ปล่อยความเครียดจากโควิด ไปทำงานออฟฟิศ 3D ลอยน้ำ
Technology & Innovation

ปล่อยความเครียดจากโควิด ไปทำงานออฟฟิศ 3D ลอยน้ำ

  • 29 Jun 2021
  • 1218

เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลก เราต่างต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน กลายเป็น Work from home ไม่สามารถเดินทางไปออฟฟิศตามปกติได้ เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ที่มีในช่วงระบาดหนัก ๆ รวมถึงต้องระแวดระวังป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงไปอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก เพราะไม่รู้ว่าใครต่างเป็นพาหะพกเชื้อไวรัสไว้กับตัวเองแล้วบ้าง ตามรายงานที่เชื้อกลายพันธุ์มากขึ้น ไม่แสดงอาการจนแม้แต่คนติดแล้วก็ยังไม่รู้ตัวเอง

นอกจากกังวลว่าจะเสี่ยงติดโควิดหรือยังแล้ว การต้องติดอยู่ภายในบ้าน ทั้งทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในที่เดิมตลอด 24 ชั่วโมง ก็ทำให้หลายคนเกิดอาการเครียดได้เหมือนกัน การทำงานและการจัดการชีวิตส่วนตัวแทบจะไม่ได้แยกจากกันป็นสัดส่วน ลองคิดว่า..ถ้าไม่ต้องอยู่ภายในบ้านตลอดเวลา แต่กลับมีพื้นที่ให้ทำงานท่ามกลางธรรมชาติได้ อย่างเช่น ได้ลอยอยู่กลางแม่น้ำท่ามกลางธรรมชาติงดงาม...ชีวิตจะดีขึ้นเพียงไหน

การได้นั่งทำงานชิล ๆ กลางน้ำ ตอนนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว จากผลงานของ อันเนียซก้า เบียเลก (Agnieszka Bialek) ดีไซเนอร์สาวชาวโปแลนด์ เจ้าของสตูดิโอ Monolight ในเมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ ที่ได้คิดออกแบบนวัตกรรมใหม่ให้ออฟฟิศลอยน้ำได้ โดยเธอให้ชื่อว่า 'Enclaves' เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานในช่วงภาวะตึงเครียดแบบตอนนี้ ได้ผ่อนคลายท่ามกลางทิวทัศน์ธรรมชาติกับวิวแม่น้ำสวย ๆ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวสูงเหมาะสำหรับการทำงานอยู่ โดยงานดีไซน์ออฟฟิศลอยน้ำแห่งนี้ ใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ (3D-printing) โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและกันน้ำ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Enclaves ลอยน้ำสไตล์เซน
เบียเลกสำเร็จการศึกษาจาก Academy of Fine Arts ในเมืองคราคูฟ ได้ไอเดียการดีไซน์ออฟฟิศลอยน้ำในสไตล์แบบเซนหลังนี้ ขณะเดินเล่นไปตามริมฝั่งแม่น้ำในช่วงล็อกดาวน์ เธอคิดว่าคงจะดีถ้ามีออฟฟิศลอยน้ำที่ไม่มีส่วนใดเชื่อมต่อกับแผ่นดินเลย และนั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เธอพัฒนาความคิดเป็น ‘Enclaves’ ที่ลอยอยู่เหนือแม่น้ำวิสวา (Vistula River) โดยมีปราสาทวาเวล (the Wawel Castle) เป็นฉากหลัง ด้วยแนวคิดคือการใช้พื้นที่ธรรมชาติที่ว่างเปล่าอย่างยั่งยืน

ผลจากโควิด-19 สร้างบรรทัดฐานในการทำงานทางไกลให้กลายเป็น Next normal ของบริษัทส่วนใหญ่และแน่นอนว่าคงจะยังดำเนินต่อไปอีกนาน หลังจากนี้หลายองค์กรคงจะปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น พนักงานสามารถเลือกเวลาและรูปแบบการทำงานได้ และคนก็เริ่มเบื่อที่จะทำงานอยู่แต่ในบ้าน อย่างน้อยก็อยากจะออกไปสูดอากาศ 

ดังนั้นแนวคิดในการสร้างที่ทำงานอิสระ สะดวกสบายสำหรับการประชุมออนไลน์ พร้อมบรรยากาศผ่อนคลาย และยังคงรักษาระยะห่างระหว่างผู้คนได้ด้วย ทำให้เธอซึ่งเป็นหนึ่งในคนทำงานทางไกลเช่นกัน ออกแบบให้ Enclaves เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันแบบลอยตัวกลางน้ำ โดยใช้การพายเรือคายัคเข้าไป เพื่อขจัดสิ่งรบกวนทุกประเภทและแยกพื้นที่ส่วนตัวให้คนทำงานได้เพลิดเพลินกับการทำงานท่ามกลางทิวทัศน์งดงาม หรือมีสมาธิกับงานในบรรยากาศเงียบสงบ โดยจะเช่าทั้งวันหรือเป็นชั่วโมงเพื่อจัดประชุมออนไลน์ก็ได้ และแน่นอนว่า Enclaves ก็คงเป็นออฟฟิศในฝันของทุกคน

