เปิดตำรา EdTech จาก Vonder สตาร์ตอัพที่อยากทลายเส้นแบ่งการเรียนรู้ของทุกคน (TH/EN)
Technology & Innovation

เปิดตำรา EdTech จาก Vonder สตาร์ตอัพที่อยากทลายเส้นแบ่งการเรียนรู้ของทุกคน (TH/EN)

  • 01 Jun 2021
  • 1405

“หรือการศึกษาไทยพยายามจะสอนอีกแง่หนึ่ง คือ สอนชีวิตจริงของโลกว่า ในบางทีเราตั้งใจขนาดไหน โลกก็จะส่งบททดสอบที่มันเหนือความคาดหมายมาทุกครั้ง” นี่เป็นความสงสัยแรกเกี่ยวกับการศึกษาไทยของ ชิน วังแก้วหิรัญ ผู้ก่อตั้งบริษัท วอนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้นำมุมมองการมองโลกในแง่ดีเช่นนี้มาคิดต่อยอดเพื่อตอบคำถามที่ค้างใจในด้านการศึกษา

วอนเดอร์ (Vonder) คือสตาร์ตอัพที่จะมาช่วยให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องสนุกด้วยเครื่องมือดิจิทัล ผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน จากผู้ที่หลงใหลการศึกษา อยากเห็นการศึกษาไทยดีขึ้นให้เท่าทันและเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ตอนนี้ชินจะมาเล่าเบื้องหลังการสร้างธุรกิจการศึกษาที่เกิดจากการตักตวงความรู้ของตัวเองและการแสวงหาโอกาสที่ไม่สิ้นสุด

บทนำ : ท่องโลกการศึกษา
ประสบการณ์การเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ทำให้ชินได้สัมผัสการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก “เรียนแบบไหน สอบแบบนั้น” ซึ่งเกิดจากการวางเป้าหมายและการออกแบบหลักสูตรให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนมากที่สุด 

หลังจากเรียนจบ เขาเข้าทำงานที่ Teach for Thailand เครือข่ายนานาชาติด้านการศึกษาที่มีสาขาที่ประเทศไทยโดยชินได้เป็นตัวแทนไปร่วมสัมมนาที่ประเทศสเปนและได้พบกับเครือข่ายคนในแวดวงการศึกษา ที่นี่เขาได้รู้จักกับคำว่า EdTech เป็นครั้งแรก “จุดเริ่มต้นของวอนเดอร์ก็มาจากที่นี่แหละครับ เราได้รู้จักกับคนที่เป็นตัวแทนของ Teach for India แล้วทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าอินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เขามาเล่าให้ฟังคือประเทศเขามี EdTech ที่โตเป็นอันดับ 1 ของโลก” ชินผู้ไร้ประสบการณ์ในตอนนั้นยังไม่รู้จักว่า EdTech คืออะไร รู้เพียงแต่ว่าตัวเองสนใจการศึกษาเอามาก ๆ และพยายามพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่วนเวียนอยู่กับประเด็นด้านการศึกษาอยู่เสมอ

บทที่ 1 : สร้างเครื่องมือดิจิทัล ตัวช่วยการเรียนรู้
“จริง ๆ ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือสูงมาก คือเด็กไทยติดมือถือนะ แต่ที่เราเห็นตามห้องเรียนกลับไม่มีห้องเรียนไหนหยิบเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เลย” ชินจึงเริ่มศึกษา EdTech และลงคอร์สเรียนการสร้างสตาร์ตอัพด้วยใจหวังว่าอยากให้การศึกษาดีขึ้นด้วยมือของตัวเอง

จากการสำรวจวงการ EdTech ในประเทศไทยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ชินพบว่ามีธุรกิจประเภทนี้อยู่ไม่กี่เจ้า ซึ่งแต่ละเจ้าก็เน้นเจาะตลาดติวเตอร์เป็นหลัก “เราเลยตั้งใจว่าจะทำเครื่องมือที่ให้คนที่เป็นผู้ให้การศึกษา (Educator) สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ในการเรียนรู้ได้ แล้วก็ต้องเหมาะกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน” เขาจึงตั้งธงธุรกิจของตนเองขึ้นมาให้ต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาดจนกลายมาเป็น “วอนเดอร์”

