก็ได้ ตัวอย่างรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้นก็คือการรับซื้อไฟจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นโรงขนาดเล็ก มีกำลังผลิตเพียง 3-5 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงเป็นการเปิดให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาแข่งขันในระบบได้โดยการใช้กลไกการกำหนดลักษณะของผู้ประกอบการจากระเบียบการรับซื้อไฟเลย เพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้นและไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นรายใหญ่เท่านั้น

ในด้านผู้ใช้ไฟ เราทุกคนมีการเข้าถึงพลังงานเท่าเทียมกันมากน้อยแค่ไหน 
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจคำว่าค่าไฟของประเทศไทยก่อนครับ บ้านเราจะคิดค่าไฟแบบที่เรียกว่า Uniform Tariff คือค่าไฟราคาเดียวทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศก็ราคานี้ ซึ่งข้อดีก็คือเราจะสามารถเฉลี่ยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตไฟฟ้าเข้ามาสู่ถังกลางแล้วหารเท่ากันทุกจังหวัด ข้อดีก็คือ สมมติจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรไม่มาก การกระจายตัวสูง ในอำเภอหนึ่งอาจจะมีประชากรอยู่ในระดับหลักพันคน พื้นที่เป็นภูเขาที่ต้องอาศัยการลงทุนในเรื่องของสายส่งเพื่อนำไฟเข้าไปสู่หมู่บ้านที่ค่อนข้างสูง ถ้าหารเฉลี่ยกับประชากรในหลักพัน ค่าไฟที่นั่นจะสูงมาก แต่หลักการ Uniform Tariff เราจะเอาการลงทุนนั้นมาใส่ตะกร้ากลางแล้วหารเฉลี่ย หมายความว่าคนกรุงเทพฯ ก็ร่วมรับภาระที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้คนแม่ฮ่องสอนได้มีไฟฟ้าใช้ เรียกว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกัน ก็ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถมีไฟใช้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ในอีกภาพหนึ่งถ้าเรานึกถึงคนกรุงเทพฯ เราอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง การลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือต้นทุนต่อหน่วยอาจจะต่ำ เราก็เอาเม็ดเงินลงทุนไปเฉลี่ยให้กับคนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อกระจายความเจริญเข้าไปสู่ภูมิภาคได้ หรือกลับกัน ตอนนี้เราเริ่มเห็นพื้นที่ในเมืองที่มีการปรับทัศนียภาพด้วยการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ที่มีค่าลงทุนสูงกว่าปกติเกือบสามเท่า ค่าใช้จ่ายตรงนี้ คนที่แม่ฮ่องสอนก็ร่วมจ่ายให้เราด้วย เพราะเป็น Uniform Tariff นี่คือระบบพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเกิดการกระจายความเจริญ กระจายการใช้ไฟไปได้ทั่วถึง แต่ก็มีข้อจำกัดของระบบเหมือนกัน อย่างเรื่องที่เรารับซื้อพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบซึ่งมีราคาแพงกว่าพลังงานแบบเดิมและต้องเฉลี่ยการจ่ายเงินให้กับคนทั้งประเทศ 

นั่นกลายเป็นเหตุให้เราต้องกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) ขึ้นมา
ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปรคิดมาจากอะไร ที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้คือค่าไฟพื้นฐาน แต่ค่า FT จะมีตัวแปรมาจาก 3 ตัว คือ หนึ่งค่าซื้อไฟ เวลาเราซื้อไฟจากพลังงานทดแทนที่ให้อัตราสูงกว่า ค่าไฟตรงนี้จะมาอยู่ในค่า FT สองค่าเชื้อเพลิง เป็นราคาซื้อเชื้อเพลิงจากน้ำมัน จากถ่านหิน ซึ่งราคาจะผันแปรตามราคาโลก และสามอัตราแลกเปลี่ยน เช่นเราซื้อพลังงานจากต่างประเทศก็จะมีความผันแปรกับอัตราค่าเงิน ซึ่งเรากำหนดว่าจะคิดเฉลี่ยค่า FT ทุก 4 เดือน ส่วนคำถามว่าทำไมเราเอาค่า FT มาใช้ซึ่งผูกโยงกับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ถ้าซื้อมากและให้อัตรารับซื้อไฟสูง ก็จะมีผลกับค่า FT และจะเป็นภาระต่อคนทั้งประเทศ เพราะค่าไฟคิดในอัตราเดียวกัน ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วรัฐบาลก็พยายามดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบจากความผันผวนโดยการใช้มาตรการตรึงราคา เช่น เราจะได้ยินว่าทุก 4 เดือนก็จะมีการประกาศตรึงราคาค่า FT โดยการบริหารเงินที่มาจากส่วนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน หากสังเกตในช่วง 2 ปีมานี้ ตั้งแต่เราถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ค่า FT ก็ถูกตรึงมาตลอดและบางช่วงก็ลดลงไปด้วยซ้ำ ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลช่วยดูแลค่าไฟของประชาชนผ่านค่า FT 

สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศเรา ต้องซื้อจากต่างประเทศในสัดส่วนประมาณเท่าไร 
อัตราส่วนพลังงานที่มาจากต่างประเทศตอนนี้ไม่เกิน 10% และที่เราจะต้องใช้ไฟจากต่างประเทศก็มีเหตุผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่มาจากต่างประเทศอย่างลาวค่อนข้างถูกมาก สามารถใช้มาหารเฉลี่ยค่าเชื้อเพลิงทั้งหมดได้คุ้มค่า ส่วนที่สองคือเรื่องของความมั่นคงในระบบ การที่เรามีแหล่งพลังงานหรือแหล่งเชื้อเพลิงที่มาผลิตไฟฟ้าหลาย ๆ แหล่ง เช่น มาจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำ พลังงานทดแทน ฯลฯ ก็จะทำให้มีความมั่นคงในระบบมากขึ้น หากวันหนึ่งพลังงานรูปแบบใดขาดแคลนหรือเกิดวิกฤตจนมีราคาสูง ก็สามารถนำเอาพลังงานจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ แม้หากดูจากความสามารถการผลิตพลังงานภายในประเทศเราจะเพียงพอ แต่ถ้ามีเสริมจากต่างประเทศบ้าง โดยเฉพาะเหตุผลเรื่องราคา ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความมั่นคงต่อเนื่องด้านพลังงานมากที่สุดนั่นเอง

แล้วเรามีการผลิตพลังงานเพื่อส่งออกบ้างหรือไม่ 
มีบางส่วนครับ และเราอยากจะทำมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เรามีพลังงานสำรองสูง อย่างเวลานี้ภูมิภาคอาเซียนก็มีข้อวางแผนร่วมกันที่เรียกว่า ASEAN Power Grid (APG) ที่จะเชื่อมโยงแหล่งพลังงานในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน หากมองในด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยค่อนข้างอยู่ในทำเลที่ดีและสามารถเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และแลกเปลี่ยนกันด้วยความมั่นคงได้ บางส่วนบางประเทศขาด บางประเทศเกิน เราก็แลกเปลี่ยนกันเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในฐานะของประชาคมอาเซียนด้วยกัน เรียกได้ว่าก็มีแผนที่จะเดินไปสู่ทิศทางของความมั่นคงด้านพลังงานในกลุ่มประเทศนี้อยู่

ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในการผลิตพลังงานทดแทนประเภทใดเป็นพิเศษหรือไม่
ผมมองว่าน่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีข้อศึกษาแล้วว่าในแต่ละฤดูกาล แต่ละภูมิภาค มีความเข้มของแสงที่ผลิตเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณเท่าใด จริง ๆ พลังงานลมเราก็ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกภูมิภาค เนื่องจากการผลิตพลังงานต้องอาศัยปัจจัยเรื่องความต่อเนื่องเป็นสำคัญ และอีกแหล่งหนึ่งที่เรามีข้อได้เปรียบก็คือพลังงานชีวมวล เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีความสามารถในการผลิตไม้โตเร็วได้ดี และมีส่วนเหลือจากผลผลิตทางการเกษตรอยู่มาก เช่น ซากข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ตรงนี้ก็จะเป็นจุดแข็งในเรื่องพลังงานชีวมวลของประเทศไทย ที่จะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าในชุมชน เป็นผลดีทั้งต่อเกษตรกรและชุมชนให้มีรายได้จากการขายเชื้อเพลิง

อุปสรรคสำคัญในการผลิตพลังงานทดแทน เป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือการที่เรายังไม่ได้ตระหนักกันมากพอ 
ผมว่าหลัก ๆ ในตอนนี้เป็นเรื่องของต้นทุน โดยเปรียบเทียบกับพลังงานแบบเดิมเช่นพลังงานถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนพลังงานทดแทนยังคงสูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาถึงผลประโยชน์อย่างรอบด้านที่เกิดขึ้นจากพลังงานทดแทนก็จะเริ่มสูสี เช่นประโยชน์จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประโยชน์จากการลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อชุมชนรอบข้างโรงไฟฟ้า ถ้าเอาต้นทุนเหล่านี้มาคิดด้วยก็ถือว่าสูสีกัน ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนก็ยิ่งถูก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ 10 ปีผ่านไป ต้นทุนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง 

ส่วนที่สองผมคิดว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง คือเวลาเราวางแผนเรื่องพลังงาน เราจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว เพราะการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าครั้งหนึ่งต้องใช้เวลา 5 ปี 8 ปี ดังนั้นจนถึงวันนี้ การวางแผนในอดีตที่พึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังตกค้างอยู่ในระบบ เพราะมันดำเนินมาก่อน แล้วมันมีต้นทุนที่ยังคงค้าง ถ้าเอาพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบเลยตอนนี้ ก็จะทำให้ต้นทุนยิ่งเพิ่มและยิ่งส่งผลต่อค่าไฟของพวกเรา เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงเป็นเหมือนช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่ต้องทยอยปลดของในระบบเก่าออกไปก่อน และทำให้พลังงานทดแทนที่เข้ามาในระบบใหม่มีต้นทุนลดลง 

