ส่องสว่างด้วยน้ำเค็ม
Technology & Innovation

ส่องสว่างด้วยน้ำเค็ม

  • 01 May 2021
  • 1807

พื้นที่ของคาบสมุทรกัวจิรา (Guajira Peninsula) ทางตอนเหนือระหว่างประเทศเวเนซุเอลาและโคลอมเบีย เป็นที่อยู่อาศัยของของชนพื้นเมืองเผ่าวายู (Wayúu) ด้วยสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายที่มีทะเลแคริบเบียนล้อมรอบ ทำให้เผ่าวายูเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ แต่ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นทำให้การถักลวดลายที่เรียกว่า Kanasü ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อของ “กระเป๋าวายู” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แรงบันดาลใจจากชนพื้นเมืองวายูทำให้สตาร์ตอัพสัญชาติโคลอมเบียอย่าง E-Dina ร่วมมือกับ Wunderman Thompson บริษัทเอเจนซีชื่อดัง ร่วมออกแบบนวัตกรรมโคมไฟที่ใช้พลังงานจากน้ำเค็มหรือ WaterLight ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับโคมไฟโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยให้ชนพื้นเมืองได้เข้าถึงแสงสว่างซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยามค่ำคืน โคมไฟที่ว่านี้ต้องการน้ำทะเลเพียง 500 มิลลิลิตร ก็สามารถให้กำเนิดแสงสว่างได้นานถึง 45 วัน นอกจากนี้มันยังมีช่องยูเอสบีที่สามารถใช้ชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ได้อีกด้วย 

“WaterLight สามารถสร้างแสงไฟได้มีประสิทธิภาพมากกว่าโคมไฟโซลาร์เซลล์ เพราะมันผลิตแสงได้โดยทันที” ปิเป รุอิส ปิเนดา (Pipe Ruiz Pineda) ผู้บริหารด้านความคิดสร้างสรรค์ของ Wunderman Thompson สาขาโคลอมเบียกล่าว นั่นเป็นเพราะภายในกระบอกของโคมไฟมีพื้นผิวที่ทำด้วยแมกนีเซียมและทองแดง ซึ่งสามารถสร้างกระบวนการไอออไนเซชัน (Ionization) ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้ความสว่างได้ทันที

“E-Dina เป็นบริษัทของชาวโคลอมเบีย เราจึงอยากเริ่มต้นด้วยการแก้ไขปัญหาของคนท้องถิ่นในการเข้าถึงทรัพยากรไฟฟ้า” ปิเนดากล่าว พร้อมชี้ชัดถึงปัญหาสำคัญของชาววายูที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ชาววายูยังจำเป็นต้องประกอบอาชีพและมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน การมีแสงสว่างจะช่วยให้ช่างฝีมือสามารถถักกระเป๋า หรือช่วยแบ่งเบาค่าไฟให้แก่ชาวประมงที่ต้องออกเรือในยามค่ำคืนได้ และด้วยความตั้งใจที่จะอุทิศสิ่งประดิษฐ์นี้ให้แก่ชนพื้นเมืองชาววายู ทีมออกแบบจึงได้ผสานเอกลักษณ์ของงานฝีมือท้องถิ่นเช่นลวดลายและสัญลักษณ์ในแบบ Kanasü ลงบนตัวกระบอกโคมไฟและสายสะพาย ซึ่งถักโดยช่างฝีมือชาววายูมืออาชีพอีกด้วย

จุดประสงค์ของการทำโคมไฟพลังงานน้ำเค็มคือการผลิตอุปกรณ์จำนวนมากให้เพียงพอต่อประชากรที่ขาดแคลนไฟฟ้าทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอย่างซีเรีย สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และโซมาเลีย ที่ยังมีการเข้าถึงไฟฟ้าไม่เพียงพอแต่มีพื้นที่ติดแนวชายฝั่งทะเล

นอกจาก WaterLight ที่เป็นนวัตกรรมการใช้พลังงานน้ำเค็มเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็ยังมีเฮนรี โกวกัว (Henry Glogau) ดีไซเนอร์ชาวนิวซีแลนด์ที่ประยุกต์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า และเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำที่สะอาดพร้อมใช้งาน อันล้วนเป็นตัวอย่างของความพยายามนำเอาน้ำทะเลมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด ซึ่งหากมองว่าทรัพยากรน้ำทะเลสามารถใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนได้ ก็คงจะดีไม่น้อยสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ใกล้กับท้องทะเล

ที่มาภาพ : dezeen.com

ที่มา :
บทความ "WaterLight is a portable lantern that can be charged with salt water or urine" โดย Jennifer Hahn  จาก dezeen.com
บทความ "Henry Glogau’s Solar Desalination Skylight provides free lighting and drinking water" โดย PRANJAL MEHAR จาก inceptivemind.com

เรื่อง : นพกร คนไว

บทความนี้สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) www.erc.or.th