“นักขุด” ปะทะ “นักตีเหล็ก” กับศึกสิ่งแวดล้อมในโลกคริปโต
Technology & Innovation

“นักขุด” ปะทะ “นักตีเหล็ก” กับศึกสิ่งแวดล้อมในโลกคริปโต

  • 06 Jul 2021
  • 1118

เมื่อเจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ ประกาศกร้าวลงทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะไม่รับบิตคอยน์ในการทำธุรกรรมกับบริษัท Tesla โดยให้เหตุผลว่าการใช้จ่ายบิตคอยน์กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงทำให้ตลาดคริปโตสวิงและราคาสกุลบิตคอยน์ตกฮวบ แต่ยังทำให้หลายคนได้กลับมามองถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขุดบิตคอยน์ แม้แต่ บิล เกตส์ นักธุรกิจชื่อดังผู้ก่อตั้ง Microsoft ที่ผันตัวมาทำงานสายสิ่งแวดล้อมก็ยังออกมายืนยันอีกเสียงว่าการขุดบิตคอยน์มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นจริง 

เว็บไซต์ digiconomist.net ระบุว่า การทำธุรกรรมบิตคอยน์เพียงครั้งเดียวใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยกว่า 55 วัน คือ 1,612.30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) แถมคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ปล่อยออกมากว่า 765.84 กิโลคาร์บอนยังเทียบเท่ากับการชำระเงินด้วยบัตรวีซ่ากว่า 1,697,368 ครั้ง หรือเท่ากับการดูยูทูบถึง 127,640 ชั่วโมงทีเดียว

ทว่าสิ่งที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานของบิตคอยน์มิใช่การใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนที่หลายคนอาจเข้าใจ แต่คือระบบการทำงาน นั่นแปลว่าไม่ใช่เหรียญดิจิทัลทุกสกุลจะกินพลังงานมากไปเสียทั้งหมด 

สกุลเงินต้นตำรับอย่างบิตคอยน์ใช้ระบบอัลกอริธึมฉันทามติ (Consensus Algorithm)1 ประเภท Proof of Work หรือ PoW ที่หมายถึงการพิสูจน์ด้วยการลงแรง ซึ่งจะมี “นักขุด” (Miner) ที่ต้องแข่งกันแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิยืนยันการทำธุรกรรมในชุดนั้น ๆ ในแต่ละครั้ง (นักขุดคนแรกที่แก้สมการได้เท่านั้นจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญดิจิทัลไป) ตรงนี้แหละที่ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาล เพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์สเปกแรงนับร้อยเครื่องในการแก้สมการอันยุ่งยากต่อการขุดบิตคอยน์เพียง 1 เหรียญ

แต่นอกจาก PoW แล้ว ประเภทยอดฮิตรองลงมาก็คือการพิสูจน์ด้วยกำลังทรัพย์ (Proof of Stake หรือ PoS) ที่แม้ปลายทางจะเหมือนกัน แต่ขั้นตอนนั้นแตกต่าง ระบบนี้ไม่ได้ใช้นักขุด แต่มีผู้ยืนยันเข้ามาแทน (Validator) หรือที่เรียกว่า “นักตีเหล็ก” เพราะจำนวณเหรียญดิจิทัลจะถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งต้องอาศัยการวางเหรียญเดิมพันในระบบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ พูดง่าย ๆ คือ ความร่ำรวยของผู้ถือเหรียญจะเป็นตัวกำหนดการสิทธิว่าใครจะเป็นนักตีเหล็กคนต่อไปในการยืนยันการทำธุรกรรม (ยิ่งลงเงินมาก ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นนักตีเหล็กสูง เพราะอัลกอริธึมใช้ระบบสุ่ม) และเมื่อไม่มีการแข่งกันขุดก็จะไม่มีรางวัลสำหรับการขุดด้วย แต่รางวัลจะมาในรูปแบบค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเหรียญแทน 

การที่ระบบ PoS ไม่ต้องขุดหาเหรียญจะช่วยให้การซื้อขายใช้พลังงานน้อยกว่าการใช้ระบบ PoW เหมือนกับที่อีเธอเรียม (Ethereum) สกุลเงินที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสองกำลังเตรียมตัวเปลี่ยนจากระบบ PoW มาเป็น PoS เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาใหญ่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเงินดิจิทัลใหม่ ๆ หลายสกุลก็เกิดมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เช่น โซลาร์คอยน์ (SolarCoin: SLR) ที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจนและสร้างเหรียญจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือบิตกรีน (BitGreen: BITG) เหรียญที่สนับสนุนการกระทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้บริการทางเดียวกันไปด้วยกัน (Carpool) หรือซื้อกาแฟที่มาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน เป็นต้น 

แม้ว่าระบบการเงินจะต้องอิง “ความน่าเชื่อถือ” เป็นสำคัญ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมา เพราะหากสาวไปถึงสกุลเงินอย่างเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร จนมาถึงเหรียญดิจิทัลในปัจจุบัน ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตทั้งสิ้น ดังนั้นการทำอาชีพ “นักขุด” ในระบบ PoW ที่มีความมั่นคงและปลอดภัยก็อาจจะแพ้ทาง “นักตีเหล็ก” จากระบบ PoS ในแง่สิ่งแวดล้อม แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นสกุลคริปโตที่มากไปด้วยนวัตกรรมแล้ว ก็เชื่อว่าโลกนี้ยังคงต้องแสวงหาวิธีพัฒนาที่สร้างสรรค์และดีต่อโลกยิ่ง ๆ ขึ้นได้ต่อไป

1อัลกอริธึมฉันทามติ (Consensus Algorithm) คือระบบที่เป็นหัวใจสำคัญในเครือข่ายบล็อกเชน เพื่อให้ผู้ใช้งานและเครื่องมือต่าง ๆ ทำงานร่วมกันได้ในระบบแบบกระจาย (Decentralized) ให้ตรวจสอบและสามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของธุรกรรมนั้น ๆ ได้  ที่มา : academy.binance.com 

ที่มา : บทความ “The 16 Most Sustainable Cryptocurrencies for 2021” (มิถุนายน 2021) จาก leafscore.com
บทความ “Proof of Work vs Proof of Stake สิ่งที่นักขุดควรจะรู้ก่อนเริ่มขุด” (สิงหาคม 2017) จาก siamblockchain.com
บทวิเคราะห์ “Bitcoin Energy Consumption Index” จาก digiconomist.net

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร