The DeFi Effect จับตาระบบการเงินในโลกสมัยใหม่
Technology & Innovation

The DeFi Effect จับตาระบบการเงินในโลกสมัยใหม่

  • 03 Jul 2021
  • 2811

หากเราศึกษาย้อนไปถึงวิวัฒนาการของระบบการเงินโลก จะเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่เกิดขึ้นหลายครั้งกว่าจะมาเป็นระบบการเงินที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากมองการเปลี่ยนผ่านนั้นอย่างละเอียด เราจะเห็นถึงความสามารถของมนุษยชาติที่คิดค้นนวัตกรรม สร้างสรรค์แนวคิดในการจัดระเบียบโลกการเงินแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต นำกลับมาพัฒนาปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้น มุ่งสู่การเป็นระบบการเงินที่เราทุกคนมีส่วนร่วมจัดการได้อย่างแท้จริง 


dem10 / istockphoto

วิวัฒนาการระบบการเงินโลก
ยุคแรกของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก่อนที่จะมีเงินตราเกิดขึ้นมานั้น ยังไม่มีการซื้อขายสินค้า มีแต่การแลกเปลี่ยน โดยเราเรียกระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าแบบนี้ว่า “Barter System” ด้วยข้อจำกัดของการประเมินมูลค่าที่สมเหตุสมผลและเป็นมาตรฐาน จึงนำไปสู่การพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยในระยะแรก มนุษย์เริ่มต้นจากการหาวัสดุธรรมชาติ เช่น หอยเบี้ย (Shell Money) มากำหนดเป็นมูลค่าในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน ก้าวหน้าไปกว่านั้น เมื่อระบบการค้าขายของเราซับซ้อนขึ้น มนุษย์เริ่มสังเกตเห็นถึงประโยชน์ของแร่ธาตุต่าง ๆ จึงมีความสนใจที่จะนำแร่ทองคำ (Gold) และแร่เงิน (Silver) มาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทน ซึ่งนวัตกรรมในช่วงนั้นเป็นที่ยอมรับจากสังคมและถูกนำมาใช้กันอย่างยาวนาน เนื่องจากแร่โลหะเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก อยากได้ต้องขุด ปลอมแปลงได้ยาก แต่สามารถแบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อย ๆ ได้ นำมาสร้างสรรค์การใช้งานให้เหมาะกับตลาดการค้าที่ซับซ้อนได้ จึงเรียกวิวัฒนาการระบบการเงินในยุคนั้นอย่างเป็นทางการว่ายุคมาตรฐานทอง หรือ Gold Standard 

ตัดตอนช่วงเวลาประวัติศาสตร์มาสู่เหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อระเบียบการเงินโลกที่ถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

  • ค.ศ. 1944 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่าง ๆ ล้วนมีสกุลเงินเป็นของตนเอง และต่างก็ประสบปัญหาในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน เนื่องจากต่างคนต่างกำหนดค่าเงินของตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการค้า ดังนั้นเพื่อหาทางออกในการจัดระเบียบระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศใหม่ จึงมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า 730 คน จาก 44 ประเทศ ขึ้น ณ เมืองเบรตตัน วูดส์ สหรัฐอเมริกา โดยผลลัพธ์จากการประชุมที่ได้ออกมานั้น คือการลงนามใน “ข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods Agreement)” ซึ่งประกอบไปด้วยข้อตกลงที่สำคัญ 2 เรื่อง

    • (1) ยกเลิกการกำหนดค่าเงินเองหรือการใช้ทองคำหนุนในทุกประเทศ แล้วหันไปผูกติดอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของตนกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเดียวที่มีทองคำหนุนหลัง​ธนบัตร

    • (2) การก่อตั้งองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศขึ้นใหม่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศในสังคมโลกมาจนถึงทุกวันนี้

