เมื่อวันที่ชีวิต(และพลังงาน) เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน
Technology & Innovation

เมื่อวันที่ชีวิต(และพลังงาน) เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน

  • 01 May 2021
  • 1489

“ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ภายในปี 2030”1
“สหภาพยุโรปตั้งเป้าประหยัดพลังงานให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน”
“ประเทศสวีเดนจะเลิกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิลภายในปี 2040”
“โดยเฉลี่ยในทุก ๆ ชั่วโมง ประเทศจีนจะสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 2 ต้น”
“มากกว่า 95% ของไฟฟ้าในคอสตาริกาเกิดจากแหล่งพลังงานทดแทน”

ผู้คนทั่วโลกพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือปิโตรเลียมมานานนับศตวรรษ ซึ่งพลังงานเหล่านั้นเกิดจากแหล่งพลังงานที่สร้างมลพิษ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้จากเดิม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล หรือพลังงานอื่น ๆ ที่ต่างก็เคยเป็นเพียงพลังงานทางเลือก กำลังก้าวเข้ามารับบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งพลังงานหลักแห่งอนาคต 

พลังงานแสงอาทิตย์ 
พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ส่งมายังพื้นโลกใน 1 ชั่วโมงนั้น มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้พลังงานของคนทั้งโลกใน 1 ปีเสียอีก แม้จะมีข้อจำกัดด้านความแตกต่างด้านความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่ แต่แสงอาทิตย์ก็นับเป็นแหล่งพลังงานที่มีปริมาณมหาศาลและใช้ได้ไม่มีวันหมด ยิ่งในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโซลาร์เซลล์ หรืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั้น ถูกออกแบบให้มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผูุ้ใช้งานได้มากขึ้น สำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) จึงคาดการณ์ว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกพลังงานที่จะเติบโตมากที่สุดในหมู่พลังงานทางเลือกทั้งหมด

  • แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานถึง 20-25 ปี
  • ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดค่าไฟได้หน่วยละ 4.50 บาท และถ้าใช้ไม่หมดเราสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าได้หน่วยละ 1.68 บาท
  • ในที่อยู่อาศัย การติดโซลาร์เซลล์ขนาด 2 ตารางเมตร จำนวน 10 แผง สามารถผลิตไฟได้สูงสุด 3.2 กิโลวัตต์2
  • ในประเทศไทย กฎหมายกำหนดให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ต่อ 1 หลังคาเรือน

 

พลังงานลม 
ลมเป็นแหล่งพลังงานที่มนุษย์ใช้มานานมากกว่า 7,000 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการล่องเรือ บดสีเมล็ดพืช หรือการสูบน้ำเพื่อการเพาะปลูก แม้ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากพลังงานลมได้น้อย เนื่องจากภูมิประเทศทำให้ความเร็วเฉลี่ยของลมค่อนข้างต่ำ แต่ในปัจจุบันกังหันลมกำลังได้รับความนิยมในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยจากปี 2001-2017 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมเพียงอย่างเดียวนั้นเติบโตขึ้นกว่า 22 เท่า และคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

  • กังหันลม 1 ต้นสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับอย่างน้อย 1,500 ครัวเรือนตลอด 1 ปี

  • ปัจจุบันกังหันลมทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 742 กิกะวัตต์ ซึ่งช่วยให้โลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากถึง 1.1 พันล้านตัน (เทียบได้กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาใน 1 ปีจากทวีปอมริกาใต้)

 

อาชีพสะอาดแห่งอนาคต
พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นเพียงสองตัวอย่างของพลังงานสะอาดที่นอกจากจะมาช่วยทำให้โลกสะอาดขึ้นแล้ว ยังจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2019 มีตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 11.5 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าจะเพิ่่มขึ้นเป็น 42 ล้านตำแหน่งภายในปี 2050 ลองมาดูตัวอย่างของ 10 อาชีพรักษ์โลกที่กำลังเติบโตเร็วที่สุดในปัจจุบันกัน

ช่างเทคนิคด้านโซลาร์เซลล์ (Solar Cell Technicians) : การผลิตโซลาร์เซลล์มีอัตราเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับความต้องการในตำแหน่งงานเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้ โดยเฉพาะในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา 

นักปลูกแห่งเมืองใหญ่ (Urban Growers) : การเพาะปลูกพืชผักผลไม้ในเมืองเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน และช่วยย่นระยะการเดินทางของผลผลิต ทำให้อาหารยังคงความสดใหม่เมื่อถูกส่งไปถึงมือผู้บริโภค

นักตรวจคุณภาพน้ำ (Water Quality Technicians) : น้ำเป็นแหล่งพลังงานและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ปัจจุบันปัญหามลพิษในแหล่งน้ำเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หลายพื้นที่จึงต้องการคนดูแลและตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค

วิศวกรรถยนต์สะอาด (Clean Car Engineers) : หนึ่งวิธีเพื่อลดการปล่อยมลภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ก็คือเรื่องการเดินทาง อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาดจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น พร้อม ๆ กับความต้องการแรงงานในสายงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นักรีไซเคิล (Recyclers) : การแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่นั้นมีส่วนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน แม้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับใครหลายคน แต่การรีไซเคิลอย่างถูกวิธีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกได้อย่างมหาศาล

นักผลิตพลังงานลม (Wind Energy Workers) : เช่นเดียวกับพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น พลังงานลมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นที่นิยม และคาดว่าจะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านตำแหน่งในปี 2024

นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Scientists) : การต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการสังเกต สำรวจความเปลี่ยนแปลง และหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

นักก่อสร้างสายเขียว (Green Builders) : เทคนิคการก่อสร้างด้วยวัสดุเหลือใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะไม่ทำร้ายโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นักออกแบบสายเขียว (Green Design Professionals) : ในปัจจุบันงานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในการออกแบบอาคารเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ต้องรักษ์โลกด้วยเช่นกัน 

นักผลิตพลังงานชีวภาพ (Biofuel Jobs) : ทุกวันนี้อัตราการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานชีวภาพกำลังเติบโตเป็นอันดับสามในหมู่พลังงานทางเลือก รองจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมตามลำดับ

1 Sustainable Development Goals (SDGs) แผนการพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืนข้อที่ 7 : Affordable and Clean Energy พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
2
ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ (1,000 วัตต์) สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือจาก 0% ไปถึง 100% ได้ราว 50 รอบ (กรณีใช้หัวชาร์จ 5 วัตต์และใช้เวลาชาร์จ 3 ชั่วโมง)

ที่มาภาพเปิด : Morning Brew/Unsplash

ที่มา :
รายงาน “Global Wind Report 2021” จาก Global Wind Energy Council (GWEC) 
รายงาน “Renewable Energy and Jobs Annual Review 2020” จาก International Renewable Energy Agency (IRENA) 
รายงาน “World Energy Outlook 2020” จาก International Energy Agency (IEA) 
บทความ “11 of the Fastest Growing Green Jobs” จาก nationalgeographic.com
บทความ “China embarked on wind power frenzy, says IEA” โดย Roger Harrabin จาก bbc.com
บทความ “11 Countries Leading the Charge on Renewable Energy” จาก climatecouncil.org   
ec.europa.eu  
powerofwe.world 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ

บทความนี้สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) www.erc.or.th