โปรดักต์ตัวแรกของวอนเดอร์เป็นแชตบอต (Chatbot) ซึ่งหลักการทำงานก็คือ บอตจะคอยยิงคำถามวัดความรู้ผ่านช่องทางแชต แล้วส่งคำถามที่เหมาะกับระดับของเรามาเรื่อย ๆ “วิธีการหลังบ้านไม่ได้ซับซ้อนเลยครับ ทำเป็น Adaptive Flow Learning คือจะมีคลังคำถามเยอะ ๆ แล้วเราก็ระบุความยาก-ง่ายลงไป” ปรากฏว่าโปรดักต์นี้ประสบความสำเร็จแบบไม่คาดคิด แต่เขากลับหารายได้จากสิ่งนี้ไม่ได้เลย

บทที่ 2 : โปรดักต์ต้องดี และต้องมีรายได้
ช่วงสองปีแรกวอนเดอร์เลี้ยงตัวเองด้วยเงินทุนที่ได้จากเวทีแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจ และสร้างความรู้จักในแวดวงธุรกิจการศึกษาผ่านเวทีประกวดเช่นกัน หลายคนรู้จักวอนเดอร์ หลายคนใช้งานวอนเดอร์ แต่ชินกลับไม่ได้คิดถึงเรื่องการหารายได้

“ทุกคนก็จะบอกเราว่า โปรดักต์เราเนี่ยดีแล้วนะ แต่มีปัญหาเรื่องการทำรายได้จากมัน ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลย หลายคนบอกว่าไม่ได้ ไม่งั้นคุณจะไม่มีวันโต” ชินเล่า พลางนึกถึงคำที่เคยถูกพร่ำสอนมาเมื่อตอนลงคอร์สสร้างสตาร์ตอัพที่ว่า อย่าคิดว่าสิ่งที่เราทำมาจะขายกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้ โปรดักต์ของเราอาจจะตอบคนใช้งานได้หลายกลุ่ม 

ตามคำแนะนำของเมนเทอร์ใน Stormbreaker Venture โครงการปั้นสตาร์ตอัพด้านการศึกษา ที่ให้ลองโฟกัสที่กลุ่มองค์กร ชินจึงนำโปรดักต์ไปขายดู “ผมไปศึกษาโมเดลมาเยอะมาก เราก็ลองหลายอย่างแต่ก็เฟลหมดเลย ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดกับสตาร์ตอัพนะ ต้องลองเยอะ ๆ จนเจออันที่ใช่” เขาว่า “โปรดักต์เราเป็นแชตบอตซึ่งสร้างแบบจำลองบุคคล (Persona) ได้ HR ก็รู้สึกว่าแบบนี้มันสนุกและวัดผลได้ แล้วเก็บผลการเข้าร่วมได้ด้วย” ต่างจาก อี-เลิร์นนิง เดิมทีองค์กรส่วนใหญ่มีอยู่แต่ไม่ได้ปรับตามพฤติกรรมการใช้งานที่องค์กรส่วนใหญ่ของคนในปัจจุบัน

ชินประสบความสำเร็จอีกครั้งจากการขายโปรดักต์ให้กับแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ในองค์กรที่หลากหลาย “ตอนนั้นขายแค่ไม่กี่บริษัทเองครับ แต่มันนับผู้ใช้ตามจำนวนพนักงาน (Head Count Subscription) โดยที่เราปรับโปรดักต์เราแค่นิดหน่อย ในขณะที่กลุ่มนักเรียนก็ยังใช้ของของเราได้อยู่” เขาปรับเปลี่ยนรูปแบบเพียงเล็กน้อย และเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะกับกลุ่มองค์กร เช่น สิทธิ์เข้าถึงของแอดมินหลายระดับตามลำดับงาน

และสิ่งนี้กลายมาเป็นรายได้หลักของวอนเดอร์ที่จะช่วยสานในสิ่งที่ชินตั้งใจทำแต่แรกให้เป็นจริง “เราได้คำตอบการมองภาพธุรกิจระยะสั้นและระยะไกลว่า ถ้ามองสั้นคือเราต้องมีรายได้เพื่อมาขยายทีมเราให้มีพลัง กับมองไกลมาก ๆ คือต้องการให้นักเรียนทั่วประเทศใช้โปรดักต์ของเรา ไม่ใช่แค่ทั่วประเทศด้วยต้องทั่วโลกเลย” ชินบอกเป้าหมาย