  • ค.ศ. 1971 สหรัฐอเมริกาผู้นำระเบียบการเงินโลกในขณะนั้นทำสงครามกับเวียดนาม อเมริกาลงทุนกับการทำสงครามไปมาก จนทำให้ตั๋วดอลลาร์ซึ่งแบ็กด้วยทองคำถูกใช้ไปจนเกือบหมดคลัง และไม่สามารถหาทองคำมาหนุนทดแทนได้ทันกับความต้องการใช้เงิน อเมริกาจึงละเมิดข้อตกลงด้วยการพิมพ์เงินขึ้นมาใช้เองแบบไม่จำกัด ในช่วงเวลาต่อมา การกระทำนี้เริ่มสร้างความสงสัยให้กับประเทศสมาชิกอื่น ๆ จึงมีการนำเงินเพื่อมาแลกทองคำกลับคืน เหตุการณ์นี้จึงนำไปสู่การแถลงข่าวที่โด่งดัง ในวันที่ 13 สิงหาคม 1971 เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้น ประกาศยกเลิกการผูกตั๋วดอลลาร์สหรัฐเข้ากับทองคำ หมายความว่า ตั๋วดอลลาร์ของสหรัฐฯ เป็นอิสระจากทองคำ และสหรัฐฯ สามารถพิมพ์ตั๋วเงินเท่าไรก็ได้ โดยไม่ต้องอิงกับปริมาณทองคำที่มีอยู่ และผู้ครอบครองตั๋วดอลลาร์ก็ไม่สามารถนำตั๋วกลับไปแลกทองคำคืนได้อีกต่อไป เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีชื่อที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “Nixon Shock”

  • ค.ศ. 2008 ผลพวงที่เกิดจากทศวรรษที่ 70 นำมาสู่ปัญหาวิกฤตซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis)  ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจพิมพ์เงินจำนวนมากเข้าระบบใหม่ โดยปราศจากการรับประกันใด ๆ เพื่อนำมาใช้โอบอุ้มเศรษฐกิจของประเทศ จากวิกฤตการณ์นี้ ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของระบบการเงินที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง นำไปสู่การเสนอแนวทางการปฏิวัติโลกการเงินสมัยใหม่อย่าง “บิตคอยน์ (Bitcoin)” ขึ้น

ความเชื่อมั่นใน “ตัวกลาง” ทางการเงินแบบรวมศูนย์
เชื่อว่าวัยเด็กของทุกคนล้วนได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้มีนิสัยรักการออม และสิ่งที่พวกเรามักทำกันจนเป็นภาพคุ้นชิน คือการอุ้มกระปุกออมสินเดินเข้าธนาคาร เปิดบัญชีและฝากเงินก้อนแรกในชีวิต กับสถานที่ที่คนทั่วไปเกือบ 100% คิดว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการเก็บรักษาเงินของเรา และฝันไปถึงเงินที่งอกเงยจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ถูกกำหนดเป็นผลตอบแทนรายปี ในอดีตดอกเบี้ยเงินฝากประจำของไทย เคยทำสถิติสูงเกิน 10% ต่อปี แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำลงมากจนแทบไม่หลงเหลือแรงจูงใจ และสิ่งที่ทำให้เรายังคงเงินไว้กับธนาคาร จึงมีเพียงแค่ความเชื่อที่ว่า “เงินของเราจะปลอดภัย” 

ระบบการเงินที่เราคุ้นชินกันนี้ มีศัพท์เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ซีไฟน์ (CeFi)” หรือ “ระบบการเงินที่มีตัวกลาง (Centralized Finance)” เป็นระบบการเงินที่ทำงานผ่านตัวกลางทางการเงินแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ตัวกลางเหล่านี้จะยึดโยงกับผู้กำกับดูแล เช่น ธนาคารกลาง ที่ออกกฎเกณฑ์ควบคุมให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในกลไกการทำงานและเสถียรภาพของระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้


Philippe LOPEZ / AFP

สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ก้าวแรกของการเรียนรู้โลกการเงินยุคดิจิทัล
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของระบบสื่อสารและสมาร์ตโฟน มีผลส่งเสริมให้โลกก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ซึ่งเป็นยุคที่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของผู้คนเกือบทั้งโลก ยกตัวอย่างประเทศในเอเชีย เช่น อินเดียมีการจัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า Cashless India หรือ Digital India เป็นโครงการหลักของรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่ Cashless Society โดยมีเป้าหมายสำคัญให้เกิดผลใน 3 ด้าน คือ Faceless, Paperless และ Cashless ส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินแบบไร้เงินสด โดยเพิ่มรูปแบบและช่องทางการชำระเงินดิจิทัลที่หลากหลาย แม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยนำร่องใช้ Yangon Bus Service (YBS) หรือบัตรชำระเงินที่ใช้สำหรับจ่ายค่าโดยสารในระบบขนส่งและบริการสาธารณะในนครย่างกุ้งได้โดยไม่ต้องพกเงินสด

ประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ Cashless Society เช่นกัน ในช่วงแรกหัวเรือใหญ่ของการปรับเปลี่ยนนี้คือธนาคารที่คาดหวังว่าระบบ Online/Mobile Banking จะช่วยลดต้นทุนในการบริการและลดจำนวนของสาขาได้ จึงได้หันมาลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชันในมือถือให้สามารถรองรับการโอนเงินหรือชำระหนี้ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการโดยสแกนคิวอาร์โค้ด ประกอบกับการประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างธนาคารผ่าน Online/Mobile Banking ที่ล้วนเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้บริการทางการเงินในโลกดิจิทัลสูงขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่คนยิ่งต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสและส่งต่อเชื้อระหว่างกันผ่านเงินสด 

ภาครัฐเองก็ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเช่นแคมเปญ “คนละครึ่ง” มาตรการเยียวของรัฐจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งส่งให้คนไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” ที่คนไทยกว่า 40 ล้านคนต้องมีติดมือถือ (ข้อมูลยอดผู้ใช้ ณ เดือน ม.ค. 64) โดยในมุมมองของนักพัฒนาระบบส่วนใหญ่มองว่าแอพ “เป๋าตัง” ถือเป็น E-wallet ที่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นซูเปอร์แอพฯ และเป็น Single Gateway ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการดิจิทัลต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสาธารณูปโภค ชำระภาษี หรือ ต่อทะเบียน ก่อนต่อยอดไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินให้กับภาคธุรกิจ ลดการพึ่งพาแอพฯ ต่างชาติ

CeFi to DeFi เมื่อระบบการเงินแบบรวมศูนย์ถูกท้าทาย
ระเบียบการเงินที่ทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน ไม่ใช่ระบบเปิด คนทั่วไปแทบไม่มีสิทธิ์เข้าถึงกระบวนการทำงานหรือมีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ ในระบบการเงินเลย เพราะอำนาจการตัดสินใจนั้นถูกรวมศูนย์ไว้ที่เดียว (Centralized) ผ่านตัวกลางในการกำหนดทิศทางการบริหารเงิน ถึงอย่างนั้นระบบของธนาคารทุกวันนี้ก็ยังพึ่งพิงปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ตลอดเวลา

ทุกครั้งที่เรามีการลงทุน ทำธุรกรรม หรือแม้แต่ฝากเงิน จะเกิดการส่งต่ออำนาจการควบคุมทรัพย์สินของเราไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อเป็นตัวแทนของเราในการบริหารเงินในตลาดการเงิน แต่หากธนาคารนำเงินของเราไปใช้ในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่ไร้ศักยภาพในการชำระหนี้คืนได้ หรือแม้กระทั่งการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ผิดพลาด ไม่สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการที่ผู้ใช้จำเป็นต้องมอบข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการทำธุรกรรม และอำนาจการตัดสินใจในการบริหารเงินไปอยู่ที่ตัวกลางโดยที่แทบไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าตัวกลางเหล่านั้นกำลังมีแผนจะนำเงินหรือข้อมูลของเราไปทำอะไร ก็เป็นเหตุผลให้ผู้คนเริ่มมองหาหนทางที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า 

เช่นเดียวกับความปลอดภัย ที่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตัวกลางอย่างธนาคารถูกตั้งคำถาม จากข่าวการโจรกรรมทางการเงิน หรือการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลที่แม้แต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินระดับโลกก็ยังถูกคุกคามให้เกิดความเสียหาย และอาจส่งผลเสียต่อระบบรวมศูนย์ทางการเงินที่ลุกลามไปมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ กระทั่งเกิดการล่มสลายเช่นเดียวกับตัวอย่างที่มีให้เห็นในอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา และซิมบับเว เป็นต้น 

