พาทัวร์ทางปั่นจักรยานแหล่งสร้างพลังงานสะอาด
Technology & Innovation

พาทัวร์ทางปั่นจักรยานแหล่งสร้างพลังงานสะอาด

  • 19 May 2021
  • 977

ในขณะที่โครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างทางเดินเท้าในเมืองไทยยังเป็นที่ถกเถียงถึงความน่าผิดหวังอยู่ร่ำไป หากให้นึกถึงทางปั่นจักรยานที่ดีและปลอดภัยเพื่อการคมนาคมในชีวิตประจำวัน ก็คงจะได้แต่นั่งฝันกันต่อไปว่าเมื่อไหร่คนไทยจะได้มีโอกาสปั่นจักรยานเป็นอีกทางเลือกในการสัญจรกับเขาบ้าง

หากมาดูประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่อง “เมืองแห่งจักรยาน” ที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง ก็คงต้องแวะไปที่เนเธอร์แลนด์ เพราะประเทศนี้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานเป็นการเดินทางหลักอย่างจริงจัง จนตอนนี้ได้ยกระดับการเป็นเมืองนักปั่นที่เพิ่มความใส่ใจโลกขึ้นอีกขั้นด้วยการนำร่องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนเลนจักรยาน เพื่อเป็นทั้งเส้นทางการสัญจรและพื้นที่สร้างพลังงานสะอาดใช้ได้ด้วยตัวเอง


©pv-magazine.com

แผนนำร่องดังกล่าวได้เริ่มขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วในเมืองยูเทรคต์ (Utrecht) เขตเทศบาลเมืองเรเนน (Rhenen) โดยแผงโซลาร์เซลล์ได้ถูกติดตั้งบนเลนจักรยานในระยะทางยาว 25 เมตร กระแสไฟฟ้าที่ได้จะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นไฟถนนส่องสว่างยามค่ำคืน และให้ความร้อนบริเวณเส้นทางจักรยานในฤดูหนาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางเพราะสามารถป้องกันหิมะที่มาปกคลุมบนเลนจักรยานที่เป็นสาเหตุให้นักปั่นลื่นไถล และช่วยลดความจำเป็นในการใช้เกลือโรยบนถนนเพื่อละลายหิมะอีกด้วย โดยเลนจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์นำร่องอีกแห่งมีแผนจะถูกทดสอบต่อไปที่เทศบาลเมืองมาร์เทนส์ไดก์ (Maartednsdijk) ในระยะทางที่มากขึ้นอีกประมาณ 350 เมตร

โครงการเส้นทางจักรยานพลังงานสะอาดทั้งสองที่นี้ได้รับการผลักดันมาจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเลนจักรยานที่ต้องมีอยู่แล้ว และหากโครงการนี้มีแววไปได้สวย ก็จะเป็นการช่วยทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีความยั่งยืนมากขึ้น และช่วยประหยัดการใช้ที่ดินเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ในอนาคต

นอกจากไอเดียการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนเลนจักรยานแล้ว อีกงานออกแบบเพื่อความยั่งยืนที่น่าจับตามองไม่แพ้กันก็คือ อุโมงค์จักรยานและทางเดินหลังคาโซลาร์เซลล์ที่เรียกว่า “Solar Veloroute” ออกแบบโดยปีเตอร์ คัชเซีย (Peter Kuczia) สถาปนิกชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน โดยเขาหวังว่างานออกแบบชิ้นนี้จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน อุโมงค์ที่ว่าสามารถเก็บสะสมพลังงานแสงอาทิตย์และแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ได้ระหว่างวัน คัชเซียกล่าวถึงจุดเด่นของงานออกแบบชิ้นนี้ไว้ว่า ”ระยะทาง 1 กิโลเมตรของอุโมงค์พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง นั่นหมายถึงสามารถจ่ายไฟฟ้าให้บ้านเรือนได้ถึง 750 ครัวเรือน หรือสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 คัน”

โครงสร้างอุโมงค์ Solar Veloroute มีรูปร่างเป็นซุ้มโค้งมนที่ปิดล้อมด้วยแผงโซลาร์เซลล์แบบกระจกไม่สะท้อนแสง นอกจากจะเป็นแหล่งเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังช่วยป้องกันแสงแดดและสภาพอากาศที่เลวร้ายต่าง ๆ พร้อมมอบไฟสว่างในตอนกลางคืนให้กับนักปั่นจักรยานและคนเดินเท้าอีกด้วย รวมถึงการมีสถานีชาร์จรถจักยานไฟฟ้าและสมาร์ตโฟนให้บริการในอุโมงค์ด้วยเช่นกัน

เส้นทางจักรยานพลังงานสะอาดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ของการผลักดันการปรับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเส้นทางคมนาคมในเมืองให้ยั่งยืนมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าอีกไม่นานพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดจะไม่ใช่พลังงานทางเลือกอีกต่อไป แต่มันจะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่เราต้องเลือกใช้เพื่อช่วยรักษาโลกของเราในอนาคตนั่นเอง

ที่มา : 
บทความ “Construction begins on pilot solar bike lane in the Netherlands” (มกราคม 2020) จาก pv-magazine.com
บทความ “Photovoltaic bike pathway by peter kuczia features illuminated canopy + charging stations” (พฤษภาคม 2021) จาก designboom.com

เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