NFTs ตลาดศิลปะที่คนทั้งโลกเข้าร่วมได้
Technology & Innovation

NFTs ตลาดศิลปะที่คนทั้งโลกเข้าร่วมได้

  • 04 Jul 2021
  • 3021

ข่าวร้อนแรงที่สั่นสะเทือนวงการตลาดซื้อขายงานศิลปะเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ตามรายงานข่าวของ CNN ก็คือการที่ภาพศิลปะดิจิทัลชื่อ “Everydays: The First 5,000 Days” ของไมก์ โจเซฟ วินเคลแมนน์ (Mike Joseph Winkelmann) หรือชื่อในแวดวงศิลปะดิจิทัลคือ Beeple ถูกประมูลขายในรูปแบบ NFT ไปเป็นมูลค่าถึง 69,346,250 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.24 พันล้านบาท) จนสร้างสถิติใหม่เป็นผลงานประมูลจากศิลปินที่มีชีวิตอยู่ที่ราคาแพงที่สุดในโลก และจากนั้นก็มีข่าวการขายภาพดิจิทัลในรูปแบบ NFT อีกเป็นระยะ อาทิ ภาพไอคอนพิกเซลรูปคนสูบไปป์ “CryptoPunk #7804” ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ CryptoPunks ของแมตต์ ฮอลล์ (Matt Hall) และจอห์น วัตกินสัน (John Watkinson) ที่ถูกประมูลไปได้ในราคาสูงถึง 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ผลงาน “The Pixel” ของ Pak ศิลปินแนวดิจิทัลชั้นแนวหน้าผู้ไม่เคยเปิดเผยตัวตน และแม้ผลงานชิ้นนี้จะประกอบด้วยสีเทาเพียงเฉดเดียว แต่ก็ถูกประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง 16.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  

ตามข้อมูลของ NonFungible.com ประเมินว่า ปี 2020 ตลาด NFT มีการเติบโตสูงถึง 299% และมีมูลค่าการซื้อขายถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ NFT ได้จุดประกายตลาดซื้อขายศิลปะ ที่ทั้งศิลปิน นักสะสม และนักลงทุน ต่างหันมาจับจ้องอย่างตื่นเต้นราวกับยุคตื่นบิตคอยน์ 

ทั้งที่แต่แรกที่มีระบบบล็อกเชน และ DeFi ที่เป็นสองระบบตั้งต้นซึ่งทำให้เกิดตลาด NFT ขึ้นนั้น ก็มีการสันนิษฐานว่าจะเกิดการดิสรัปต์อย่างรุนแรงต่อตลาดประมูลซื้อขายศิลปะชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินหรือไม่ แต่หากย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า การประมูลงาน NFT ที่มีมูลค่าสูงนั้นมักจะอยู่ภายใต้การดูแลของ “บริษัทผู้ให้บริการประมูล (Auction House)” อย่าง Christie’s และSotheby’s สองบริษัทให้บริการประมูลรายใหญ่และเก่าแก่ของโลก แต่เหตุใดที่ทั้งสองบริษัทตัดสินใจเข้ามาร่วมเล่นในตลาด NFT และต่อจากนี้รูปแบบการซื้อขายงานศิลปะจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด


©sothebys.com

มองภาพความยิ่งใหญ่ของโลกซื้อขายงานศิลปะ
ก่อนที่จะก้าวสู่อนาคต เราคงต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมของตลาดศิลปะเสียก่อน ซึ่งโดยรวมแล้วหัวใจสำคัญของตลาดศิลปะจะประกอบด้วยศิลปิน บริษัทให้บริการประมูล แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ สถาบัน หรือสถานศึกษาศิลปะ สื่อมวลชน และนักสะสม (Lubytė, 2007) ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบนั้น ก็สามารถแตกแยกย่อยไปได้อีกหลายหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กระทรวงต่าง ๆ ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดการสถานที่ ดังนั้นตลาดศิลปะจึงไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปิน ผลงาน และผู้ซื้อเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนโลกธุรกิจอีกใบที่บรรจุแน่นด้วยอาชีพและเม็ดเงินมหาศาลซึ่งหมุนเวียนถ่ายเทอยู่ภายในนั้น 

ในปี 2020 ช่วงที่ทั่วโลกต้องประสบปัญหาความยากลำบากจากโควิด-19 มูลค่ารวมในตลาดศิลปะแม้จะลดลงจากปี 2019 แต่ก็ยังมีเงินหมุนเวียนสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญที่ขับเคลื่อนให้มูลค่ารวมของวงการงานศิลปะสะพัดได้อย่างต่อเนื่อง ก็คือบรรดาบริษัทให้บริการประมูล ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนของ Auction Art Market หรือตลาดประมูลงานศิลปะอย่างเดียวก็มีเงินหมุนเวียนแล้วถึง 7.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ถึงอย่างนั้นเมื่อดูจากตัวเลขแล้ว ตลาด NFT ยังคงเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้ร่มเงาถุงเงินขนาดยักษ์ แต่เหตุที่บริษัทให้บริการประมูลที่ใหญ่และเก่าแก่ทั้งสองแห่ง (และอีกมากมายที่กำลังจะมาร่วมลงในตลาด NFT) สนใจในกระแสศิลปะดิจิทัลนี้ แมกซ์ มัวร์ (Max Moore) หัวหน้าฝ่ายขายงานศิลปะร่วมสมัยของ Sotheby’s ในนิวยอร์ก ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แม้ผลตอบแทนทางเม็ดเงินจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ความสำเร็จในการขายที่แท้จริงต้องขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมด้วย ด้วยสื่อที่ใหม่และศิลปินหน้าใหม่จะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ในตลาดที่มีอายุน้อยได้มากกว่า


©Artur Matosyan/unsplash.com

NFT คืออะไร แล้วทำไมข้อมูลดิจิทัลถึงมีมูลค่าได้มากขนาดนี้   
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการนักสะสมหรือคลุกคลีกับงานศิลปะ เมื่ออ่านรายงานข่าวภาพศิลปะดิจิทัล คลิปไวรัล หรือมีม (meme) ต่าง ๆ ที่แชร์กันโลกโซเชียลที่ดูไร้ราคาและจับต้องไม่ได้เลยในโลกความเป็นจริง ถูกประมูลซื้อขายกันในราคาที่สูงลิบ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ผู้คนบนโลกเสียสติกันไปแล้วหรือเปล่า หรือ NFT เป็นการพนัน คล้ายวงแชร์ที่คนลุกช้าจ่ายรอบวงหรือไม่ แต่ถ้ามองกันให้ดี ๆ ภายใต้การนำเสนอข่าวที่เน้นสร้างสีสันและความฮือฮาของตัวเลขซื้อขายนั้น ก็คือความจริงจังของศิลปินและความรักจริงของบรรดานักสะสมแฟนพันธุ์แท้ ไม่ต่างจากตลาดซื้อขายการ์ดสะสมนักเบสบอลของสหรัฐอเมริกา หรือการ์ดยูกิโอของญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลบนความหลงใหลเดียวคือ “ของมันต้องมี” และ “สิ่งนี้มีเฉพาะแค่หนึ่งเดียว” 

จุดเริ่มต้นของ NFT เกิดจากเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นระบบดิจิทัลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ว่าใครสร้าง มีใครถือครองบ้าง มีการซื้อขายอย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนโฉนดที่มีการการันตีด้วยตัวระบบเอง และ (ยัง)ไม่มีใครสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นได้ ด้วยระบบนี้ จึงเปลี่ยนระบบดิจิทัลเดิมที่รวมศูนย์กลางไปเป็นการกระจายศูนย์ และเกิดเป็นการพัฒนาและแตกยอดไปได้ทั้งคริปโตเคอร์เรนซี Defi และ NFT

NFT หรือ Non-fungible Token คือข้อมูลที่ทดแทนค่าไม่ได้ หากจะทำความเข้าใจในระบบนี้ คงต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจข้อมูลแบบ Fungible Token หรือสิ่งที่แทนค่าได้ เสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น ธนบัตร 100 บาท เราจะหยิบแลกของใครมา มูลค่าที่เราถือก็คือ 100 บาทเหมือนเดิม สกุลเงินต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งเงินดิจิทัลในระบบคริปโตเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ อีเธอเรียม หรือไบแนนซ์ ก็อยู่ในกลุ่มของ Fungible Token เช่นกัน


©Pepi Stojanovski/unsplash.com

ส่วน Non-Fungible Token นั้นจะเป็นข้อมูลที่จำเพาะมาก เช่น ธนบัตร 100 บาท ที่มีหมายเลข A00096  มีลายเซ็นของรัฐมนตรีการคลังคนนี้ พร้อมทั้งมีโน้ตเขียนข้อความเอาไว้ ดังนั้นทุกสิ่งที่สร้างด้วยระบบ NFT จึงมีเอกลักษณ์และมีเพียงหนึ่งเดียว หากไฟล์ถูกทำลายทิ้งก็เท่ากับศูนย์ ไม่สามารถกู้คืนหรือทำซ้ำได้อีกต่อไป ข้อมูลของ NFT จึงมีความคล้ายคลึงกับใบโฉนดหรือสินค้าที่มีการจำนวนผลิตจำกัด

อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวของ NFT เพียว ๆ จะเป็นเพียงแค่สมการตัวเลขที่ไม่มีหน้าตา เปรียบเหมือนวิญญาณที่ยังไร้ร่าง ดังนั้นในการผลิตไฟล์ NFT แต่ละครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งรูปลักษณ์ภายนอกที่เฉพาะตัวด้วยเช่นกัน เช่น รูปโมนาลิซ่า หรือคลิปสั้น หรือคลิปมีม หรืออะไรก็ได้บนโลกที่สามารถแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ จากนั้นจึงนำไฟล์ดิจิทัลนั้นไปสร้างข้อมูลให้กระจายออกเป็นโทเคน ใน 1 ไฟล์เราจะกระจายเป็นกี่โทเคนก็ได้ โดยจะอาศัยตามหลักเศรษฐศาสตร์ ของที่ยิ่งมีจำนวนมาก มูลค่าก็จะยิ่งน้อย จากนั้นจึงนำโทเคนของไฟล์ดิจิทัลนั้นไปประมูลแบบเปิดกว้าง ซึ่งในโลกตลาดดิจิทัลจะเรียกสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันเหล่านี้ว่า NFT และซื้อขายกันในขณะนี้ด้วยสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ อย่างอีเธอเรียม และไบแนนซ์

ในวันนี้ตัว NFT ที่ซื้อขายกันจึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งแต่เดิมจะมีเพียงการเทรดเพื่อเก็งกำไรที่ตัวเงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียว จึงเท่ากับว่า การตลาดซื้อขายในโลกดิจิทัลเริ่มมีวงจรแลกเปลี่ยนที่ใกล้สมบูรณ์แบบ และการเกิดตลาดเสมือน (Virtual Market) ก็เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม 

NFTs กำลังนำผู้คนสู่ Virtual Market 
ในภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One (2018) ของผู้กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นเรื่องราวของโลกในปี 2044 ที่ผู้คนต่างใช้ระบบโลกเสมือนหรือ Virtual Reality เราจะเห็นตัวละครจากทุกมุมโลกเข้าถึง “Oasis” หรือโลกจำลองขนาดใหญ่ที่เข้าไปทำกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเล่นเกม ทำธุรกรรม ใช้จ่าย และทำธุรกิจ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังดูเหมือนว่าโลกในภาพยนตร์มีความแฟนตาซีอยู่พอสมควรที่คนทั้งโลกจะโยกย้ายชีวิตไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ เพราะกลไกของตลาดย่อมต้องมีผู้เล่นที่มีจำนวนมากพอและเห็นคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลในทิศทางเดียวกัน ในเวลาที่พร้อมเพรียงกัน อย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นหรือตลาดทองคำ ที่คนทั่วไปมองในคุณค่าของตัวเลขหรือสินแร่ซึ่งเป็นสิ่งสมมติไปในทิศทางการให้คุณค่า (Value) ในจุดเดียวกัน ดังนั้นในปี 2018 มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงประเมินว่า Virtual Market ยังอยู่ในฐานะของตลาดทางเลือก หรืองานอดิเรกสำหรับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

กระทั่งในปี 2020 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการทำธุรกรรมมาสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ตลาดดิจิทัลจึงได้รับอานิสงส์สองเรื่องอย่างชัดเจน หนึ่งคือผู้คนต่างเปิดใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ข้อที่สองคือ การเติบโตของ NFT ที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ 299% ภายในปีเดียว ทำให้ตลาดดิจิทัลเติบโตทั้งด้านการซื้อขายและแลกเปลี่ยน และคนทั่วไปเริ่มเห็นจิ๊กซอว์ของตลาดเสมือนที่ค่อย ๆ เป็นรูปร่างมากขึ้น ทั้งหมดนี้ยิ่งสอดรับกับการตัดสินใจของ Christie’s และ Sotheby’s ที่มองการณ์ไกลและลงทุนอย่างชาญฉลาดในตลาดศิลปะดิจิทัลมาตั้งแต่แรก


ภาพผลงาน “Holy Family” หรือ “Doni Tondo” ณ พิพิธภัณฑ์อุฟฟิซิ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ©Tiziana FABI / AFP

พื้นที่ประมูลศิลปะที่เริ่ดหรูก้าวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
จากความสำเร็จอย่างสูงและความฮือฮาของการประมูลขายงานศิลปะดิจิทัลตั้งแต่ปี 2021 Christie’s และSotheby’s ก็ขับเคี่ยวทุ่มกำลังในการขายผลงานผ่าน NFT อย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Christie’s สามารถประมูลภาพศิลปะดิจิทัลฝีมือ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินแนวป็อปอาร์ตชื่อดัง ซึ่งเขาได้ทำและเซฟไว้ในฟลอปปี ดิสก์ เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 และมาถูกค้นพบในปี 2014 ซึ่งผลงานรูปดิจิทัลของวอร์ฮอลนี้ก็สามารถชนะประมูลที่ 3.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน Sotheby’s ก็รายงานถึงการประมูลขาย “Alien” CryptoPunk#7523 ของแมตต์ ฮอลล์ (Matt Hall) และจอห์น วัตกินสัน (John Watkinson) ที่มูลค่ากว่า 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ บริษัทให้บริการประมูลยักษ์ใหญ่อีกแห่งอย่าง Phillips ก็ได้กระโจนลงมายังตลาด NFT ด้วยเช่นกัน เมือเดือนเมษายนที่ผ่านมา Phillips ได้ประมูลขายศิลปะดิจิทัลที่ชื่อ Mad Dog Jones’ REPLICATOR ของศิลปินชาวแคนาดา ที่มูลค่ามากกว่า 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยชิ้นงานนี้ยังมีความแปลกใหม่ที่ผู้สร้างได้เขียนโค้ดให้ชิ้นงานก็อปปี้ตัวเองได้เหมือนเครื่องถ่ายเอกสารทุก ๆ 28 วัน ซึ่งภาพที่ก็อปปี้ออกมาจะมีตำหนิและความไม่คมชัดแบบแรนดอมราวกับเครื่องถ่ายเอกสารจริง ผลงานชิ้นนี้จึงกลายเป็นที่กล่าวถึงในวงการศิลปะดิจิทัลอย่างมาก ทั้งยังจุดประกายมุมมองของ NFT ที่สามารถก้าวจากกรอบศิลปะเดิม ๆ ไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด

พิพิธภัณฑ์ และแกลเลอรีในกระแส NFTs
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเงินจากภาครัฐ และเงินจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม การขาดเงินหมุนเวียนมาตลอดปี 2020 ทำให้พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีจำเป็นต้องหาเงินสนับสนุนทางใหม่มาทดแทน การนำงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีครอบครองมาแปลงเป็นโทเคน ออกประมูลจึงกลายเป็นทางเลือกในการหารายได้อีกทางหนึ่ง ดังเช่นกรณีของพิพิธภัณฑ์ อุฟฟิซิ (Uffizi) ในเมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลีที่ได้นำภาพศิลปะดั้งเดิมอย่างภาพ Doni Tondo ของไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) มาทำการประมูลที่มูลค่ากว่า 140,000 ยูโร เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานเราก็จะได้เห็นผลงานศิลปะชื่อดังจากพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีอีกมากที่ทยอยมาลงประมูลในตลาด NFT เช่นกัน

ส่วนในประเทศไทยนั้น ศิลปินไทยก็เริ่มมีกระแสตื่นตัวในเชิงคอมมูนิตี มีการรวมกลุ่มสร้างเพจต่าง ๆ อาทิ NFT_Thailand และ NFT and Crypto Art Thailand เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และคอยให้ความช่วยเหลือศิลปินที่สนใจขายผลงานในตลาด NFT ภาพรวมในขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้สร้างผลงาน (Creator) ในสัดส่วนที่สูงกว่านักสะสม (Collector) อยู่มาก อย่างไรก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ตลาด NFT ในไทยจะเติบโตต่อไปได้ โดยศิลปินบางคนมีแนวคิดสร้างสรรค์ในการใช้และการซื้อขาย NFT มาสร้างเป็นการแลกเปลี่ยนในโลกความจริงมากขึ้น เช่น ผู้ที่ใช้ยูเซอร์เนมว่า Dough Dough ที่ทำธุรกิจร้านกาแฟ ได้ตั้งเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนไว้ว่า หากซื้อโทเคนรูปโดนัทของเขา ก็สามารถมาแลกเครื่องดื่มเป็นกาแฟฟรีที่ร้านได้ นับเป็นอีกไอเดียพลิกแพลงที่ผสมผสานมูลค่า NFT ในโลกดิจิทัล มาทำการตลาดในอีกธุรกิจหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ


นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ด้านบล็อกเชน วิฆเนศ สุนทเรเสน (Vignesh Sundaresan) หรือที่รู้จักกันในชื่อ MetaKovan กำลังโชว์ภาพผลงาน NFT ที่ชื่อ “Everydays: The First 5,000 days” ของ Beeple ที่เขาชนะการประมูลมา

ตลาด NFT ประตูแห่งความหวังของศิลปิน 
การเข้าถึงตลาดประมูลขายงานศิลปะที่คนจำนวนมากเห็นได้ง่าย คือโอกาสที่มากขึ้นที่ศิลปินจะได้รับการยอมรับ เพราะหากเป็นศิลปินในอดีต การจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพได้ ขั้นแรกอาจจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันศิลปะ ต้องมีการจัดนิทรรศการหรืองานแสดงผลงานเพื่อดึงดูดเหล่านักสะสม ดังนั้นอำนาจทางการตลาดงานศิลปะแบบเดิมจึงอยู่ในกลุ่มคนของสถาบันศิลปะ หรือเจ้าของแกลเลอรีที่จะกำหนดว่างานนั้น ๆ เข้าเกณฑ์มาตรฐานความงามทางศิลปะหรือไม่ และทำให้ศิลปินบางคนต้องพบกับทางตันในการขายผลงาน 