“ความน่าเชื่อถือ” ของตัวกลางอย่างธนาคาร จึงอาจกลายเป็นเพียงมายาคติที่สร้างความชอบธรรมให้กับระบบการเงินในโลกเก่าได้ใช้เป็นหลักยึด หรืออ้างสิทธิ์การมีอยู่ของตัวกลางทางการเงิน กล่าวได้ว่า ธนาคารไม่ได้ดำรงอยู่ได้เพราะความน่าเชื่อถือของตัวมันเอง แต่ธนาคารดำรงอยู่ได้เพราะ “คน” ยังให้ความเชื่อถืออยู่

เงินคริปโต ความหวังใหม่ ปฏิวัติการเงินโลก
ค.ศ. 2008 มีนักสร้างสรรค์ผู้ไร้ตัวตนนามว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ได้เปิดตัวไอเดียที่หมายมั่นจะเปลี่ยนแปลงโลกทางการเงิน เขาเรียกมันว่า “บิตคอยน์ (Bitcoin)” ที่พัฒนาขึ้นด้วยการวางคอนเซ็ปต์ง่าย ๆ คือการกระจายศูนย์อำนาจ (Decentralized) ที่จะช่วยให้เกิดสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกันแบบ P2P (Peer-to-Peer) โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ซาโตชิให้เหตุผลว่าตัวกลางอย่างธนาคารนั้นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยของระบบ ทำให้ระบบช้ากว่าที่ควรจะเป็น และทำให้คนต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงเพื่อให้ตัวกลางเหล่านั้นมีรายได้ 

ข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดของบิตคอยน์จะถูกจัดเก็บลงในเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และจะไม่มีใครสามารถทำการแก้ไขได้ ยิ่งมีจำนวนคนถือข้อมูลในเครือข่ายเยอะเท่าไร ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของข้อมูลก็จะยิ่งสูงขึ้น การปลอมแปลงก็จะทำได้ยากขึ้น เชื่อกันว่าซาโตชิตั้งใจสร้างบิตคอยน์ขึ้นมาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับทองคำ คือไม่มีการแทรกแซงจากตัวกลาง ทุกอย่างเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน มีจำนวนจำกัด และเมื่อเวลาผ่านไป จะหาได้ยากขึ้น เพราะบิตคอยน์จะถูกปล่อยออกมาจากระบบน้อยลงเรื่อย ๆ การได้มาซึ่งบิตคอยน์นั้นต้องอาศัยการขุด คล้ายกับการขุดทองคำ เป็นการแข่งขันกันเพื่อแย่งสิทธิ์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมและเป็นผู้บันทึกธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงลงในบล็อกเชน เพราะการที่บิตคอยน์เป็นระบบที่ไม่มีตัวกลาง จึงมีการเสนอวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหาเรื่องความโปร่งใสแบบไร้ศูนย์กลางผ่านการ “ขุด” วิธีนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในระบบบิตคอยน์ทุกคน มีสิทธิ์เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน และผลลัพธ์จากการตรวจสอบก็จะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยออกสู่สาธารณะด้วย

ความท้าทายในช่วงเริ่มต้นของบิตคอยน์ ส่วนใหญ่มาจากการโจมตีของกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โดยมองว่าเป็นเงินที่ไม่มีตัวตน ไม่มีค่า จับต้องไม่ได้ เป็นเพียงแค่รหัสในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่เหมือนกับเงินสกุลต่าง ๆ ที่มีธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ มีธนาคารเป็นตัวกลางและรับรองโดยรัฐบาล แต่สำหรับคริปโตเคอร์เรนซีนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครเป็นผู้กำหนดค่าของมันโดยตรง และปราศจากการนำแร่ธาตุมีค่ามาหนุนไว้ ทั้งนี้หากพิจารณากันให้ดี ทุกวันนี้โลกเราก็ไม่ได้ใช้ระบบการเงินที่อ้างอิงมาตรฐานทองคำแล้ว มูลค่าที่แท้จริงของธนบัตรที่อยู่ในมือเรานั้น นับกันจริง ๆ ก็อาจมีค่าเท่ากับมูลค่ากระดาษ ค่าแท่นพิมพ์ ค่าหมึกต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตมันเท่านั้นเอง

หลังจากที่บิตคอยน์ผ่านร้อนผ่านหนาว ผจญกับบททดสอบและการยอมรับของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบิตคอยน์มีมูลค่าไปแตะอยู่ที่ 1 BTC = 1,099,044.22 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 64) และทุกวันนี้หลาย ๆ รัฐบาลทั่วโลกประกาศให้การชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีถูกกฎหมาย บริษัทยักษ์ใหญ่และร้านค้าหลายแห่งทั่วโลก ยอมรับการใช้จ่ายด้วยบิตคอยน์ และที่สำคัญคือธนาคารชื่อดังทั่วโลกต่างหันมาศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนกันมากขึ้น เเละพยายามเชื่อมโยงการบริการในโลกคู่ขนานนี้เข้าหากัน เพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพการทำงานให้กับระบบของธนาคาร กลับมามีความน่าเชื่อถือดังเดิม


NICOLAS ASFOURI / AFP

ส่องธุรกรรมทางการเงินในโลก DeFi ความเป็นไปได้ใหม่ คู่ขนานกับโลกการเงินดั้งเดิม
“ดีไฟน์” (Decentralized Finance: DeFi) ใช้เรียกระบบการเงินแบบกระจายศูนย์อำนาจที่ไม่พึ่งพาตัวกลาง ไม่ต้องมีผู้กำกับดูแล เป็นการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมสินทรัพย์ของตนเองได้โดยตรง รวมถึงเป็นระบบที่เปิดกว้างให้ทุก ๆ คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเงิน สร้างความโปร่งใส มีต้นทุนต่ำ เทคโนโลยีพื้นฐานที่รองรับ DeFi อย่าง บล็อกเชนได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง “อีเธอเรียม” (Ethereum) โดยแพลตฟอร์มของอีเธอเรียมนั้น มีแนวคิดพื้นฐานที่จะพัฒนาไปสู่การป็น World Computer โดยอนุญาตให้ใครก็ตามสามารถพัฒนา Decentralized Application, Smart Contract หรือแม้กระทั่งสร้างเหรียญ (Token) ได้ด้วยตัวเอง 

ปัจจุบันนักพัฒนาต่อยอดให้ DeFi ทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนกับที่ธนาคารทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสินทรัพย์ กู้ยืม ค้ำประกัน แลกเปลี่ยน หรือ โอนทรัพย์สิน เป็นต้น โดยตัวอย่างการทำธุรกรรมในโลก DeFi ที่น่าสนใจ เช่น

  • Asset Tokenization การแปลงสินทรัพย์ปกติเป็นโทเคน ก็คือการเอาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ทองคำ โฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือแม้แต่งานศิลปะ มาแปลงเป็นโทเคนที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสามารถใช้อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์นั้น ๆ ได้ สามารถกำหนดประเภทของโทเคนได้ตามคุณสมบัติ โดยเลือกได้ว่าจะออกโทเคนในรูปแบบใด เช่น ออกโทเคนที่ทุกเหรียญมีลักษณะเหมือนกัน ใช้ทดแทนกันได้ เรียกว่าโทเคน ERC-20 สำหรับใช้ในการระดมทุน  หรือออกโทเคนที่แต่ละเหรียญมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เรียกว่าโทเคน ERC-721 สำหรับนำมาใช้กับสินทรัพย์ที่มีชิ้นเดียว ป้องกันการปลอมแปลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ผลงานศิลปะ หรือแม้แต่พระเครื่อง เป็นต้น

  • Stablecoins คือเหรียญอีกรูปแบบหนึ่งในจักรวาลของคริปโตเคอร์เรนซี โดยใช้บล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของราคา โดยที่แต่ละเหรียญจะมีการอ้างอิงกับสินทรัพย์บางประเภท เพื่อให้ราคาคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก และไม่เปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด ในวงการเทรดเดอร์มักใช้ประโยชน์จาก Stablecoins ไว้เป็นที่พักเงินในช่วงที่ตลาดผันผวน Stablecoins แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) Fiat Backed Stablecoins การผูกค่าเหรียญกับเงินตราต่างประเทศ (2) Asset Backed Stablecoins การผูกค่าเหรียญกับสินทรัพย์มีมูลค่าต่าง ๆ เช่น ทอง น้ำมัน หรือเพชร และ (3) Algorithmic Stablecoins เหรียญที่ถูกพัฒนาขึ้นเอง ไม่ได้อิงมูลค่ากับสินทรัพย์ใด ๆ