บทที่ 3 : Vonder GO Global
“ผ่านมาสามปีมันเป็นตามที่เราตั้งไว้ มันมาถึงจุดนี้ที่นักเรียนมีการ์ตูนที่เล่นได้จริง ๆ มีครูทั่วประเทศเอาไปใช้ แล้วมันโตของมันเอง” หลังจากชินขายโปรดักต์ให้บรรดาองค์กรได้มากขึ้น เขาก็เริ่มมองเห็นทางที่จะไปต่อ

แต่แล้วเมื่อ EdTech X Global มาจัดที่ประเทศไทยในปี 2019 ชินก็ไม่รอช้าที่จะเข้าร่วมแข่งขันอีกรอบ โดยตั้งความหวังไว้เพียงอยากให้โปรดักต์เป็นที่รู้จักในสายตานานาชาติ “ตอนนั้นเกม Vonder GO เพิ่งเสร็จตัวเดโม่เลยครับ เป็นเกมที่เล่นได้หลายคนพร้อมกัน คล้าย ๆ Kahoot แต่เป็นเวอร์ชันการ์ตูน เราก็คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้คนในอีเวนต์นั้นเขาได้ลองเล่น” ในใจเขาก็อยากจะชนะการแข่งครั้งนี้เพื่อพาโปรดักต์ไปนำเสนอด้วยตัวเองบนเวทีโลกที่ประเทศอังกฤษ

จุดเด่นของวอนเดอร์พาชัยชนะมาให้ชินอีกครั้ง เขาได้รับการตอบรับที่ดีจากกรรมการต่างชาติ “เขาบอกเราว่าที่เราชนะเพราะเป็นหนึ่งใน EdTech ไม่กี่ตัวในสิบทีม ที่เขาจินตนาการได้ว่าคนในประเทศเขาก็ใช้ได้เหมือนกัน” ถึงจุดนี้ทำให้มองเห็นว่าวอนเดอร์ได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างประเทศไปได้เรียบร้อยแล้ว 

“คำว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประเทศ (No Boundaries) คือต้องดูว่าเราขายอะไร ถ้าขายคอนเทนต์ก็คงยากกว่า แต่อย่างวอนเดอร์ที่ไม่ได้สร้างคอนเทนต์เองเลย แต่มันคือการที่เราสร้างเครื่องมือแล้วให้ผู้ใช้ไปใส่คอนเทนต์เอาเอง แบบนี้จะไปประเทศไหนก็ได้ครับ” ชินสรุปให้ฟัง เพราะไม่ใช่ EdTech ทุกตัวที่จะสามารถข้ามกำแพงไปได้อย่างวอนเดอร์...แต่เขาก็มองว่า ไม่ว่าอย่างไร EdTech ประเภทขายคอนเทนต์ก็ควรมีเพื่อซัพพอร์ตในกลุ่มตลาดที่แตกต่างกัน

“EdTech ในประเทศเรามองเขาเป็นพาร์ตเนอร์ หากเป้าหมายเหมือนกันก็ต้องมานั่งคุยกันว่าใครเชี่ยวชาญอะไร ก็แบ่งให้เจ้านั้นทำ ไม่ต้องมาแข่งกัน เพราะตลาดเราเล็กอยู่แล้ว แข่งกันเองก็คือแข่งกันจน (หัวเราะ)” เขามองว่า ถ้าเป็นแบบแรกคนที่อยากเริ่มสตาร์ตอัพ EdTech ใหม่ ๆ ก็จะพาลไม่อยากทำ “ประเทศที่จะมีการศึกษาดี ๆ ในยุคนี้ คือคุณต้องมีทางเลือกทางเทคโนโลยี ทางดิจิทัลให้เยอะ” เขาชี้แจง

บทสรุป : ห้องเรียนของโลก 
ห้องเรียนฝั่งองค์กรที่มีแชตบอต และห้องเรียนฝั่งคุณครูที่ได้โปรดักต์ใหม่อย่าง Vonder GO เป็นสองขาที่วอนเดอร์ต้องดูแลให้ดีเพื่อไม่ให้เสียชื่อ “เราก็ตั้งใจจะซัพพอร์ตลูกค้าให้ดีที่สุด สมมติลูกค้าทักมา ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต้องตอบ หรือถ้ามีปัญหาไม่เกิน 1 วันต้องแก้ให้จบ คือเราต้องดูแลให้ชื่อเสียงเราดี”