“ตอนนี้ยังยากที่จะบอกว่าโควิด-19 จะทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แต่รู้แน่ว่าเรากำลังเผชิญกับสภาพที่เป็นจริงใหม่ ๆ การทำงานทางไกลกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่แม้แต่ในการทำงานระดับท้องถิ่น ขณะเดียวกันเราสังเกตเห็นว่าเมื่อทำงานอยู่แต่ที่บ้าน นาน ๆ เข้าก็อยากย้ายพื้นที่ทำงานไปที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการโฟกัสการทำงานจริงจัง การนั่งทำงานที่มีสมาชิกในบ้านร่วมอยู่ด้วยก็ไม่ได้สร้างความสบายใจนัก และยังทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวขาดความชัดเจน ดังนั้น การทำงานระยะไกลในพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวจึงให้ความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากกว่า Enclaves จึงได้รับการออกแบบขึ้นมา และมันก็กลายเป็นสถานที่ให้ทั้งความผ่อนคลายและสะดวกสบายสำหรับการทำงานที่ต้องมีการประชุมออนไลน์ มีความเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล และยังช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลด้วย” เบียเลกกล่าว

ห้องทำงาน “น้ำกลิ้งบนในบัว”
แนวคิดของงานออกแบบนี้ เบียเลกเรียกว่าเป็น ชุดของ "เซลล์" ที่เชื่อมต่อถึงกัน เหมือนกับดอกบัวที่ลอยอยู่บนน้ำและเชื่อมโยงถึงกันด้วยก้านและใบ และบนฐานที่เป็นเสมือนใบบัวนั้นก็เป็นห้องทำงาน ภายในมีการตกแต่งแบบบิวต์อินและเพิ่มความยืดหยุ่นให้โครงสร้างสถาปัตยกรรมดูทันสมัยด้วยขอบโค้งมนที่ดูนุ่มนวล และด้วยรูปทรงเรขาคณิตลอยตัวของ Enclaves ทำให้ภายนอกมองดูแล้วเหมือนเป็นฟองอากาศหรือหยดน้ำกลางแม่น้ำ วิธีสร้างโดยการใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ จากวัสดุรีไซเคิลและกันน้ำ จะช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการไม่ต้องผลิตวัสดุใหม่ ๆ และโครงสร้างนี้ยังสามารถจัดเรียงใหม่ได้อย่างง่ายดายเมื่อต้องการย้ายพิกัดไปยังจุดต่าง ๆ ในแม่น้ำ แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะเมื่อมันลอยน้ำก็ทำให้ไม่เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นกับดิน

“สถาปัตยกรรมและธรรมชาติต้องอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน การออกแบบต้องไม่รบกวนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เราจึงพยายามออกแบบโครงสร้างให้มีมิติทางนิเวศวิทยา หลังจากทำวิจัยมาสักพักก็ได้แนวทางของ Enclaves ที่ดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต และเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้จริงในกระบวนการก่อสร้าง เราจึงใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่ใช้เส้นใยย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เทคโนโลยีนี้ยังทำให้สามารถสร้างโครงสร้างอินทรีย์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ในแต่ละเซลล์ คุณสามารถนั่ง นอน หรือทำอะไรบางอย่างระหว่างการทำงานได้อย่างสบายใจ แต่ละรูปทรงก็มีความสูงต่างกันก็ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน การตกแต่งภายในจึงมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างเข้าใจความต้องการของคนที่ต้องทำงานระยะไกล ทั้งโต๊ะ ชั้นวางของ เบาะนั่งเตี้ย เบาะธรรมดา ที่นั่งคล้ายเก้าอี้นวม รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ นอกจากนี้ เพื่อรักษามิติของระบบนิเวศของโครงการ การไปถึงสถานที่นั้นจึงทำได้โดยเรือคายัคเท่านั้น”

ยามที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน อันเนียซก้า เบียเลก เป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่ระดมความคิด หาวิธีใหม่ ๆ ในการออกแบบ เพื่อจะได้ใช้พื้นที่ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน กับผลงานออฟฟิศลอยน้ำอันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น สร้างขึ้นจากวัสดุจากธรรมชาติ ยืดหยุ่น อเนกประสงค์ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับการทำงานแบบ New Normal สำหรับทุกคนหลังจากนี้

ภาพ : Monolight Studio

ที่มา :
บทความ “3-D Printed Floating Offices on the River in Poland by Agnieszka Bialek I Monolight Studio” จาก www.surfacesreporter.com
บทความ “Floating Office Pods Are The Future Of A Truly Flexible Lifestyle And Remote Work!” โดย Ruchi Thukral จาก www.yankodesign.com
บทความ “Monolight Studio, floating co-working space” โดย Sara Stefanovic จาก www.digitalnomadslifestyle.com

เรื่อง : กรชวัล กัลยวรรธน์