  • Decentralized Exchanges หรือ DEXs ตลาดแลกเปลี่ยนแบบไร้ตัวกลาง เป็นแพลตฟอร์มเพื่อทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ระหว่างผู้ใช้โดยตรงแบบ P2P (Peer-to-Peer) ที่ไม่จำกัดจำนวนการโอนเหรียญ และไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม อาทิเช่น Uniswap, Kyber และ Kulap

  • Lending Platforms คือแพลตฟอร์มบน DeFi ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถฝากหรือกู้ยืมเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ โดยจะใช้สินทรัพย์ประเภทเงินดิจิทัลเป็นสิ่งค้ำประกัน (จำนวนค้ำต้องมากกว่ากู้) และมีระบบ Smart Contract คอยจัดการธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยและผู้ปล่อยกู้ก็สามารถได้ดอกเบี้ยที่ผู้กู้จ่าย ระบบนี้จะคล้ายกับโรงรับจำนำที่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์หนึ่งเป็นอีกแบบหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น Compound นอกจากนี้ยังมี MakerDAO ที่เป็น Lending Platform แบบหนึ่ง ที่ผู้กู้จะได้เหรียญ Dai เป็น Stablecoin ซึ่งจะมีมูลค่าคงที่อยู่ที่ 1 Dai = 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผูกมูลค่ากับสกุลเงินดิจิทัล ผู้กู้สามารถนำเหรียญ Dai ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่น ๆ ต่อไปได้ การมาของ Dai ทำให้เกิดแนวคิดของการสร้าง Virtual Asset ที่รองรับด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่จริงอ้างอิง

  • Crypto Derivatives หรือ การซื้อขายเหรียญดิจิทัลบนตลาดอนุพันธ์ ตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivative เป็นตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการบริหารความเสี่ยง (Risk Management, Hedging) หรือเก็งกำไร (Speculative) โดยตราสารอนุพันธ์ที่เป็นที่นิยมในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี มีอยู่แบบเดียว คือ ตลาด Futures หรือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) ตลาดการซื้อขายดังกล่าวเป็นการซื้อขายสัญญา ซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคลหรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ 

ธุรกรรมบน DeFi ที่นำมาอธิบายนั้น เป็นการนำเสนอบริการทางการเงินในโลกดิจิทัลที่คล้ายคลึงกับการบริการของสถาบันการเงินแบบรวมศูนย์ดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาแทน ความนิยมของ DeFi และการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาจวัดได้จากมูลค่าของตลาดที่เกิดขึ้น ข้อมูลจาก defipulse.com พบว่ามูลค่าของตลาด DeFi วัดจาก Total Value Locked (TVL) หรือ มูลค่ารวมที่ถูกล็อกไว้บนแพลตฟอร์มของ DeFi คิดเป็น 51.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.63 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบย้อนกลับไปในปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 การลงทุนใน DeFi ยังกระจุกตัวอยู่แค่เพียงบางกลุ่ม ในเวลานั้นมีมูลค่าตลาดเพียง 700-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ข้อมูลนี้ช่วยตอกย้ำว่า DeFi ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป 

NFT for Creators: A New Hope
ตลาดขายศิลปะดิจิทัลไม่เคยคึกคักเท่านี้มาก่อน NFT หรือ Non-Fungible Token คือเบื้องหลังความป็อปในขณะนี้ NFT เป็นเหรียญดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ โดยในแต่ละเหรียญจะมีความแตกต่าง มีมูลค่าที่ไม่เท่ากัน สามารถอ้างสิทธิ์และพิสูจน์ความเป็น “เจ้าของ” ชิ้นงานศิลปะดิจิทัลได้ เนื่องจากถูกสร้างและจัดเก็บในรูปแบบมาตรฐานข้อมูล ERC-721 บน Ethereum Blockchain ด้วยเหตุนี้ NFT จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มสินค้าที่เป็นของหายากหรือมีจำนวนจำกัดอย่างเช่น ศิลปะและของสะสม 

  • NFT ดึงดูดความสนใจของศิลปินในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการซื้อง่ายขายคล่อง และกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน โดยปัจจุบันเกิด NFT Marketplace เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และตลาดเหล่านั้นก็มีความหลากหลาย ดึงดูดศิลปินหรือนักสะสมให้เลือก Mint (สร้าง) และ Listing (ขาย) ผลงานได้ตามจริต