สำหรับ Vonder GO เทคโนโลยีที่ชินเลือกใช้ไม่สามารถสเกลได้ วอนเดอร์จึงวางแผนทำเวอร์ชันแก้ไขออกมาใหม่ให้เกมมีความเบามากที่สุดและไม่หนักเครื่อง “เราไม่ชอบความเหลื่อมล้ำใช่ไหม แต่เรากำลังทำให้มันเหลื่อมล้ำรึเปล่า คุณต้องมีคอมพิวเตอร์สเปกแรงเพื่อใช้โปรดักต์ของเรา แบบนี้มันไม่ใช่ เราก็เลยยอมเสียเวลาแก้ไขแล้วค่อย ๆ โตไปดีกว่า”

ที่ผ่านมาชินไม่ได้ลงแรงเรื่องการตลาดแม้แต่สลึงเดียว “เราเห็นว่าวอนเดอร์ค่อย ๆ โตโดยที่ไม่ต้องทำการตลาดเลย ผู้ใช้อยากใช้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นเราจึงทำโปรดักต์ราคาถูกแล้วให้มันเลี้ยงตัวเองได้ พอมันถึงจุดที่ดีที่สุด (Optimal) ในประเทศไทยแล้ว ถ้าจะไปต่างประเทศเราก็แค่ลงเงินกับการทำการตลาดอย่างเดียวแล้ว” เขาเผยแผนการต่อไป 

"ถ้าคุณมีโปรดักต์ที่มีผู้ใช้งานจริง มีการพิสูจน์แนวทางธุรกิจและการตลาดภายในประเทศได้ การขยายไปต่างชาติก็เป็นไปได้ เพราะระดับภูมิภาคก็มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เขาเปิดให้เข้าไปเจรจาได้” เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่วอนเดอร์ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ AWS EdStart โครงการยักษ์ใหญ่ของ Amazon ที่เปิดให้ EdTech ทั่วโลกที่โตในระดับหนึ่งเข้าร่วมโครงการ รวมถึงขยายฐานลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการเข้าร่วมโครงการกับ Microsoft For Startups 

ในด้านของโครงการบ่มเพาะและการลงทุนก็มีหลายโครงการ เช่น Eduspaze ธุรกิจร่วมลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ หรือโครงการ Surge โดย Sequoia จากอินเดีย และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่พร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพในเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มที่ “ถ้าแนะนำกับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ ได้ก็อยากจะบอกว่า เวลาที่คุณจะเดินเข้าไปสู่การลงทุนใด ๆ ก็ตาม คุณต้องมีแผนการ อย่าคิดอย่างเดียวว่าอยากได้เงิน ต้องมองด้วยว่าเขามากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership) อะไรบ้าง” ชินให้บทเรียนข้อสุดท้าย

เสริมทักษะ : ละลายความไทย ใส่ความโลก
“ขี้เกรงใจ” คือพื้นฐานความเป็นคนไทย แต่เมื่อมาอยู่ในโลกธุรกิจนานาชาติแล้วอาจเป็นสิ่งที่ต้องกลับมาพิจารณาใหม่ ชินเล่าว่าเขาได้ทักษะความกล้าแสดงออกจากนักธุรกิจชาวแอฟริกัน “เวลาเขาต้องการความช่วยเหลือจากนักลงทุน เขาจะพูดขอตรง ๆ เลย ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร และถามความเป็นไปได้เผื่อด้วยว่าจะไปติดต่อขอความช่วยเหลือที่ต้องการนี้ได้จากที่ไหน ซึ่งทำให้ธุรกิจเขาโตได้เร็วมาก” อีกอย่างที่สำคัญ คือ การเลือกพาร์ตเนอร์ผู้ลงทุนที่เปรียบเหมือนการเลือกคู่ชีวิต ต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเองและดูด้วยว่าจะไปกันรอดหรือเปล่าเหมือนคนแต่งงานกัน ไม่ใช่เลือกเพียงเพราะเขาดังหรือมีทุน

 

สัมภาษณ์เมื่อ 28 พฤษภาคม 2564 ผ่านทางวิดีโอคอล

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร