โลกคู่ขนานทางการเงิน
Technology & Innovation

โลกคู่ขนานทางการเงิน

  • 06 Jul 2021
  • 1063

แม้ว่าตลาดเงินดิจิทัลจะเจอมรสุมหลายระลอกจนค่าเงินร่วงระนาว ทั้งจากการปฏิเสธของ อีลอน มัสก์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ด้วยเหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อม และการแบนอย่างจริงจังของรัฐบาลจีน  ตั้งแต่การห้ามใช้เหรียญดิจิทัลแทนเงินสด ห้ามสร้างเหรียญขึ้นใหม่ ห้ามสถาบันการเงินซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน ไปจนถึงการไล่ปิดแอกเคานต์ของกลุ่มนักสื่อสารผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) ใน Weibo ที่พูดถึงประเด็นคริปโตเคอร์เรนซี และล่าสุดยังมีการสั่งปิดเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเงินคริปโตฯ ที่ใช้ซื้อขายกันในโลกถึงร้อยละ 80 ตามมาด้วยรัฐบาลอังกฤษที่สั่งให้ Binance แอพฯ เทรดคริปโตเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลกยกเลิกการให้บริการทันที พร้อมห้ามโฆษณาในประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นผู้คนในแวดวงสกุลเงินดิจิทัลก็ไม่ได้สิ้นหวังหดหู่ เพราะรากฐานการเกิดของเงินสกุลนี้ได้ปลดล็อกประตูให้นักสร้างสรรค์เกมการเงินจากทั่วโลกสามารถกระโดดเข้ามามีบทบาทเสมือนเป็นธนาคารกลางของสกุลเงินตัวเองได้  

ภายใต้แนวคิด DeFi หรือ Decentralized Finance ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างเช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร รวมถึงธนาคารกลางที่ดูแลปริมาณเงินในระบบ โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะที่มาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางได้โดยอัตโนมัติ ด้วยระบบนี้จึงทำให้เกิดคริปโตเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ ที่ใช้ทำธุรกรรมขึ้นที่ใดก็ได้ในโลก ดังนั้นเมื่อจีนปิดไม่ให้มีการขุดบิตคอยน์ นักขุดเหมืองอาจจะช็อกไปบ้าง แต่หลังจากนั้นก็แค่เก็บข้าวของย้ายไปขุดเหมืองที่อื่น พร้อมกับเดินหน้านวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลใหม่ ๆ จำนวนมาก อย่างที่เกิดขึ้นแล้วและเป็นประโยชน์สำหรับนักสร้างสรรค์ก็เช่น ตลาด Non- Fungible Token หรือ NFT ที่เปิดให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น งานศิลปะ ดนตรี ของสะสม มาแลกเป็นเหรียญดิจิทัล ซึ่งช่วยให้ศิลปินได้ต่อยอดไปเป็นความสร้างสรรค์พิเศษเฉพาะของตนเอง อีกทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หรือปลอมแปลงผลงานได้ดียิ่งขึ้น 

ในอีกทางหนึ่ง นวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลที่พัฒนาขึ้น ก็เหมือนกับโลกการเงินที่เราคุ้นเคย การโจมตีค่าเงินบาทเพื่อทำกำไรของจอร์จ โซรอส หรือการทำ Short Sell1 ในตลาดหุ้นที่ไม่แตกต่างจากกรณี Flash Loan ที่นักเก็งกำไรสามารถกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกันจากตลาดหนึ่งเพื่อมาซื้อขายกินส่วนต่างมูลค่าอีกตลาดหนึ่งภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งใครก็ตามที่มี Smart Contract ก็สามารถกู้มาทำได้เช่นกัน จึงทำให้เกิด Flash Loan Attack ที่ทำให้เกิดความเสียหายในหลายแพลตฟอร์มเป็นมูลค่าสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการป้องกัน อย่างเช่นการตรวจสอบความเสี่ยงของแพลตฟอร์มเพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุน และน่าจะมีการต่อยอดไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น หรือช่วยค้ำประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไม่สิ้นสุด 

เพราะเมื่อเงินดิจิทัลนั้นเริ่มเข้าสู่กระแสเลือดแห่งการทำธุรกรรม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงบางส่วน แต่ภายใต้ระบบที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเล่นบทบาทเป็นสถาบันการเงิน เป็นนายธนาคารกลางที่พิมพ์เหรียญเองได้ หรือเป็นนักเก็งกำไรที่มองเห็นโอกาส การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และช่องทางเพื่อให้เงินดิจิทัลงอกเงยก็เพิ่มมากขึ้นไม่แพ้โลกของเงินกระดาษ หรือที่เรียกว่า สกุลเงินเฟียต (Fiat Currency) ที่กำหนดให้ใช้ได้ตามข้อกำหนดของรัฐบาลหรือกฎหมาย อันเป็นระบบการเงินอีกขั้วของ DeFi แต่ทว่าเงินจากทั้งสองโลกต่างผูกติดกับธรรมชาติของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นความฝันในการสร้างความมั่งคั่ง ความยินดีจากผลกำไรและหวาดวิตกจากความไม่แน่นอน รวมถึงความต้องการมีหลักประกัน ซึ่งคาถาในการป้องกันที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการทำความเข้าใจว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ต้องศึกษาและทำความเข้าใจก่อนการลงทุนเช่นกัน 

1การทำกำไรในช่วงที่ประเมินว่าหุ้นตัวหนึ่ง ๆ จะปรับตัวลง โดยต้องทำการยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์มาก่อนเพื่อทำการขายออก จากนั้นจึงซื้อหุ้นตัวดังกล่าวกลับคืนมาในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อรับผลต่างเป็นกำไร

ที่มาภาพ : Kenzo TRIBOUILLARD / AFP

มนฑิณี ยงวิกุล
บรรณาธิการอำนวยการ