  • NFT ช่วยลดปัญหาในการตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของชิ้นงานศิลปะได้โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง เพราะสามารถอ้างสิทธิ์และพิสูจน์ได้ด้วยการตรวจสอบรหัสที่กำกับไว้กับทุกผลงานศิลปะที่แปลงเป็น NFT จึงช่วยรับประกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับศิลปินและผู้อุปถัมภ์ผลงานศิลปะ

  • การแชร์ผลงานศิลปะดิจิทัลให้เป็นที่รู้จักกับคนในวงกว้าง กลายเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคย ศิลปินมีอิสระในการเผยแพร่เนื้อหาให้กับผู้สนับสนุนและแฟน ๆ โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกควบคุม รวมไปถึงสามารถติดตามผลงานของตนเองได้ว่าตกไปอยู่ในมือของใคร และมีโอกาสที่จะได้ติดต่อแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างฐานแฟนของผลงานให้เหนียวแน่นขึ้น

  • รายรับจากผลงาน NFT นอกจากศิลปินจะได้รับเงินจากการขายชิ้นงานในครั้งแรกแล้ว เนื่องจากพื้นฐานของ NFT คือสินทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ศิลปินจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าสิทธิ์ (Royalty Fee) จากการขายต่องานในแต่ละครั้งได้ต่อเนื่อง 

ในอนาคต NFT จะเป็นประโยชน์กับหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรค์ ทั้งเกม ดนตรี ภาพยนตร์ และอื่น ๆ ไม่มีขอบเขตจำกัดหากจินตนาการของศิลปินไปถึง ตลาดนี้ยังเปิดกว้างให้กับหลากหลายผลิตภัณฑ์หรือบริการอีกมาก เพียงศิลปินกล้าที่จะแตกต่าง คิดรูปแบบการวางตลาดที่ไม่เหมือนกับขนบเดิม ก็อาจจุดกระแสใหม่ ๆ ให้กับวงการ NFT ได้ไม่ยาก

NFT กับภาวะฟองสบู่ 
หากเกาะติดข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวง NFT อย่างใกล้ชิด เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่การเกิดขึ้นของ NFT ในยุคแรกเมื่อปี 2017 จนถึงปัจจุบันปี 2021 จะพบว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงมาก เมื่อพิจารณาในแง่ของราคาขายผลงานศิลปะดิจิทัลที่โด่งดังติด Top 5 ตลอดกาลอย่าง CryptoPunk ตัวอย่างผลงานรหัส #7804 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 7.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ไฟล์ดิจิทัล จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเก็งกำไรมองว่า NFT กำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ ด้วยราคาที่เหลือเชื่อที่จ่ายให้กับงานดิจิทัลเหล่านั้น นักลงทุนส่วนใหญ่จ้องจะปั่นราคาเพื่อหวังที่จะสร้างความมั่งคั่ง มากกว่าจะจับจองด้วยความชื่นชอบในผลงาน หรือเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์จริง

NFT + DeFi อาจเป็นทางออก ด้วยการส่งเสริมให้การถือครอง NFT ถูกนำไปสร้างประโยชน์มากกว่าการเทรดเพื่อทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว โดยการใช้ NFT เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับตลาดศิลปะ โดยปกติตลาดศิลปะทั้งแบบกายภาพและดิจิทัล การซื้อขายอาจไม่ได้คล่องตัวมากนัก นักสะสมบางคนที่ต้องการเงินลงทุนเพื่อเก็งกำไรในผลงานชิ้นใหม่ ๆ ก็มักจะนำผลงานศิลปะไปค้ำประกันกับสถาบันการเงิน ในกรอบเดียวกันนี้ DeFi และ NFT สามารถทำเรื่องนี้ให้ง่ายขึ้นได้ โดยลดขั้นตอนในการประเมินและตรวจสอบ เพราะทุกชิ้นงาน NFT ก็คือเหรียญที่มีมูลค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ตัวกลางใด ๆ มาประเมินให้ ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัพให้บริการในลักษณะนี้แล้ว เช่น NFTfi (nftfi.com) ให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ถือสิทธิ์ในสินทรัพย์ NFT โดยการวางสินทรัพย์ NFT เป็นหลักประกันเงินกู้ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้รายอื่น ๆ ที่สนใจในผลงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ เสนอเงินกู้ และเมื่อทำข้อตกลงกันได้แล้ว ผลงาน NFT จะถูกล็อกในระบบ และจะถูกโอนกลับคืนแก่ผู้กู้เมื่อชำระเงินกู้หมดแล้วตามสัญญา

ตามรอบการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์โลก มีหลายคนเชื่อว่าการปฏิวัติระบบการเงินโลกครั้งใหญ่ ๆ จะเกิดขึ้นในทุก 50 ปี หากสถิตินี้กลายเป็นเรื่องจริง หรือบังเอิญเกิดขึ้น ปี 2021 ก็ถือเป็นการครบปีที่ 50 นับจากเหตุการณ์ “Nixon Shock” ที่เกิดขึ้นในปี 1971 แต่เชื่อเหลือเกินว่าการปฏิวัติระบบการเงินในรอบนี้จะไม่เหมือนกับอดีตที่เป็นมา เพราะโลกของคริปโตเคอร์เรนซีและ DeFi เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ คนกว่าครึ่งโลกยังไม่เข้าใจและใช้มันอย่างสนิทใจ ทำให้มันยังคงเดินคู่ขนานไปกับระบบการเงินแบบรวมศูนย์ดั้งเดิม พวกเราคงต้องอยู่ให้ทันรอบการปฏิวัติในอีก 50 ปีข้างหน้า แล้วย้อนกลับมาคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ในปีนี้อีกครั้ง จึงอาจจะเห็นโลกของ DeFi ที่มาแทนที่ CeFi โดยสมบูรณ์ 

 

 

ที่มา : 
บทความ “การซื้อขายเหรียญ Bitcoin บนตลาดอนุพันธ์คืออะไร” โดย Jiraboon จาก siamblockchain.com
บทความ “ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร? I เงินล้านไม่ยาก หากรู้จัก สินทรัพย์ทางการเงิน (ตอนที่ 4)” โดย Investment Reader จาก finnomena.com
บทความ “แนะลุยต่อยอด ‘เป๋าตัง’ สู่ซูเปอร์แอพแห่งชาติ” จาก thansettakij.com
บทความ “รู้จักเทคโนโลยี Defi บริการเงินยุคใหม่บนโลกออนไลน์” โดย Krungsri Plearn จาก krungsri.com 
บทความ “สามเส้าที่เข้ากันไม่ได้...ในโลกการเงินไร้ตัวกลาง” จาก bot.or.th 
บทความ “สำรวจโมเดล Cashless Society ของต่างประเทศ” โดย Krungsri Guru จาก krungsri.com 
บทความ “ห้าอันดับแรก DeFi Trends สำหรับปี 2021” จาก moonstats.com 
บทความ “เหตุผลที่ Bitcoin ทะลุ $1,000 อธิบาย Cryptocurrency ในแง่มุมเศรษฐศาสตร์” โดย Ran Pravithana จาก finnomena.com 
บทความ “DeFi คืออะไร? ทำความรู้จักกับโลกการเงิน ที่ไม่ต้องพึ่งธนาคาร” จาก bitcoinaddict.org 
บทความ “DeFi 101 ทำความเข้าใจสินทรัพย์สังเคราะห์หรือ Synthetic Asset สกุลเงินดิจิทัลที่ไม่สามารถถูกหยุดยั้งได้” โดย Techsauce Team จาก techsauce.co 
บทความ “Ethereum คืออะไร? ทำความ รู้จัก Blockchain ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก” จาก bitcoinaddict.org 
บทความ “Evolution of Money (วิวัฒนาการของเงิน)” โดย Chawakorn Lertrungsi จาก medium.com 
บทความ “Stable Coin กลไกสำคัญของ DEFI” โดย วรพจน์ ธาราศิริสกุล จาก efinancethai.com 
บทความ “Stablecoin หรือ USDT คืออะไร ทำความรู้จักกับเหรียญสกุลเงิน Fiat ของโลกดิจิทัล” จาก bitcoinaddict.org

เรื่อง : อินทรพิทักษ์ เจริญรัตน์