ต้องใช้เวลามากน้อยเท่าไรในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนทั้งหมด 
เดิมที่เราคิดว่าคงอยู่ในระยะประมาณ 10 ปี แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันจะเร็วขึ้นอีกโดยทิศทางของเพื่อนบ้านและทิศทางของโลก เช่น การที่เริ่มมีทิศทางเรื่องยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เช่นการประกาศว่าในปีค.ศ. 2030 จะเลิกผลิตรถน้ำมัน ก็จะเป็นตัวเร่งให้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านตรงนี้มันหดแคบเข้า ที่ยกตัวอย่างเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าก็เพราะมีผลสำคัญต่อการลดการปล่อยกรีนเฮ้าส์ก๊าซ เฉพาะภาคขนส่งในประเทศไทยเป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าลดพลังงานในภาคขนส่งได้ เราจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยได้เกือบ 1 ใน 3

การใช้ชีวิตแบบ New Normal หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานอย่างไร และเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยวิธีใด 
เราเห็นตัวเลขชัดเจนว่ามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงในภาคครัวเรือนจากการที่คนเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home มากขึ้น เช่นเดียวกับสังคมสูงวัยที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การใช้พลังงานในส่วนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันการผลิตพลังงานใช้เองจากภาคที่อยู่อาศัยนับจากนี้ก็น่าจะมีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และจากรถยนต์ไฟฟ้า คือคนที่ติดไฟจากโซลาร์เซลล์แล้วเอาไฟนั้นมาชาร์จรถยนต์ด้วย ตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ยังมีการพัฒนาแท่นชาร์จ 2 ทาง (Bidirectional EV Charger) คือเอาไฟจากระบบไฟบ้านชาร์จเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ใช้ชาร์จเจอร์ตัวนี้เอาไฟที่เหลือจากแบตเตอรีไฟฟ้าของรถยนต์จ่ายคืนเข้าระบบได้ด้วย 

นอกจากนี้ หลักการจากที่ประชุม World Economic forum เมื่อปี 2019 ก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับภาคพลังงานที่เรียกว่า 3D คือ Digitalization Decentralization และ Decarbonization คือการนำเอานวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใช้งานบนหลักการผลิตพลังงานที่เป็นแบบไม่รวมศูนย์ เน้นให้คนทุกคนมีส่วนร่วมได้ อาจจะผลิตพลังงานบนหลังคาบ้าน หรือโรงไฟฟ้าเศรษฐกิจฐานราก และลดปริมาณคาร์บอนให้ได้จริง อย่างทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีบริษัทต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างมาก แต่เงื่อนไขที่เขาขอในการลงทุนอาจไม่ใช่เรื่องข้อได้เปรียบทางด้านภาษีอีกแล้ว แต่เขาขอเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอน ซึ่งเมื่อกระแสทั้งโลกเป็นไปแบบนี้ ก็เป็นการบังคับให้เราต้องวิ่งหาพลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อป้อนความต้องการใหม่ให้เร็วขึ้นอีก เพราะมันตอบทั้งโจทย์ธุรกิจและโจทย์ใหญ่ของโลก 

 

[Creative Ingredient]
แหล่งพลังงานที่เชื่อมั่นมากที่สุด
ผมเชื่อมั่นในพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ใกล้ตัว และเป็นประชาธิปไตย เพราะทุกคนเข้าถึงพลังงานนี้ได้เท่าเทียมกัน ถ้าคุณไม่ตื่นสายเกินไปนะ (ยิ้ม)

เริ่มเปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้างในการหันมาใช้พลังงานทดแทน 
ผมเริ่มจากการใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ขี่ไปกลับจากที่ทำงานและขี่ออกกำลังกาย ตอนหลังพอมีรถยนต์ EV ผมก็เลือกใช้มาได้ปีกว่า ๆ เพื่อการเดินทางที่ตอบโจทย์มากขึ้น ทุกวันนี้จักรยานผมก็อยู่ท้ายรถ EV ครับ

แหล่งข้อมูลในการทำงานด้านพลังงาน
เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีการสื่อสารเยอะมากครับ แค่เข้าไปในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีคนสนใจเรื่องพลังงานทดแทน ก็ทำให้เราได้แชร์ประสบการณ์ ได้รู้เทคนิคไอเดียใหม่ ๆ ในทุกวันแล้ว 

 

1มีชื่อทางการว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development - UNCED) จัดขึ้นที่กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ 3-14 มิถุนายน 1992 (พ.ศ. 2535) เป็นการประชุมที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 172 ประเทศเข้าร่วม โดยมีจุดมุ่งหมายในการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาคมโลก เอกสารสำคัญที่ได้มีการรับรองในที่ประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งเป็นแผนแม่บทเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ I ภาพ : สุรเชษฐ์ โสภารัตนดิลก

บทความนี้สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) www.erc.or.th