ตลาด NFT จึงเป็นการสร้างตลาดแบบประชาธิปไตย เมื่อศิลปินสามารถมีช่องทางนำเสนองานให้คนทั้งโลกได้เห็น ขณะเดียวกันคนจากทุกมุมโลกก็จะเป็นผู้กำหนดทิศทางความงามของศิลปะว่าควรจะไปในทิศทางใด ศิลปะดิจิทัลที่ซื้อขายในตลาด NFT หากมองผิวเผิน ก็อาจเห็นเพียงแพลตฟอร์มใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจในการทำเงิน แต่หากมองในอีกมุม NFT ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบความขบถของศิลปิน ที่ครั้งหนึ่งผู้คนในโลกมองว่างานดิจิทัลเป็นสิ่งที่ดูไม่มีราคาเมื่อเทียบกับงานที่ลงฝีแปรงจริง นั่นเพราะแต่เดิมไฟล์ดิจิทัลสามารถสร้าง ก็อปปี้ได้ไม่รู้จบ และยังแชร์ให้ใครต่อใครก็ได้ แต่ในวันนี้ โลกแห่งความสร้างสรรค์กลับทำให้ไฟล์พิกเซลทั่ว ๆ ไปมีราคามากกว่าทองคำ


©Handout / CHRISTIE’S AUCTION HOUSE / AFP

ท้ายที่สุด ทุกความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ตลาด NFT ไม่ใช่ทางลัดที่ส่งให้ศิลปินประสบความสำเร็จได้รวดเร็วเพียงเท่านั้น ศิลปินอย่าง Beeple ไม่ได้กระโดดเข้ามาทำงานศิลปะดิจิทัลแค่ปีสองปี แต่ทำงานด้านนี้มานานนับสิบปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ขยันลงผลงาน จนเป็นที่รู้จัก ความขยัน อดทน มุมานะ มีวินัยในการทำงานสม่ำเสมอ วันละน้อยนิด ก็จะได้ผลมหาศาล โดย Beeple เคยให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังการทำงานภาพ Everydays: The First 5,000 Days ที่เขาลงมือสร้างผลงานภาพดิจิทัลทุกวัน วันละรูป เป็นเวลานานกว่า 13 ปี ไว้ว่า จุดประสงค์ตั้งต้นเขาไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวเงิน หากเกิดจากแรงบันดาลใจในการพัฒนาฝีมือของตนเองและความภูมิใจที่ทำตามเป้าหมายที่ตัวเองเคยวางไว้ที่จะสร้างรูปวันละรูปทุกวันได้สำเร็จ จนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นเจ้าของภาพประมูลดิจิทัลที่ล้ำค่าที่สุดในเวลานี้ ขณะเดียวกันนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ด้านบล็อกเชน วิฆเนศ สุนทเรเสน (Vignesh Sundaresan) หรือที่รู้จักกันในชื่อ MetaKovan ที่ชนะประมูลงาน Beeple ไปในราคากว่า 69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์เน้นย้ำว่า จำนวนเงินสำหรับภาพดิจิทัลครั้งนี้คุ้มค่า และหากย้อนเวลากลับไปต้องจ่ายมากกว่านี้ก็ยอม เพราะสิ่งที่เขาซื้อมานั้นไม่ใช่แค่ภาพ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลาถึง 13 ปีในการสร้างขึ้นมา

ที่มาภาพเปิด : TIMOTHY A. CLARY/AFP

ที่มา : 
บทความ “Money Isn’t the Only Reason Auction House Are Jumping On NFTs” โดย James Tarmy จาก bloomberg.com
บทความ “NFTs and Museums : a match made in Blockchain heaven” โดย Stepheer Fans จาก cointribune.com
บทความ “NFTs Are the Hot Craze in the Art World. Why Auction House Christie’s Jumped Into This Wild Market” โดย Avi Salzman จาก barrons.com
บทความ “What are NFTs and why are some worth millions?” จาก bbc.com 
บทความ “MDJxPhillips : A Multi-Generational NFT” จาก phillps.com 
บทความ “We talked with Beeple about how NFT mania led to his $69 million art sale” โดย Joel Stonington และ Kevin Reilly จาก businessinsider.com 
บทความ “Crypto investor who bought Beeple’s NFT for $69 million says he would have paid even more โดย Robert Frank จาก cnbc.com

เรื่อง : อภิชญ์ บุศยศิริ